คุณลูกนักบู๊ กับยอดคุณแม่นักจัดการ กฤต & นพรัตน์ กุลหิรัญ

1

จากเด็กเฮี้ยวสู่เด็กฮ็อต

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องราวสมัยเด็ก คุณกฤตยิ้มแล้วเล่าให้ฟังว่า “สมัยเด็ก ๆ ผมเอาแต่ใจมากครับ อยากได้อะไรต้องได้ ไม่ค่อยมีเหตุผลอย่างเวลาที่บ้านพาไปห้างสรรพสินค้า ผมอยากได้เกมมาก พอคุณแม่ไม่ให้เพราะซื้อที่อื่นถูกกว่า ผมก็ลงไปนอนดิ้นกรีดร้องโวยวายทันที แต่คุณแม่ไม่สนใจ แถมยังเดินหนี พอเห็นอย่างนั้นผมก็ลุกขึ้นวิ่งตาม(หัวเราะร่า) แสบไหมล่ะครับ”

คุณแม่ขอเสริม “ลูกกฤตตัวเล็ก แต่มีฤทธิ์มาก ชอบบู๊มาตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนอนุบาลแม่ไปรับทีไรก็เห็นเขาเล่นชกต่อยกับ รปภ.ประจำ(หัวเราะ) พอโตขึ้นมาหน่อยจึงส่งเขาไปเรียนเทควันโด ปรากฏว่าเขาชอบมาก เรียนได้ดีจนได้แข่งหลายรายการ จนสุดท้ายได้ไปแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยตอนอายุ 11 ขวบ เราก็ตามไปดู ปรากฏว่าเพื่อนของเขาขึ้นแข่งแล้วโดนเตะจนกรามเบี้ยว ต้องส่งเข้าโรงพยาบาล เหลือลูกเราที่ได้เข้ารอบชิงเหรียญทอง ดิฉันถึงกับนั่งไม่ติด ลุกขึ้นออกเซอร์เวย์เลยว่ารอบชิงแชมป์ลูกต้องแข่งกับใคร พบว่าคู่แข่งเป็นเด็กกระบี่ที่กินนอนและฝึกอยู่ในค่ายมวยมาตลอด พอดูหน่วยก้านแล้ว แม้อายุจะเท่ากันแต่เทียบกับลูกเราเหมือนมวยคนละชั้น กล้ามเขาเป็นมัด ๆ เตะทีพั่บ ๆโอ๊ย แม่จะเป็นลม จึงรีบไปต่อรองกับกรรมการว่าไม่อยากให้ลูกแข่งสุดท้ายอ้างว่าลูกสายตาสั้น ลืมเอาแว่นมา แข่งไม่ได้ แล้วจัดแจงเซ็นรับรองเสร็จสรรพ (หัวเราะ) กรรมการก็งง ๆ เพราะก่อนหน้านั้นก็เห็นแข่งมาได้ แต่เราไม่ยอม เขาจึงปรับลูกเราตกไป”

กฤตส่ายหน้าช้า ๆ แล้วเล่าต่อ “ส่วนผมน่ะฟิต อยากแข่งไงพอรู้ว่าไม่ได้แข่งเท่านั้นแหละ ผมร้องไห้เลย โกรธมาก ทำไมในวงการขี้โกงกันอย่างนี้ ไม่รู้เลยว่าเป็นฝีมือคุณแม่ ตอนนั้นท่านปลอบผมว่าผมอาจยังไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวโตขึ้นจะเข้าใจเอง ผมเพิ่งมารู้ความจริงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เอง” (หัวเราะ)

แม้จะพลาดแชมป์เหรียญทอง แต่กลับหนีไม่พ้นสายตาแมวมองคุณกฤตวัยกำลังหล่อได้ที่จึงได้เข้ามาชิมลางงานในวงการบันเทิงอยู่พักใหญ่ ๆ พอพูดถึงเรื่องนี้ เจ้าตัวกลับโวยวายว่า “โอ๊ย…อย่าพูดถึงเรื่องนี้เลยครับ ลืมๆ ไปเถอะ (อ้าว) คือผมอยู่ในวงการแป๊บเดียว รู้สึกว่างานการแสดงไม่เหมาะกับเราจริงๆ เหมือนไม่มีหัวทางนี้เลย ตอนนั้นรู้สึกจะช่วงมัธยม 3 – 4 งานแรกเป็นโฆษณา ผมเป็นตัวประกอบออกมายิ้มแค่ช็อตเดียวแว้บเดียว แต่ล่อไป 20 เทค จนผู้กำกับบอกว่าไม่ต้องยิ้มแล้ว ถ่ายเลยก็ได้ หลังจากนั้นมีโฆษณาอีกนิดหน่อย เช่นแฟนต้า สเวนเซ่นส์ นีเวีย แล้วก็มีหนังเรื่อง ยุวชนทหาร ของแกรมมี่ฟิล์ม รับบทเป็น ‘วัฒนา’ ซึ่งเราก็ยังเล่นไม่ค่อยดี แสดงจนแสงหมดก็ยังเล่นไม่ค่อยได้ พอหนังฉายยิ่งหนัก คือก่อนหน้านั้นหนังของแกรมมี่ฟิล์มพุ่งแรงมาก ถ้าวัดเป็นชาร์ต กราฟก็ขึ้นตลอด จนกระทั่งหนังเรื่องนี้ออกฉาย กราฟตกอย่างรวดเร็วจนบริษัทปิดตัวไปเลย (หัวเราะ) ผมก็ว่าเอ๊…ทำไมนะ ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสุดท้ายของบริษัทเขา หลังจากนั้นผมจึงเลิกไป อีกอย่างคือที่บ้านก็ไม่สนับสนุนด้วยครับ เขาอยากให้มีคนมารับช่วงธุรกิจต่อ”

เรื่องกุ๊กกิ๊กฉบับแม่ – ลูก

2

เมื่อเราเปิดประเด็นให้คุณลูกเมาท์คุณแม่บ้าง กฤตเล่าว่า “ความน่ารักของคุณแม่คือ ท่านชอบเขียนชอบจดทุกอย่างเกี่ยวกับลูกลงสมุดแล้วเก็บไว้ตามซอกนั้นซอกนี้ทั่วบ้าน บางทีไม่มีสมุด อะไรอยู่ใกล้มือก็คว้ามาจดหมด ขนาดปฏิทินท่านยังเขียนเลยครับ ที่ผมประทับใจมากคือครั้งหนึ่งผมไปเห็นรูปตัวเองตอนเล่นกีฬาสีที่โรงเรียนแปะอยู่หน้าตู้เย็นแล้วคุณแม่เขียนคำบรรยายใต้ภาพไว้ว่าวันนี้ลูกกฤตทำอะไรบ้าง ผมจึงรู้สึกว่าแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ ที่ลูกทำก็เป็นความภาคภูมิใจของคุณพ่อคุณแม่นะอีกอย่างที่เพิ่งเห็นวันนี้เป็นครั้งแรกคือ สมุดที่คุณแม่บันทึกเรื่องราวของผมตั้งแต่เกิด ถ้าไม่ได้มาสัมภาษณ์ แพรว ด้วยกันคงไม่ได้เห็น”

คุณนพรัตน์เปิดสมุดเล่มนั้นพลางอธิบายให้ฟังว่า “คือเราชอบเขียนหนังสือ จึงจดทุกอย่างเก่ยี วกับลูกไว้หมด ต้งั แต่วันท่เี ขาเกิด เดินวันแรกพูดวันแรก ไปไหนกับใครก็เขียนหมด ถามว่าจดทำไม เวลาก็ไม่ค่อยจะมีเพราะว่าเวลาที่เรารักใครสักคนหนึ่ง เราไม่ต้องการลืมสิ่งสำคัญเกี่ยวกับเขาจึงบันทึกไว้หมด” (ยิ้ม)

คุณกฤตยิ้มตาหยีก่อนจะขอเล่าวีรกรรมการเขียนครั้งสำคัญของคุณแม่ “พูดเรื่องนี้แล้วนึกขึ้นได้ ช่วงที่ผมไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศแทบจะไม่ได้โทร.หากัน เพราะคุณแม่บอกว่าค่าโทรศัพท์แพงไม่ต้องโทร.มานะ แล้วใช้วิธีเขียนจดหมายส่งแฟกซ์ไปที่ออฟฟิศของคณบดีที่มหาวิทยาลัย ทางนั้นเขาก็ฝากเด็กไทยถือมาให้ผม ผมจำเนื้อความทั้งหมดไม่ได้แล้ว อารมณ์ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วลงท้ายจดหมายว่า “รักลูกสุดหัวใจ”  โอ้โฮ…หวานมาก! (หัวเราะ) คือผมก็ดีใจนะแต่ประเด็นคือส่งแฟกซ์มาไงครับ กว่าจะมาถึงผม ไม่รู้ผ่านมือเด็กไทยมากี่คน ครั้งนั้นโดนเพื่อนแซวเละ”

เรื่องนี้…คุณแม่ขอ (หวง)

ว่ากันว่ามีลูกชายหล่อแม่มักจะหวง ยังไม่ทันถามว่าจริงหรือไม่คุณกฤตกลับชิงถามคุณแม่ก่อน “หวงไหมจ๊ะ” คุณนพรัตน์ตอบด้วยสีหน้าจริงจังว่า “ไม่หวงนะ คติเราคือ love you, love your dog.ถ้าเขารักใคร เราก็รักด้วย”

งานนี้คุณลูกค้อนขวับ “ผมว่าไม่จริงนะครับ ผมพาใครมาแนะนำให้รู้จักทีไรไม่เห็นมาดามชอบสักที (หัวเราะ) ให้เหตุผลว่าให้ชัวร์ก่อนแล้วค่อยพาเข้ามา แต่ที่ผ่านมาผมก็มีคุย ๆ กับบางคนบ้าง มีปรึกษาคุณแม่บ้าง แต่สุดท้ายก็ยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก ถ้าผมโอเคทุกอย่างก็โอเค”

เรื่องนี้คุณแม่ขอเคลียร์ต่อ “คืออย่างนี้ค่ะ ดิฉันมีความรู้เรื่องศาสตร์โหงวเฮ้งอยู่พอสมควร ตำราก็เคยเขียนมาแล้ว จึงค่อนข้างดูคนออก พอจะรู้ว่าเจ้าชู้หรือเป็นคนอย่างไร จึงเตือน ๆ เขาบ้าง แต่เขาไม่ฟังหรอก ก็งอน ๆ กันไป แต่สิ่งสำคัญที่เราเน้นย้ำคือ คนจะเป็นคู่กันต้องเข้าใจและจริงใจต่อกัน จึงจะช่วยเหลือและดูแลกันได้ จะรวยจะจน

ก็ไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายก็แล้วแต่วาสนาของเขา เราเคยเป็นห่วงมากอยากให้เขามีคู่ชีวิต ปีที่ผ่านมาจึงดูดวงให้ลูกกฤต ตามดวงบอกว่าเขาจะมีเพศหญิงมาอยู่ร่วมห้องด้วย โอ้โฮ…ดีใจมาก ปรากฏพอถึงเวลานั้นจริง ๆ โน่น…ลูกไปขับรถชนแมว พาไปส่งโรงพยาบาลเสร็จเกิดสงสารจึงพากลับมาอยู่บ้านด้วย นอนห้องเดียวกัน รับผิดชอบกันไปชั่วชีวิตตรงตามตำราเป๊ะ! สรุปคือได้แมวเพศหญิงมาอยู่ด้วยแทน (หัวเราะ)แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้เราก็ไม่ห่วงอะไรแล้วนะ เพราะเขามีความรู้ความสามารถ พูดจาก็ดี รู้จักเลือกว่าอะไรควร ไม่ควร รู้ว่าหน้าที่และความรับผิดชอบคืออะไร ต่อไปก็น่าจะรับช่วงธุรกิจได้ แค่นี้แม่ก็พอใจแล้ว”

ฝ่ายลูกชายขอสรุปปิดท้าย “ความจริงผมยังไม่ได้ช่วยดูธุรกิจเต็มตัว เป็นแค่ผู้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ บางทีเราก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง ผมจะทำทางหนึ่ง คุณพ่อจะทำอีกทาง ซึ่งความจริงทุกคนล้วนหวังดีกับบริษัท แต่คุยกันไม่เข้าใจ ก็ได้มาดามนี่แหละเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ทุกคนเข้ามาคุยกัน มาดามจึงเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของคนในบ้านประโยคเด็ดของท่านคือ เวลาพูดกับพ่อกับแม่ ลูกไม่ต้องมีเหตุผลมากก็ได้ ทำ ๆ ไปเถอะ (หัวเราะ)

“วันนี้ผมขอถือโอกาสบอกมาดามว่า ขอบคุณที่เลี้ยงดูผมมาอย่างดีและคอยเตือนสติทุกครั้งที่ทำผิด ทุกความรักที่คุณแม่ให้มา กฤตจะรักษาและส่งคืนความรักกลับไปให้ อย่างที่มาดามบอกว่ารักลูกสุดหัวใจกฤตก็รักคุณแม่สุดหัวใจเหมือนกัน”

 

ที่มา : คอลัมน์ LIVE STORIES นิตยสารแพรว ฉบับที่ 863 ปักษ์วันที่ 10 สิงหาคม 2558

บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเว็บไซต์แพรว ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอก ดัดแปลง หรือทำซ้ำ อนุญาตให้แชร์บทความนี้ได้จากลิ้งค์นี้เท่านั้น

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up