โปสการ์ดของพ่อ

ควรค่าแก่การมีไว้ “โปสการ์ดของพ่อ” 9 แบบ น้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9

โปสการ์ดของพ่อ
โปสการ์ดของพ่อ
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสมาคมการพิมพ์ไทย จัดทำ “โปสการ์ดของพ่อ” 9 แบบ โดยออกแบบให้มีคุณค่าและพิเศษที่สุด เพื่อน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9 พร้อมเตรียมแจกจ่ายคนทั่วประเทศ 
เพื่อน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จึงได้ริเริ่มโครงการจัดทำ “โปสการ์ดของพ่อ” น้อมเกล้าฯ นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านมาออกแบบเพื่อเผยแพร่ในรูปแบบโปสการ์ดที่ระลึก ซึ่งได้ร่วมมือกับสมาคมการพิมพ์ไทยในการจัดพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษแบบผสมผสาน เพื่อให้สมพระเกียรติของพระองค์ท่านและควรค่าแก่การเก็บเป็นที่ระลึกของประชาชนชาวไทยทุกคน
คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC
คุณอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการ TCDC ได้เล่าถึงโครงการนี้ว่า ภายในชุด “โปสการ์ดของพ่อ” จะประกอบไปด้วยโปสการ์ดที่ระลึกจำนวน 9 ใบ จัดพิมพ์ขึ้นทั้งหมด 50,000 ชุด หรือ 450,000 ใบ ซึ่งพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการจัดทำ ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถต่างๆ อีกทั้งทุกภาพจะมีกระบวนการคัดเลือกและอัญเชิญพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านที่สอดคล้องกับพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อพิมพ์ลงบนอีกด้านหนึ่งของโปสการ์ดที่ระลึก เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักและน้อมนำปฏิบัติตาม
โปสการ์ดของพ่อ
นางสาวพิมพ์นารา จิรานิธิศนนท์ นายกสมาคมการพิมพ์ไทย
อีกทั้งการออกแบบเทคนิคการพิมพ์แบบผสมผสานก็ได้ใส่ใจแต่ละดีเทลให้มีคุณค่าเฉพาะตัว อาทิ การเลือกสรรเทคนิคการพิมพ์เพื่อสะท้อนหยาดเหงื่อของพ่อหลวง เทคนิคการพิมพ์เพื่อสร้างความสมพระเกียรติแก่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เทคนิคการพิมพ์เพื่อสร้างผิวสัมผัสบนพื้นที่พระองค์ทรงงาน ฯลฯ นอกจากนี้วัสดุหลักที่ใช้อย่างกระดาษ ก็มีการคัดสรรให้เหมาะสมกับการนำมาทำโปสการ์ดด้วย โดยคุณพิมพ์นารา จิรานิธิศนนท์ นายกสมาคมการพิมพ์ไทย ได้เผยว่า ได้เลือกใช้กระดาษเมทัลไลท์สีเทา และกระดาษอาร์ตมันสีขาว
สำหรับโปสการ์ดที่ใช้กระดาษเมทัลไลท์ 3 แบบ ได้แก่ โปสการ์ดพระบรมฉายาลักษณ์ทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงเยี่ยมราษฎร และพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงผนวช จะทำการลงสีขาวชนิดพิเศษด้วยความละเอียดที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดเป็นผิวสัมผัสเฉพาะตัว ก่อนนำไปพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ และสำหรับโปสการ์ดอีก 6 แบบที่ใช้กระดาษอาร์ตมันสีขาวจะทำการเคลือบพีวีซีชนิดด้าน ก่อนที่จะพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์

จากนั้นโปสการ์ดทั้งหมด 9 แบบจะถูกส่งต่อไปยังโรงพิมพ์เฉพาะทางภายในเครือข่ายสมาคมฯ เพื่อลงเทคนิคพิเศษเฉพาะจุดต่างๆ อาทิ การลงสปอตหยดน้ำที่บริเวณหยดพระเสโท สปอตทรายบริเวณพื้นที่พระองค์ประทับขณะเยี่ยมราษฎร สปอตเงาบริเวณพื้นน้ำบนภาพที่พระองค์ประทับพร้อมคุณทองแดง รวมถึงการปั๊มลายไม้บนแผ่นภาพโปสการ์ดพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงผนวชเพื่อเพิ่มผิวสัมผัส โดยกระบวนการจัดพิมพ์ตั้งแต่เริ่มเลือกกระดาษ การจัดวางเทคนิคต่างๆ และการทดสอบพิมพ์ ตลอดจนการแก้ไขต่างๆ เพื่อความสวยงามที่สุด จนการพิมพ์โปสการ์ดทั้งสิ้น 450,000 ใบแล้วเสร็จนั้น รวมระยะเวลากว่า 1 เดือนเต็ม 

“โปสการ์ดของพ่อ” 9 แบบ เป็นเช่นไรบ้างนั้น แพรวดอทคอม นำภาพมาให้ชมแล้วด้านล่างนี้

– แบบ 1 –
พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงฮ็อกกี้น้ำแข็ง

โปสการ์ดของพ่อ
“…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆ เลื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลังหรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน…”

– แบบ 2 –
พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงเปียโน

โปสการ์ดของพ่อ
“…ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่ก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆ กันไป…”

– แบบ 3 –
พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร

โปสการ์ดของพ่อ
“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด…”

– แบบ 4 –
พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉลองพระองค์ชุดสูทแบบคลาสสิก

โปสการ์ดของพ่อ
“…การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกับทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด…”

– แบบ 5 –
พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงผนวช

โปสการ์ดของพ่อ
“…ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าเป็นชาติเชื้อใดและแม้อยู่ในนิกายใด ล้วนถือทางปฏิบัติในกายวาจาใจเป็นอย่างเดียวกัน คือย่อมพยายามอยู่ทุกเมื่อที่จะรักษากายวาจาให้สะอาดด้วยระเบียบปฏิบัติอันดีงามและสุจริต ที่จะควบคุมประคองใจให้สงบด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และที่จะใช้จิตใจอันสงบมัธยัสถ์นั้นพิจารณาสิ่งต่างๆ ให้เห็นแจ้งชัดโดยถูกต้องตามจริง ชาวพุทธที่แท้จึงเป็นสาธุชนผู้คิดชอบปฏิบัติชอบอยู่เป็นปรกติ อยู่ ณ ที่ใด ก็ทำให้ที่นั้นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดองและสร้างสรรค์…”

– แบบ 6 –
พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์

โปสการ์ดของพ่อ
“…ความสามัคคีนั้นอาจหมายความถึงเห็นชอบพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความแย้งกัน ความคิดต่างกันซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือแต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุข มีความปึกแผ่น…”

– แบบ 7 –
พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงพักผ่อนพระอิริยาบถกับคุณทองแดง

โปสการ์ดของพ่อ
“…ความกตัญญูกตเวทีคือสภาพจิตที่รับรู้ความดี และยินดีที่จะกระทำความดีโดยศรัทธามั่นใจ คนมีกตัญญูจึงไม่ลบล้างทำลายความดี และไม่ลบหลู่ผู้ที่ได้ทำความดีมาก่อน หากเพียรพยายามรักษาความดีทั้งปวงไว้ให้เป็นพื้นฐานในความประพฤติปฏิบัติทุกอย่างของตนเอง เมื่อเต็มใจและจงใจกระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความดีดังนี้ ก็ย่อมมีแต่ความเจริญมั่นคงและรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งสำหรับนักพัฒนา และผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าทุกคน…”

– แบบ 8 –
พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงงาน

โปสการ์ดของพ่อ
“…เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

– แบบ 9 –
พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพแห่งกองทัพอากาศ

โปสการ์ดของพ่อ
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมนิทรรศการ “โปสการ์ดของพ่อ-ความทรงจำและการน้อมรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ในดวงใจ” พร้อมรับโปสการ์ดที่ระลึกได้ฟรี 1 ใบต่อ 1 ท่าน (จำนวนจำกัด 90,000 ใบ) ได้ที่ TCDC COMMONS ชั้น 3 อาคารไอดีโอคิว จุฬา-สามย่าน ถนนพระราม 4 MRT สถานีสามย่านได้ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2560 หรือจนกว่าโปสการ์ดจะหมด ตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 17.00 น.

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdc.or.th


เรียบเรียงโดย: Gingyawee_แพรวดอทคอม
ข้อมูลและภาพ: ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

Praew Recommend

keyboard_arrow_up