1

9 เหตุผลที่ต้องเช็คอินชม Cartier Collection Exhibition: Cartier and Women พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง

account_circle
1
1

แพรวได้รับเชิญจากคาร์เทียร์ ชมนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกของโลกที่เชิดชูบทบาทและอิทธิพลของผู้หญิงตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของคาร์เทียร์ ถ้าคุณหลงใหลในงานศิลปะผลงานล้ำค่าเหนือกาลเวลาที่หาชมได้ยาก เราอยากชวนให้คุณปักหมุดปลายทางที่ฮ่องกง นิทรรศการสุดพิเศษนี้เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2566 เท่านั้น

  • ผลงานล้ำค่า ‘คอลเล็คชั่นคาร์เทียร์’ จากคลังผลงานของเมซงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 300 ชิ้น เครื่องประดับจิวเวลรี่ เรือนเวลา ศิลปวัตถุ หรือของตกแต่ง ได้ถูกนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกง ในคอนเซ็ปต์“Cartier and Women” เผยเรื่องราวอันน่าหลงใหลระหว่างผู้หญิงกับจิวเวลรี่ พร้อมทั้งชูความเด่นของศิลปะจีนและศิลปะจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คาร์เทียร์ทั้งในด้านสไตล์การสร้างสรรค์ เทคนิคและวัสดุ
  • ความพิเศษของ ‘Cartier Collection’ เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 คาร์เทียร์ได้รวบรวมผลงานที่ทำขึ้นในช่วงปีแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับจิวเวลรี่ เรือนเวลา หรือของตกแต่งล้ำค่าอื่นๆ นำมาเก็บสะสมไว้เพื่อการอนุรักษ์ และนำไปสู่การก่อตั้ง ‘Cartier Collection’ ในปี 1983 สะสมผลงานที่ทำขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1850 จนถึงทศวรรษ 2000 โดยผลงานเหล่านี้เป็นหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์แห่งสไตล์และความคิดสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์ที่ยาวนานกว่า 170 ปี ปัจจุบันผลงานใน ‘Cartier Collection’ มีประมาณ 3,500 ชิ้น และยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก นับตั้งแต่นิทรรศการใหญ่ครั้งแรกในปี 1989 ที่ Petit Palais (เปอตีต์ ปาเลส์) กรุงปารีส จากนั้น ‘Cartier Collection’ ได้นำผลงานบางส่วนที่สะสมไว้ออกแสดง ณ สถาบันที่มีชื่อเสียงสูงสุดของโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ Metropolitan Museum of Art นครนิวยอร์ก (1997) British Museum กรุงลอนดอน (1998) Kremlin Museums กรุงมอสโคว์ (2007) Palace Museum ในพระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง (2009 และ 2019) National Art Center กรุงโตเกียว (2019) Musée des Arts Décoratifs กรุงปารีส (2021-2022), Dallas Museum of Art (2022), สำหรับในปีนี้ 2023 มีจัดขึ้นที่ 3 ประเทศ Museo Jumex ประเทศเม็กซิโก และที่ฮ่องกง พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง ซึ่งถ้าพลาดโอกาสนี้ จะต้องรอถึงปลายปี ซึ่งจะจัดขึ้นที่ Louvre Abu Dhabi อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • Cartier Collection Exhibition: Cartier and Women ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกง แบ่งเป็น 4 ส่วน ตั้งแต่ก้าวแรกคุณจะได้ชมความงดงามของเทียร์ร่าเลอค่าของเชื้อพระวงศ์และเครื่องประดับศีรษะของสตรีชั้นสูง “Royal and Aristocratic Women: Elegance and Prestige” ในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่น เทียร์ร่าของเจ้าหญิงมารี โบนาปาร์ต คารเทียร์ปารีส สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษในปี 1907 ตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชรและไข่มุกน้ำงามธรรมชาติ (ภาพซ้าย) , เครื่องประดับศีรษะรังสรรค์จากแพลตินั่ม ไวท์โกลด์และพิงค์โกลด์ประดับเพชรและขนนก ชิ้นงานโดดเด่นอีกชิ้นของคาร์เทียร์ นิวยอร์ก ในปี 1924 (ภาพขวา)
  • นิทรรศการส่วนที่ 2 “New Women: Breaking with Tradition” หญิงยุคใหม่ที่ไม่ยึดติดกับม่านประเพณีเดิมๆ เป็นการสำรวจความก้าวหน้าในงานออกแบบจิวเวลรี่ ที่สะท้อนถึงการปลดแอกสตรี หนึ่งในไฮไลต์ คือชิ้นงานที่ออกแบบโดยฌานน์ ตูแซงต์ (Jeanne Toussaint, 1887-1976) สตรีผู้บุกเบิกในสังคมชายเป็นใหญ่สมัยต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นหนึ่งในสตรีที่ปฏิวัติวงการจิวเวลรี่สมัยใหม่ หลุยส์ คาร์เทียร์ (Louis Cartier, 1875-1942) ผู้นำรุ่นที่ 3 ของคาร์เทียร์ แต่งตั้งตูแซงต์เป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ในปี 1933 โดยเธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เข็มกลัดปองแตร์ (Panthère) ที่ตูแซงต์ออกแบบไว้เมื่อปี 1949 ซึ่งดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (1896-1986) ได้ซื้อไปครอบครอง ‘เสือแพนเตอร์’ สัญลักษณ์ของความองอาจ ความเป็นอิสระและอำนาจ ก็ได้กลายมาเป็นแม่แบบและสัญลักษณ์ของคาร์เทียร์ (ภาพซ้าย), ต่างหูหนีบรูปเสือของ Barbara Hutton สร้างสรรค์จากคาร์เทียร์ ปารีส ปี 1961 ตัวเรือนทองประดับเพชร, นิล และส่วนดวงตาประดับมรกต (ภาพขวา)
สร้อยคอแพลตินั่มและไวท์โกลด์ประดับเพชร, แซฟไฟร์, มรกตและทับทิม สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษในปี 1936 สำหรับเดซี่ เฟลโลวส์ (Daisy Fellowes) หนึ่งในสัญลักษณ์ความงามที่เปล่งประกายของคอลเล็คชั่นทุตตี้ ฟรุตตี้ (Tutti Frutti)
  • ชมสร้อยคอ 3 เส้น ความงดงามระดับตำนาน: สร้อยคอทองคำและแพลตินั่มประดับเพชร, อเมทีส, เทอร์ควอยซ์ คาร์เทียร์สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษในปี 1947 สำหรับดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (ภาพซ้าย), สร้อยคอหยกเจได อัญมณีที่ชาวจีนนิยม ตัวเรือนแพลตินั่มและทองคำ ประดับเพชรและทับทิม บาร์บารา ฮัตตัน (Barbara Hutton) สาวสังคมและสไตล์ไอคอนชาวอเมริกัน ทายาทห้างสรรพสินค้า Woolworth ได้รับเป็นของขวัญวันแต่งงานเมื่อปี 1933 (ภาพขวา), สร้อยคอแพลตินั่มและไวท์โกลด์ประดับเพชร, แซฟไฟร์, มรกตและทับทิม สร้างสรรค์ขึ้นพิเศษในปี 1936 สำหรับเดซี่ เฟลโลวส์ (Daisy Fellowes) หนึ่งในสัญลักษณ์ความงามที่เปล่งประกายของคอลเล็คชั่นทุตตี้ ฟรุตตี้ (Tutti Frutti) (ภาพล่าง)
  • นิทรรศการส่วนที่ 3 “Inquisitive Women: Cross-cultural Inspirations” แรงบันดาลใจข้ามวัฒนธรรม เราจะได้เห็นชิ้นงานที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะจากประเทศจีนและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สร้างชีวิตชีวาให้กับผลงานที่คาร์เทียร์รังสรรค์ขึ้นเพื่อผู้หญิง กล่องใส่ของชิ้นเล็กสไตล์จีนที่ทำขึ้นเมื่อปี 1928 โดยอ้างอิงชามกระเบื้องสมัยคังซีในคอลเลคชั่นส่วนตัวของมิสเตอร์และมิสซิสหลุยส์ คาร์เทียร์ (1895-1952) (ภาพซ้าย), เข็มกลัด “มังกรคู่ไล่ไข่มุก” ที่นำลวดลายยอดนิยมในศิลปะจีนมาใช้ ถูกซื้อไปโดยฌานน์ ปาแก็ง (Jeanne Paquin, 1869-1936) ช่างเสื้อสตรีคนสำคัญคนแรกของฝรั่งเศส (ภาพกลาง), คาร์เทียร์ทำจี้ หยิน-หยางขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1919 โดยได้แรงบันดาลใจจากสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นปรัชญาและศาสนาเก่าแก่ของจีน (ภาพขวา)
เทียร์ร่าตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชรและมุกธรรมชาติสร้างสรรค์ในปี 1906 ของนักแสดงหญิงหลิว เจียหลิง (Carina Lau Ka Ling) ซึ่งมอบให้คาร์เทียร์นำมาจัดแสดงพิเศษ
  • นิทรรศการส่วนสุดท้าย “Influential Women: Glamorous Legends” สตรีผู้ทรงอิทธิพล: ตำนานอันเจิดจรัส ความผูกพันระหว่างคาร์เทียร์กับสตรีสมัยใหม่และสตรีร่วมสมัยผู้เป็นไอคอน โดยผลงานชิ้นเด่นส่วนหนึ่งมาจากคอลเล็คชั่นส่วนตัวของสตรีระดับบุคคลสำคัญและสตรีที่มีชื่อเสียง เช่น เทียร์ร่าตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชรสร้างสรรค์ในปี 1919 ของนักแสดงหญิงชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงระดับเอเชีย หลิน ชิงเสีย (Brigitte Lin Ching Hsia) ซึ่งมอบให้คาร์เทียร์นำมาจัดแสดงพิเศษ,  เทียร์ร่าตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชรและมุกธรรมชาติสร้างสรรค์ในปี 1906 ของนักแสดงหญิงหลิว เจียหลิง (Carina Lau Ka Ling) ซึ่งมอบให้คาร์เทียร์นำมาจัดแสดงพิเศษ
  • ผลงานชิ้นเด่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เทียร์ร่า Taj Mahal ตัวเรือนแพลตินั่มประดับเพชรและมรกต สามารถปรับมรกตเป็นเข็มกลัด สร้างสรรค์ปี 2012 เจ้าของคือแพนซี่ โฮ นักธุรกิจหญิงและลูกสาวของ สแตนลีย์ โฮ ซึ่งมอบให้คาร์เทียร์นำมาจัดแสดงพิเศษในครั้งนี้ (ภาพซ้าย), แหวนหมั้นแพลตินั่มประดับเพชรน้ำงามของเกรซ เคลลี่ หรือเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก สร้างสรรค์ขึ้นในปี 1956 (ภาพขวา)
  • นิทรรศการ “Cartier and Women” ผู้ถือบัตรสามารถเข้าชมได้ทุกห้องนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ เทียบกับผลงานล้ำค่าที่จัดแสดงและราคาบัตรเข้าชมถือว่าคุ้มค่ามาก บัตรผู้ใหญ่ราคา 120 เหรียญฮ่องกง บัตรสำหรับผู้มีสิทธิ์ได้รับส่วนลด ราคา 60 เหรียญฮ่องกง (เด็กอายุระหว่าง 7-11 ปี, นักเรียนและนักศึกษา, ผู้ใหญ่อายุ 60 ปี ขึ้นไป, ผู้พิการและทุพพลภาพ) โดยคาร์เทียร์สนับสนุนบัตรเข้าชมนิทรรศการแก่ผู้ด้อยโอกาสในครั้งนี้จำนวน 5,000 ใบ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up