เป็นข่าวฮือฮาสุดๆ ของกลางปีที่แล้ว (31 พ.ค. 2560) เมื่อ “ยู ซิตี้” ประกาศปิดดีลซื้อกิจการเชนโรงแรมใหญ่ Vienna House ในยุโรป มูลค่ากว่า 330 ล้านยูโร หรือกว่า 12,800 ล้านบาทไทย ซึ่งนับเป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่บนโต๊ะเจรจาธุรกิจของ กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งฯ ทายาทคนสำคัญของเจ้าสัวคีรี
ในวันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กำลังพร่างพรายไปด้วยเกล็ดหิมะขาวโพลน นักธุรกิจร่างสูงใหญ่คนนี้พาทีมแพรวหลบลมหนาวเข้าเช็กอินที่ Vienna House Andel’s Berlin โรงแรมขนาดใหญ่ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ร่มเงาของบีทีเอส กรุ๊ป มาได้ครึ่งปี
ภายใต้อาคารที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมไม่สะดุดตาเลยเมื่อดูจากภายนอก แต่ภายในคือความโอ่โถง งดงาม และอบอุ่น เพราะมีคุณ “เควิน” นิกเนมที่กวินพึงใจให้มิตรเรียกขาน เป็นคนพาชมโรงแรม
และทำให้เราได้รู้ถึงมูลเหตุจูงใจที่ กวิน กาญจนพาสน์ ยอมทุ่มเงินกว่าหมื่นล้านปิดดีลข้ามชาติครั้งยิ่งใหญ่นี้ เพราะเขาเชื่อมั่นฝีมือคนคนหนึ่ง

“ต้องบอกก่อนว่าที่ผ่านมาเรามองหาโรงแรมในยุโรปมานาน ใช้เวลาศึกษาอยู่เกือบ 3 ปี เพราะเห็นโอกาสในการลงทุนจากกรณีเกิด BREXIT (ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป) โดยที่แรกที่เราไปดูคือดิสนีย์แลนด์ ฝรั่งเศส พบว่าทุกอย่างแพงมาก แถมยังต้องใช้เงินตกแต่งอีกเยอะ จึงข้ามไป
“จากนั้นไม่นานผมได้รับดีลเวียนนา เฮ้าส์ ที่ทางธนาคารส่งมาให้ดู เออ…มันน่าสนใจดี ผมกับทีมเลยบินไปดู ได้พบเจ้าของธุรกิจที่มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ซึ่งลูกไม่ได้อยากทำธุรกิจโรงแรมต่อ เมื่อรวมกับที่เราเห็นว่ามีโอกาสที่จะหาเงินได้จากดีลนี้ ซึ่งมีตัวโรงแรมอยู่แล้ว 35 แห่ง เป็นแบรนด์ Vienna House (4 ดาว) 20 แห่ง และ Vienna House Easy (3 ดาว) อีก 15 แห่ง แต่นั่นยังไม่ใช่จุดสำคัญเท่ากับว่าผมมีความมั่นใจในตัวซีอีโอของเวียนนา เฮ้าส์ คือ Rupert Simoner ที่เป็นนักบริหารโรงแรมมืออาชีพ

“ตอนที่เราได้รับการเสนอดีลนี้ นักลงทุนรายอื่นก็ได้รับการเสนอเหมือนกัน จึงต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะปิดดีลนี้ได้ เฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำดีลดิลิเจนต์ก็ 5 ล้านยูโรเข้าไปแล้ว เพราะเกี่ยวพันกับ 9 ประเทศที่เชนโรงแรมนี้เปิดอยู่ คือ ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย โรมาเนีย รัสเซีย และเบลารุส ไหนจะต้องแปลเอกสาร เรื่องของบัญชีต่างๆ ซึ่งซับซ้อนสุดๆ
“แต่ผมโชคดีที่จีบรูเพิร์ตติด (หัวเราะ) ทำให้เขายอมตามมาด้วย สารภาพเลยว่าในใจผมเกือบ 90% ที่ยอมจ่ายเงินขนาดนี้ก็ด้วย 2 องค์ประกอบหลักคือ ตัวแบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ และคน พอรูเพิร์ตเซย์เยสปุ๊บ ผมตัดสินใจใช้เงิน 330 ล้านยูโรซื้อโรงแรมนี้เลย เพราะเห็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจนี้ต่อไปได้อีกมหาศาล เพิ่มจากวันนี้ที่เวียนนา เฮ้าส์ มีอยู่แล้วใน 9 ประเทศ 35 แห่ง เป็น 80 – 90 แห่งในอนาคต
“แน่นอนว่าในอนาคตเราคงต้องดูเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย แต่เท่าที่ผ่านมาถือว่าเรามีโอกาสที่ดีมาก โดยเฉพาะการที่จีนเริ่มขยับการลงทุนจากเอเชีย ขยายมาลงทุนในยุโรปเพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้ถือว่าเป็นตลาดของผู้ขาย ที่สามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้ หากเทียบกับปีที่แล้วตอนเราเข้ามาซื้อเวียนนา เฮ้าส์ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นตลาดของผู้ซื้อ ที่เราลงทุนไป 330 ล้านยูโร วันนี้ก็มีคนมาเสนอขอซื้อต่อในราคา 400 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นราว 20 – 30% ภายในเวลาเพียงครึ่งปีเท่านั้น”

เห็นโอกาสทำกำไรงามขนาดนี้ แต่คุณเควินประกาศชัดถ้อยชัดคำ
“ผมไม่ขาย เพราะต้องการสร้างแบรนด์เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ บอกเลยว่าเรายังทำอะไรๆ ได้อีกเยอะ โดยเฉพาะการรับบริหารโรงแรมที่ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ จากการรวมแบรนด์เวียนนา เฮ้าส์ และ AHS (บริษัทแอ็บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส จำกัด) เข้าด้วยกัน
“ผมไม่หยุดอยู่แค่นี้หรอก”