พระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9

พระเมรุมาศบุษบก 9 ยอด: โอฬารสมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

พระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9
พระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ในห้วงแห่งความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ที่ยังคงอยู่ สนามหลวง อันเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ โดยมีฉากหลังเป็นภาพความวิจิตรงดงามของพระบรมมหาราชวังอันตระการตากำลังปรับพื้นที่เพื่อเป็น ทุ่งพระเมรุสำหรับประดิษฐาน พระเมรุมาศท่ามกลางคราบน้ำตาของคนไทยที่ยังไม่เหือดแห้ง

ตามธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา การสร้าง “พระเมรุมาศ” จะถูกเตรียมการทันทีที่พระเจ้าอยู่หัวสวรรคต โดยมีข้อกำหนดตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อยาวนาน มีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยภายใต้คติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมอันซับซ้อน ที่ปรากฏออกมาเป็นผลงานทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามและยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย

เนื่องในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานพิธีบวงสรวงยกเสาเอกพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวงไปแล้วเรียบร้อย วันนี้ แพรวดอทคอม จึงขอนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเตรียมการพระเมรุมาศบุษบก 9 ยอด เพื่องานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาให้ได้รับทราบกัน

แบบพระเมรุมาศบุษบก 9 ยอด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดเผยแบบพระเมรุมาศ งานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 หลังจากที่กรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบ โดยใช้เวลาประมาณเดือนเศษนับแต่วันเสด็จสวรรคต ผ่านการเสนอคณะรัฐมนตรี และผ่านการทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพระวินิจฉัย แล้วสรุปรูปแบบพระเมรุมาศที่ดำเนินการก่อสร้างในครั้งนี้เป็นรูปทรงบุษบกตามแบบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่พระเมรุมาศครั้งนี้มี 9 ยอด ยิ่งใหญ่โอฬารกว่าที่ผ่านมา

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการออกแบบครั้งนี้ว่า ได้กำหนดกรอบแนวคิดตามอย่างโบราณราชประเพณีไว้ 3 ประการ คือ

1. ต้องสมพระเกียรติ เพราะครั้งนี้เป็นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ครั้งล่าสุด คือเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และตลอดรัชสมัยที่ผ่านมาก็มีเพียงงานพระเมรุของสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่

2. ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณ โดยยึดแบบสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะแบบของสมัยอยุธยานั้นไม่มีรูปแบบที่เป็นหลักฐาน จึงดูแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

3. การออกแบบครั้งนี้ยึดหลักไตรภูมิตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาและความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพตามระบบเทวนิยม ซึ่งจาก 3 แนวคิดหลักนี้ได้ปรากฏเป็นแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ คือ แบบทรงยอดบุษบก องค์หลักจะอยู่กึ่งกลาง อันหมายถึงเขาพระสุเมรุ อีก 8 มณฑปที่อยู่รายรอบนั้นหมายถึงเขาสัตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล

สำหรับในส่วนงานสถาปัตยกรรมที่ต้องก่อสร้างอาคารแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณีรูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูงถึง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูงมี 7 ชั้น ชั้นบนที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วยสำซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด

พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูงขนาด 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี และเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า โดยเตรียมพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธีประมาณ 2,800 ที่นั่ง ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่มีขนาดใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อรองรับพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะที่จะเดินทางมาร่วมพระราชพิธีจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังมี ศาลาลูกขุน เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตร ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม และ ทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา

2. กลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ เกยลา บริเวณกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพลับพลายกหน้ามณฑลพิธีท้องสนามหลวง ส่วนลวดลายประกอบ ทั้งที่เป็นชั้นฐาน หรือประติมากรรมที่ประกอบในพระเมรุมาศ ทั้งหมดจะสะท้อนถึงเรื่องระบบจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นชั้นครุฑ ชั้นเทพ หรือเทวดา รวมถึงสัตว์หิมพานต์

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นพิเศษในครั้งนี้คือ เสาโคมจะใช้เป็นเสาครุฑ เพราะครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ โดยแนวคิดสมมุติเทพนั้น พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งงานพระเมรุที่ผ่านมาล้วนเป็นเสาหงส์ สำหรับการออกแบบภูมิทัศน์จะมีการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ การปลูกหญ้าแฝก ฯลฯ จะถูกนำมาใช้ในการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ ด้านงานเรื่องศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทพ เทวดา สัตว์หิมพานต์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยึดตามคติความเชื่อของระบบจักรวาล อันเกี่ยวกับสมมุติเทพทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่อดีต

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างพระโกศจันทน์และพระโกศทองคำที่จะบรรจุพระบรมอัฐินั้น แบบเสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และได้ลงมือดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีทุกประการ ขั้นตอนที่ได้ดำเนินการต่อมาคือ พิธีบวงสรวงบูรณปฏิสังขรณ์พระราชรถและพระราชยานมาศ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 และมีพิธียกเสาเอก พิธีตอกหมุดจุดกึ่งกลางพระเมรุมาศ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม และล้อมรั้วเพื่อเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งทุกอย่างกำหนดไว้ว่าต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2560

นั่นหมายถึงว่า พระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งคนไทยทั้งมวลไม่อยากให้มาถึง จะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้

 

ภาพรวมพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ เมื่อมองจากทิศตะวันออก ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ผังบริเวณพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ทางด้าน นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศองค์ประวัติศาสตร์นี้ได้เล่าว่า

“แรกสุดที่ผมได้รับการประสานงานจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองอธิบดีกรมศิลปากร ให้ออกแบบพระเมรุมาศ ผมได้สเก็ตช์ภาพพระเมรุมาศยอดบุษบกไว้ 3 รูปแบบ คือ 1. พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว 2. พระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอด และ 3. พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สาเหตุที่สเก็ตช์ไว้หลายแบบเพราะ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งผมได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านมาตลอด ท่านสอนไว้ว่า การออกแบบให้เจ้านายนั้นควรเตรียมทางออกไว้หลายๆ ทาง เพื่อตอบคำถาม ดังนั้นผมจึงสเก็ตช์ภาพพระเมรุมาศยอดบุษบกที่เคยมีมาในอดีตทั้งหมด นั่นคือ พระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอด คล้ายกับพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว คล้ายกับของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 แต่สำหรับพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดนั้นไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน

“ส่วนตัวผมชอบทรงบุษบก 9 ยอดมากที่สุด เพราะสื่อถึงรัชกาลที่ 9 แต่ตอนเขียนแบบคืนนั้น หลังจากเขียนเสร็จแล้วยังรู้สึกไม่สุดใจ จนใกล้รุ่งราวตี 4 สายตาเหลือบไปเห็นภาพพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ปักหมุดไว้ข้างฝาในห้องทำงาน ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เห็นแล้วขนลุก และเกิดไอเดียในการจัดวางยอดที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นอิสระ

“เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่งานในการออกแบบพระเมรุ ท่านอธิบดีได้นำผมเข้ากราบบังคมทูลถวายรายงานในวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อทรงพระวินิจฉัย พระองค์ท่านรับสั่งว่า สวยหมดทุกแบบ แต่ทรงปรารภว่า ‘ไม่ให้เหมือนที่เคยมีมา’ ถึง 3 ครั้ง ท้ายที่สุดทรงเลือกทรงบุษบก 9 ยอดนี้ รับสั่งว่า ‘อิสระ ลดหลั่น สวยงาม’ แล้วมีรับสั่งถามผมว่า แล้วคนออกแบบชอบแบบไหน ผมกราบบังคมทูลตอบว่า ชอบแบบ 9 ยอดครับ พูดราชาศัพท์ผิดๆ ถูกๆ เพราะตื่นเต้น

“ผมไม่ได้ภูมิใจที่ทรงเลือกแบบที่ผมเขียน เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากจะให้มีการใช้พระเมรุมาศเกิดขึ้น เพราะการออกแบบพระเมรุแต่ละครั้งหมายถึงการสูญเสียพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายแต่ละองค์ไป แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของคนกรมศิลป์ที่ต้องถวายงานในการออกแบบให้ดีที่สุด ในตอนนั้นผมยังได้กราบบังคมทูลถามเกี่ยวกับศิลปกรรมที่จะใช้ตกแต่งพระเมรุมาศ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ให้เป็นจินตนาการของศิลปิน

“หลังการเข้าเฝ้าฯ ผมกลับมาปรับแบบให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะต้องมีหีบพระบรมศพและพระบรมโกศประดิษฐานบนจิตกาธานด้วย โดยต้องมีเตาน้ำมันวางซ่อนอยู่ในจิตกาธาน ทั้งนี้ที่ไม่ใช้เตาไฟฟ้า เพราะควบคุมการไหม้ยาก ไม่สะดวกต่อการใช้งาน และการใช้เตาไฟฟ้ายังปลอดภัยน้อยกว่าเตาน้ำมันด้วย

“หลังจากนี้การลงมือก่อสร้างพระเมรุมาศก็จะคืบหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกฝ่ายที่รับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ก็ดำเนินการไปอย่างเต็มที่ บางคนอาจคิดว่า ทำไมทำพระเมรุมาศของพระองค์ท่านใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยไม่คิดถึงพระราชดำริในเรื่องความพอเพียง ซึ่งผมอยากบอกว่า พระองค์ท่านไม่เคยมีรับสั่งในเรื่องการทำพระเมรุ แต่การออกแบบพระเมรุมาศคือการเฉลิมพระเกียรติ และเป็นที่รู้กันดีว่าพระองค์ท่านทรงเป็น ‘คิงออฟเดอะคิงส์’

“ดังนั้นพวกเราจึงตั้งใจทำถวายให้สมพระเกียรติที่สุด”

 


ที่มา: นิตยสารแพรว ปักษ์ 898 วันที่ 25 มกราคม 2560 คอลัมน์ บทความพิเศษ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up