นักรีวิวออนไลน์

ดารา – นักรีวิวออนไลน์ ไม่ควรพลาด 5 ข้อ ฉุกคิด! คิดก่อนโพสต์

Alternative Textaccount_circle
นักรีวิวออนไลน์
นักรีวิวออนไลน์

ถึงเวลา ศิลปิน-ดารา และ นักรีวิวออนไลน์ เริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ อย่างจริงจัง สิ่งไหนทำได้ หรือ สิ่งไหนทำไม่ได้?

จากกรณีเจ้าหน้าที่ทลายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดัง เมจิกสกิน และ สินค้าในเครือ หลังใช้เครื่องหมายการค้าอาหารและยา (อย.) ปลอม ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2560 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกคนดังชุดแรกจำนวน 9 คน ที่ก่อนหน้านี้เคยรับจ้างโพสต์ภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบนอินสตาแกรมมาสอบสวน ประกอบด้วย ม้า-อรนภา กฤษฎี, สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข, เมย์-พิชญ์นาฏ สาขากร, เจสซี่ วาร์ด, แพท-ณปภา ตันตระกูล, ออฟฟี่-อรพรรณ ด่านวัฒนกุล, ก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ, โฟร์- สกลรัตน์ วรอุไร และ หญิงแย้-นนทพร ธีระวัฒนสุข

โดยก่อนหน้านี้คนดังหลายคนได้ออกมาขอโทษต่อสังคม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ระบุว่า “ตนไม่ทราบมาก่อนว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีมาตรฐาน” ขณะที่ในมุมหนึ่งของโลกออนไลน์ก็มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการตรวจสอบพื้นฐานนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ซึ่ง แพรวดอทคอม ได้หาและสรุปข้อมูลจาก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ มาให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเบื้องต้น ประมาณ 5 ข้อ ไปติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ


1.การโฆษณา

นักรีวิวออนไลน์
ภาพจาก : workpointnews

กฏหมายไม่ได้ให้ความหมายของโฆษณาเอาไว้ แต่นักกฏหมายก็ทราบอย่างเดียวกับที่คนทั่วไปเข้าใจ โดยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่าโฆษณาไว้ว่า เป็นการเผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชนป่าวร้อง, ป่าวประกาศ เช่น โฆษณาสินค้า โดยการทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ที่ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการขายสินค้าต่อสาธารณชน


2. อย.กับการดูแลผลิตภัณฑ์

 

ก่อนที่จะจำหน่ายหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการตรวจสอบ 3 ประการคือ สถานที่ผลิต/โรงงาน ต้องผ่านมาตรฐาน GMP ตามที่ อย. กําหนด คือ ผลิตภัณฑ์ต้องมีความปลอดภัย การโฆษณาต้องถูกต้องเหมาะสมไม่โอ้อวดเกินจริง และได้รับอนุญาตจาก อย. (เฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์) ชี้ให้เห็นชัดๆ ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ ดังนี้

2.1 ผลิตภัณฑ์อาหาร : GMP ได้รับอนุญาตสถานที่ผลิต + ได้รับการอนุญาตผลิตภัณฑ์ (อย. XX-X-XXXX-X-XXXX) +ได้รับอนุญาตโฆษณา (ฆอ…/..)

2.2 ผลิตภัณฑ์ยา : GMP ได้รับอนุญาตสถานที่ผลิต + ได้รับการอนุญาตผลิตภัณฑ์ (อย. XX-X-XXXX-X-XXXX) +ได้รับอนุญาตโฆษณา (ฆอ…/..)

2.3  ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์: GMP ได้รับอนุญาตสถานที่ผลิต + ได้รับการอนุญาตผลิตภัณฑ์ (อย. XX-X-XXXX-X-XXXX) +ได้รับอนุญาตโฆษณา (ฆอ…/..)

2.4 ผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง : GMP ได้รับอนุญาตสถานที่ผลิต + ได้รับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ (XX-x-XX-XXXXX)

2.5 ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย : ได้รับการอนุญาต……./นําเข้า+ได้รับการอนุญาต ผลิตภัณฑ์ (วอส…/….)


3.การตรวจสอบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น

นักรีวิวออนไลน์

นักรีวิวออนไลน์

เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนสามารถเข้าได้ทุกคน โดยพิมพ์เลขที่ผลิตภัณฑ์ ก็จะปรากฏข้อมูล ประเภทผลิตภัณฑ์, ใบสำคัญ, ชื่อผลิตภัณฑ์ไทย – อังกฤษ, ชื่อผู้รับอนุญาต, สถานที่ และ สถานะ ซึ่งหากไม่ตรงกับบนกล่องผลิตภัณฑ์ นักโฆษณาควรระมัดระวังเอาไว้ เพราะอาจจะมีการสวมเลข หรือ ผลิตภัณฑ์ไม่เคยได้รับการตรวจสอบ


4.ข้อความต้องห้าม

การโฆษณาอาหาร, ยา และ เครื่องสําอาง ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณที่สินค้าและบริการนั้นไม่มีอยู่จริง สรรพคุณที่อ้างสามารถพิสูจน์ในเชิงสถิติหรือเป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับได้ โดยข้อความที่ไม่ควรโฆษณาคือ อ้างว่าสามารถช่วยบําบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคต่างๆ, อ้างว่าเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลักษณะ และโครงสร้างของอวัยวะในร่างกาย, อ้างว่าทําให้ผิวขาว เต่งตึง ลดเลือนริ้วรอย, อ้างว่าทําให้ผิวพรรณขาวอมชมพู, ลดปัญหาฝ้า กระ จุดด่างดํา ชะลอความแก่ของเซลล์ผิว, อ้างว่ามีผลต่อการกระทําหน้าที่ของอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เพิ่มพัฒนาการทางสมอง บํารุงสายตา หัวใจ ประสาท ลดความเมื่อยล้า ฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น


5 .โทษทางกฎหมาย

นักรีวิวออนไลน์

พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ม.41 วรรค 2 (1) ข้อหาโฆษณาเครื่องสำอางด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง อันเป็นความผิดตาม ม.84 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 ม.40 ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร อันเป็นความผิดตาม ม.70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ม.41 ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตมีอัตราโทษตาม ม.71 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100, 000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


อย่างไรก็ตามผู้บริโภคพบเห็นการผลิตหรือจําหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 Email: [email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ


ข้อมูลจาก : http://www.ocpb.go.th/ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up