HOME SWEET HOME บ้านเปี่ยมสุข ของปัญญา นิรันดร์กุล (ตอนที่ 1)

HOME SWEET HOME บ้านเปี่ยมสุข ของปัญญา นิรันดร์กุล…

“สมัยเด็กผมอยู่บ้านที่ค่อนข้างคับแคบ เมื่อมีโอกาสจึงขออยู่พื้นที่กว้าง ๆ จะเห็นว่าผมเลือกอยู่ที่ไกลหน่อยแต่ได้สัมผัสกับธรรมชาติมากกว่า เมื่อ 14 – 15 ปีที่แล้วที่ดินตรงนี้เมื่อก่อนเป็นดินแห้ง ๆ มีจอมปลวก พงหญ้าสูง ยังไม่มีการตัดถนนทำทางสะดวก ทางด่วนก็ยังไม่มีเหมือนทุกวันนี้ แต่มองแปลนแล้วชอบทั้งที่ตอนจะซื้อยังไม่มีสตางค์นะ แต่สุดท้ายก็ได้มา

คุณปัญญากับน้องน้ำอุ่น เล่นกันสนุกสนานประสาตาหลาน
คุณปัญญากับน้องน้ำอุ่น เล่นกันสนุกสนานประสาตาหลาน

“ผมพยายามปลูกต้นไม้ ทำสนามกว้าง ๆ ให้มีพื้นที่สีเขียวเยอะ ๆมีต้นไม้ใหญ่ไว้ช่วยกรองอากาศและเสียงรบกวน มีเลี้ยงไก่ป่าที่หอบกันมาจากบ้านที่เขาใหญ่ เป็นไก่ป่าที่มาอาศัยเอง พอออกลูกเยอะขึ้น ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาไว้ที่นี่ พอออกลูกเยอะขึ้นอีก จึงต้องแจกจ่ายออกไปเรื่อย ๆ บางคนเข้าใจว่าเป็นไก่แจ้ แต่ตัวไก่ป่าจะตัวใหญ่กว่าไก่แจ้ เล็กกว่าไก่อู เดี๋ยวนี้กลายเป็นไก่บ้านไปแล้ว ปล่อยให้เดินไปเดินมารอบบ้านอยู่ร่วมกันกับสุนัขได้

2

“การออกแบบบ้านหลัก ๆ จะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและเน้นเพดานสูงโปร่ง พื้นที่แต่ละห้องใหญ่กว้างขวาง ชดเชยวัยเด็กที่อยากจะอยู่ในที่โล่ง ๆ โทนสีของบ้านเน้นให้ความรู้สึกสบายตาและอบอุ่นผลิตภัณฑ์แปรรูปใส่โหลแก้วจัดวางอย่างสวยงามในมุมหนึ่งที่ห้องรับประทานอาหารให้ความรู้สึกโฮมมี่แบบครัวสไตล์ยุโรปในเวลาเดียวกัน โดยเน้นไปทางงานไม้และอิฐ ซึ่งสีไม้กับสีอิฐลงตัวกับสีเขียวของต้นไม้เป็นอย่างดี ส่วนเฟอร์นิเจอร์ก็ช่วยดูกันกับลูก ๆ ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องสไตล์ไหน จะเป็นแบบมิกซ์แอนด์แมทช์ เน้นที่นั่งแล้วสบาย จัดวางในบ้านแล้วให้ความรู้สึกสบายตา ไม่ต้องมาเกร็งกันบ้านนี้ไม่ค่อยได้ใช้รับแขก เป็นบ้านอยู่อาศัยเสียมากกว่า แถมก็อยู่ใกล้กับออฟฟิศ ใช้เวลาเดินทางไปทำงานแค่ 5 นาที ลูกน้องจึงได้มาใช้งานเต็มที่ (หัวเราะ)

3

“แต่เดิมพื้นที่ด้านหลังไม่มีตัวอาคาร มีเฉพาะสระว่ายน้ำ พอลูก ๆมีครอบครัวและมาอยู่ในพื้นที่บ้านเดียวกัน จึงสร้างขึ้นมาเพิ่ม ทำไปทำมากลายเป็นใหญ่กว่าบ้านเดิม (หัวเราะ) โดยพื้นที่ชั้นล่างของบ้านใหม่ที่ติดกับสระว่ายน้ำเป็นห้องออกกำลังกายและออฟฟิศทำงานของลูกสาวคนโต ชั้นบนเป็นห้องนั่งเล่นและห้องอาหาร ทุกคนจะมาทานข้าวที่โต๊ะกลม แต่ก่อนโต๊ะอาหารใช้โต๊ะยาว นั่งกันแล้วรู้สึกห่างพอดีบ้านเดิมมีโต๊ะกลมอยู่ตัวหนึ่งจึงนำมาใช้ จะได้เห็นหน้ากัน ทุกคนมาทานข้าวด้วยกัน ตรงนี้จึงเป็นจุดศูนย์รวมครอบครัว ส่วนชั้นถัดไปเป็นห้องนอนและชั้นดาดฟ้า มีห้องไว้สำหรับพักผ่อน ร้องเพลง จัดเลี้ยงหรือลูก ๆ ใช้สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน”

4

คุณปัญญาพาเราเดินชมจนมาถึงชั้นดาดฟ้า ซึ่งเมื่อมองจากมุมสูงเห็นพื้นที่ด้านหลังบ้านซึ่งเป็นแปลงสวนผักขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ขนานกับบ้าน “เจ้าของที่มาบอกขาย จึงซื้อไว้รวมตอนนี้มี 7 ไร่ ปลูกกล้วยพืชผักสวนครัว คุณแอ๊ว – วาสนา นิรันดร์กุล เป็นคนจัดการ เขามือขึ้นปลูกอะไรก็งอกเงย จึงยิ่งสนุก ปลูกเพิ่มใหญ่ ส่วนตรงข้ามบ้านก็มีอีกหนึ่งไร่ไว้ปลูกเห็ด

5

“เมื่อผลผลิตเยอะ คุณแอ๊วจึงนำมาแปรรูป เป็นกล้วยแช่น้ำผึ้งกล้วยฉาบ แหนมเห็ด ขายผ่านไอจี เป็นความสุขของเขา สนุกที่จะได้ทำแล้วได้ขาย ไม่ได้ดูหรอกว่าเงินทองที่ได้มาคุ้มกับที่ไปก้มหลังทำหรือเปล่า” (หัวเราะ)

คุณแอ๊วหัวเราะก่อนรับลูกต่อ “กล้วยนี่ปลูกไว้เยอะมาก เมื่อก่อนทำกล้วยอบน้ำผึ้งแบบที่เข้าเตาอบเป็นถาด ๆ แต่ว่ามันเหนื่อย ไม่ไหว(หัวเราะ) จึงเปลี่ยนมาแช่น้ำผึ้งแทน ซึ่งเราใช้น้ำผึ้งป่าเดือนห้าเท่านั้นได้สูตรมาจากคุณแม่ที่รับจากคุณยายอีกต่อ ท่านทำทานเป็นยาอายุวัฒนะคุณตาทานเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ผล ตอนนี้อายุกว่าร้อยปี

 ผลิตภัณฑ์แปรรูปใส่โหลแก้วจัดวางอย่างสวยงามในมุมหนึ่งที่ห้องรับประทานอาหารให้ความรู้สึกโฮมมี่แบบครัวสไตล์ยุโรป
ผลิตภัณฑ์แปรรูปใส่โหลแก้วจัดวางอย่างสวยงามในมุมหนึ่งที่ห้องรับประทานอาหารให้ความรู้สึกโฮมมี่แบบครัวสไตล์ยุโรป

“ความพิเศษของน้ำผึ้งป่าเดือนห้า ช่วงเดือนห้าเป็นหน้าแล้ง ไม่มีฝนมาชะเกสรดอกไม้ น้ำผึ้งจึงหวานเข้มข้น เป็นสุดยอดของน้ำผึ้งนำเข้ามาจากอำเภอแม่สะเรียง พอดีเป็นคนที่รู้จักกันก็ไว้ใจได้ว่าไม่หลอกกัน เพราะเดี๋ยวนี้น้ำผึ้งที่ผสมฉีดน้ำตาลเข้าไปมีเยอะ นอกจากกล้วย ยังมีกระท้อนแช่อิ่ม กระท้อนดอง มะม่วงดอง มะขามแช่อิ่มขายทางอินสตาแกรมด้วย ตอนนี้ทำกันไม่ทัน ยิ่งกล้วยแช่น้ำผึ้งควรออร์เดอร์ล่วงหน้า” (ยิ้ม)

ศิลป์สีน้ำ งานอดิเรกสุดโปรด

ระหว่างทางที่เจ้าบ้านทั้งสองนำเราไปชมผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ห้องรับประทานอาหาร ผ่านโถงทางเดินชั้นสองที่เรียงรายด้วยภาพวาดสีน้ำมากมายที่จัดตกแต่งไว้ตามผนังทั้งสองด้าน ความสวยสะดุดตานี้ทำให้อดถามไม่ได้ คุณปัญญาเล่าด้วยรอยยิ้มว่า “ผมชอบสีสันมาตั้งแต่เด็กแต่เรียนสถาปัตย์ ไม่ได้เรียนจิตรกรรม ตอนเรียนไม่ค่อยมีสตางค์จะซื้อเครื่องไม้เครื่องมือเขียนแบบก็แพง เห็นเพื่อน ๆ พี่ ๆ วาดรูปเก่ง หูย…เราก็อยากวาดบ้าง พอมาถึงปัจจุบันความอยากวาดรูปก็ยังมีอยู่ จึงเริ่มวาดสีน้ำ ไม่ใช่ว่าไม่ชอบสีอื่น แต่สีน้ำเป็นเบสิก สีอื่นยังไปไม่ถึง เริ่มเรียนมาได้ 3 – 4 ปี ก็ถือว่าฝีมือดีขึ้น (หัวเราะ) พยายามวาดไปเรื่อย ๆ ตอนนี้วาดอาคารกับต้นไม้ เป็นแนวแลนด์สเคป ถ้าให้คะแนนตัวเองก็ถือว่าดีขึ้นนะ แต่ยังไม่พอใจ เป็นกิจกรรมที่ช่วยทำสมาธิทางหนึ่ง ได้อยู่นิ่งคุยกับตัวเอง เวลาระบายสีจะหลงเข้าไปอยู่ในสิ่งที่เราทำตรงนั้นเป็นการฝึกจิตที่ดี

ภาพผลงานของอาจารย์นพดล เนตรดี
ภาพผลงานของอาจารย์นพดล เนตรดี

“ผมใช้เวลาวาดรูปส่วนใหญ่ในช่วงเสาร์อาทิตย์ ตอนนี้ก็เริ่มมีชวนคุณครูมาสอน มีกลุ่มก๊วนอยู่ที่ออฟฟิศมาช่วยกันวาดรูป

8

“เสน่ห์ของสีน้ำอยู่ที่มีความชุ่มฉ่ำ ความบาง ความใสของน้ำในภาพ เมื่อมีโอกาสผมจึงเก็บสะสมภาพของศิลปินชื่อดังอย่าง อาจารย์บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส อาจารย์นพดล เนตรดี จัดวางไว้บริเวณชั้นสองของบ้าน ยกให้เป็นมุมของงานสีน้ำเลย” (ยิ้ม)

ที่มา : คอลัมน์ STYLE EXCLUSIVE นิตยสารแพรว ฉบับ 862 ปักษ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2558
บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเว็บไซต์แพรว ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอก ดัดแปลง หรือทำซ้ำ อนุญาตให้แชร์บทความนี้ได้จากลิ้งค์นี้เท่านั้น

Praew Recommend

keyboard_arrow_up