อุทิศตัวเพื่อมนุษยชาติ ‘ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์’ เภสัชกรยิปซีหนึ่งเดียวของไทยที่บิล เก็ตส์ ยกย่อง

ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้หญิงไทยธรรมดาที่ไม่ได้ติดอยู่ในลิสต์ผู้ทรงอิทธิพลหรือเศรษฐีนีระดับโลก แต่ผู้หญิงคนนี้ได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ซึ่งคนดังระดับโลกยังยอมรับเธออย่างไม่มีข้อสงสัย

หลังจากเรียนจบที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ดร.กฤษณา เริ่มขยับเข้าสู่การเป็นนักคิด นักวิจัยยาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พอเรียนจบในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร ดร.กฤษณาได้กลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาได้ทำงานในองค์การเภสัชกรรมและเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเอดส์ จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ “ยาเอดส์” ได้เป็นครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งสุดท้ายในองค์การเภสัชกรรมคือ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)

ชีวิตของดร.กฤษณา ได้ออกมาผจญภัยอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในต่างประเทศ โดยเริ่มต้นทำงานที่ประเทศคองโกเป็นที่แรก และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ “Afrivir” โดยมีส่วนผสมเหมือนยาที่ผลิตในประเทศไทย หลังจากนั้นก็ได้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกากว่าอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเอริเทรีย แทนซาเนีย เบนิน และไลบีเรีย

ทั้งนี้ในคลิปวีดิโอสารคดี Heroes in the Field: Krisana Kraisintu ซึ่งถูกโพสต์ผ่าน Facebook Fanpage ของเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ “บิล เก็ตส์” ก็ได้ยกย่องต่อการกระทำครั้งนี้ของดร.กฤษณา ว่าเธอคือเภสัชกรหญิงจากประเทศไทยที่ได้อุทิศชีวิตและความรู้ที่มี ในการผลิตยาที่ราคาไม่แพงให้เข้าถึงผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศยากไร้ได้ โดยในคลิปวีดิโอสารคดีชุดนี้เป็นบทสัมภาษณ์ของดร.กฤษณา ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า

“การพัฒนายามันคือหน้าที่ของเภสัชกรอยู่แล้ว เราคือผู้ผลิตยา และสำหรับตัวฉันเอง 20 ปีมานี้ ผลิตยามากว่า 100 โปรดักส์ ทั้งยารักษาความดันเลือดสูง,เบาหวาน และโรคอื่นๆ อีกมากมาย ฉันรู้สึกสงสารผู้คนที่ต้องเจ็บป่วยทรมานจากโรคภัย อย่างในปี 1992 ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ถึง 150,000 คน แต่ก็มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาได้ ส่วนคนจนก็คือต้องตายอย่างเดียว สิทธิมนุษยชนที่ควรจะมีกลับไม่ได้ ซึ่งมันไม่แฟร์เลย ทุกคนน่าจะเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกัน”

ต่อมาในปี 2002 ดร.กฤษณาเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วโลก และทำงานอยู่ที่ประเทศคองโก ในทวีปแอฟริกาอีก 12 ปี และสร้างโรงงานเพื่อผลิตยา ARV (ยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์) ซึ่ง 80% ของลูกจ้างในโรงงานแห่งนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีเชื้อเอดส์ทั้งสิ้น

“ฉันมองว่าพวกเขาคือครอบครัวที่ต้องเราต้องดูแล และฉันยังมีโครงการที่จะทำอีกในหลายๆ ประเทศ ทั้ง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆในแถบแอฟริกา”

การอุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมายาวนาน โดยเฉพาะที่แอฟริกา นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นแล้ว ดร.กฤษณา ก็เป็นขวัญกำลังใจให้กับคนที่นั่น จนพวกเขาเรียกดร.กฤษณาว่า “เภสัชกรยิปซี”

“ฉันไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่ง เพราะเดินทางตลอดเวลา และทุกๆที่ที่เดินทางไปก็คือบ้าน ยังมีงานอีกหลายอย่างที่ต้องทำอีกมาก และต่อให้เกิดมาอีก 10 ชาติงานนี้ก็คงยังไม่เสร็จ แต่ฉันไม่มีวันยอมแพ้”

ปัจจุบันดร.กฤษณาในวัย 65 ปี ยังคงมุ่งมั่นและทุ่มเทกับการทำงานเพื่อผู้ป่วย รางวัลต่างๆที่เธอได้จากเวทีระดับโลกอาจเป็นเครื่องการันตีถึงความสามารถที่ทุกคนเห็นจากภายนอก แต่รอยยิ้มและความสุขของผู้ป่วยคือกำลังใจและรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงคนนี้ “ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์”

ขอบคุณภาพจาก http://www.krisana.org

Praew Recommend

keyboard_arrow_up