อาหนิง

เผยชีวิตนักแสดงรุ่นใหญ่ อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา การค้นหาสิ่งที่ชอบเจอไม่ง่าย

อาหนิง
อาหนิง

ตั้งแต่ละคร บุพเพสันนิวาส ออนแอร์ตอนแรกจนถึงตอนล่าสุด เชื่อว่าหลายคนไม่เว้นแม้แต่แฟนคลับรุ่นเล็กคงได้หลงรัก ชื่นชอบ ในตัวนักแสดงรุ่นใหญ่ อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา ผู้รับบทเป็น ออกญาโหราธิบดี พ่อของพ่อเดช ผู้ชำนาญทางโหราศาสตร์และอักษรศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นราชครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกันมากยิ่งขึ้น

อาหนิง

เล่นน้อยแต่ได้มาก เป็นคำนิยามที่เหมาะสมกับนักแสดงรุ่นใหญ่ หนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา หรือที่คุ้นปากเรียกกันว่า อาหนิง เพราะไม่ว่าจะเป็นสีหน้า แววตา ท่าทางการขยับเล็กน้อย อาหนิงสามารถเก็บครบทุกความรู้สึกแล้วถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้าต้องไปย้อนดูรายชื่อผลงานของอาหนิงแล้ว แม้ชีวิตจะเข้าสู่วัยแตะเลข 7 แต่ต้องยอมรับเลยว่า ผลงานของอาหนิงยังคงมีให้แฟนละคร แฟนคลับอาหนิงได้ชมอย่างสม่ำเสมอ

อาหนิง อาหนิง

สำหรับใครที่ได้ติดตามอาหนิง คงพอทราบมาบ้างแล้ว ชีวิตของนักแสดงรุ่นใหญ่ท่านนี้เลือกหันหลังให้กรุงเทพฯ แล้วย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.จันทบุรี เวลาต้องทำงานในวงการบันเทิงก็เลือกขับรถไปกลับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นอยู่จนมาถึงปัจจุบัน ความเสมอต้นเสมอปลายเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ที่จ.จันทบุรี เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมุมมองชีวิต ทัศนคติต่อเรื่องรอบตัว รวมถึงการทำงานด้วย ซึ่ง ณ ครั้งหนึ่งนิตยสารแพรวมีโอกาสสัมภาษณ์อาหนิง และได้ข้อคิดหลายอย่างมากที่เป็นประโยชน์ วันนี้จึงได้ลิสต์เป็นข้อๆ มาให้ได้รู้กัน บอกเลยว่า แต่ละข้อนั้นนอกจากจะทำให้ปลาบปลื้มกับอาหนิงมากขึ้นแล้ว ยังสะท้อนกลับมาให้เราได้คิดตามถึงการใช้ชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา ชีวิตที่มีความพอเพียง พอดี 

1. เมื่อใดที่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีความรับผิดชอบ สามารถแยกแยะระหว่างดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรได้แล้ว เราควรระมัดระวังในการดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลา ด้วยการไม่ทำร้ายสังคมและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และตราบใดที่นำการดำเนินชีวิตกับการทำงานมาใช้ด้วยกันได้ ทุกอย่างก็มีความสุข

2. จุดเริ่มต้นของความสุขอยู่ที่การค้นหาตัวเองให้พบ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนใกล้ตายยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เพราะติดอยู่กับความหลง หรือติดอยู่กับกระแสอะไรก็ตาม ผมก็เช่นกัน เคยถูกชักจูงจากสังคม จากเพื่อนให้ไปทำงานหลายๆ อย่าง แต่ไม่ว่าทำงานอะไรก็ตาม ต้องทำด้วยความชอบ จึงจะประสบความสำเร็จ และต้องรับผิดชอบต่องานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. ในขณะเดียวกันก็ไม่มีงานไหนราบรื่น อาหนิงเล่าว่า ไม่มีหรอกที่ตัวเราจะไม่เครียด หรือไม่มีความทุกข์ หรือไม่หงุดหงิด อยู่ที่ว่าแก้ไขให้ดีขึ้นได้ไหม ถึงจะไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่าเลวลงก็เท่านั้นเอง นั่นคือการดำรงชีวิตอยู่

4. เมื่อผมเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ได้ไปถ่ายหนังตามสถานที่ต่างๆ จึงค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบทำงานอิสระและไม่จำเจ ไม่มีเวลาทำงานตายตัว และไม่เครียด ทุกคนในกองถ่ายเป็นเพื่อนกันหมด ตั้งแต่นั้นผมก็ติดอยู่กับงานแสดงมาตลอด ซึ่งไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามเราต้องทำตัวให้อยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยการเอาตัวรอด เพราะการเอาตัวรอดไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องกับทุกอย่าง

5. การจัดระเบียบวินัยให้กับชีวิต ไม่ใช่รับผิดชอบในการทำงานดี แต่ไม่ดูแลตัวเอง ในเมื่อพ่อแม่ให้ร่างกายมาครบ 32 ประการ ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องมีวินัยในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องสวยหล่อ หรือต้องใส่แบรนด์เนม เพียงแค่ดูแลร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ ต่อให้ใส่อะไรก็ดูดีทั้งนั้น คนที่ทำงานหนักต้องพักผ่อนบ้าง ไม่ใช่ทำงานจนสลบคาโต๊ะ คาเก้าอี้ หรือรอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยไปหาหมอ ขณะที่รถป้ายแดงกลับหมั่นเช็ดถูจนสีถลอก ทำไมจึงห่วงรถมากกว่าตัวเอง เหมือนกับชีวิตได้มาฟรีก็เลยไม่ดูแล ขอให้คิดสักนิดว่าชีวิตคนยืนยาวกว่าของใช้เยอะ

6. ณ วันนี้ผมมาถึงจุดที่ตัวเองเพียงพอแล้ว ได้ทำงานที่ชอบและได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองรัก เสร็จงานกลับบ้านสวนที่จันทบุรี อยู่กับความเรียบง่ายของธรรมชาติ อยู่กับการปลดปล่อย ไม่บังคับตัวเองว่าจะต้องกินอาหารเมื่อไร นอนหรือตื่นเมื่อไร ผมกินอาหารวันละมื้อมา 8 ปี จะกินก็ต่อเมื่อหิวและกินแค่พออิ่ม ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือนอนหลับ และจะตื่นเมื่อร่างกายต้องการ ไม่ได้บังคับว่าต้องตื่นเพื่ออะไร เพราะอะไรก็ไม่หนีเราไปไหน ต้นไม้ยังรอ บ้านก็ยังรอเราอยู่

ผมใช้ชีวิตอย่างนี้มาสามสิบปีไม่เคยรู้จักความเหงา พอคนงานกลับไปหมด บ้านจะเงียบ ไม่มีคนอยู่ในสายตา ผมปิดไฟ มองเห็นดาวเต็มท้องฟ้า นอนฟังเสียงจักจั่น แค่นี้สำหรับผมก็พอแล้ว

 

 


ข้อมูล: นิตยสารแพรว ปีที่ 26 ฉบับ 615 (10 เม.ย.48) คอลัมน์บันทึกท้ายเล่ม หน้า 392
ภาพประกอบ: IG @maich3iam @broadcastthaitv

Praew Recommend

keyboard_arrow_up