เลี้ยงลูกให้ดีงาม เดินตามคำสอนพ่อ จากพระบรมราโชวาทสู่แนวทางการปฏิบัติได้จริง

ในฐานะประชาชนของแผ่นดิน คงไม่มีการตอบแทนคุณใดดีไปกว่าการน้อมนำคำสอนของพ่อมาประยุกต์ใช้ในชีวิต เพื่อเป็นคนดีให้พ่อได้ภูมิใจ

จึงขอน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บางส่วนมานำเสนอ พร้อมสอดแทรกข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูลูกน้อย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ผู้อ่านไม่เพียงได้ปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งต่อการดำเนินชีวิตตามพระบรมราโชวาทไปยังเจ้าตัวน้อย เปรียบเสมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในใจลูก สืบสานเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ให้คงอยู่ต่อไปไม่รู้จบ

1

“…เด็กๆต้องฝึกหัดอบรมทั้งกายทั้งใจให้เข้มแข็ง เป็นระเบียบ และสุจริต เพื่อประโยชน์ของตนในภายหน้า เพราะคนที่ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถควบคุมกายใจให้อยู่ในระเบียบและความดี ยากนักที่จะได้ประสบความสำเร็จและความเจริญอย่างแท้จริงในชีวิต…”

ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทพระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ.2526

สร้างความเข็มแข็งทางใจให้ลูกน้อย

ความเข้มแข็งทางใจ คือ ความสามารถในการจัดการกับปัญหาและวิกฤติของชีวิตให้สามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งเกิดการเรียนรู้และเติบโตจากการเผชิญหน้ากับปัญหาและวิกฤติ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการจัดการปัญหาหรือการมองปัญหาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การจะรับมือกับปัญหาอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็กเป็นสำคัญ

ทั้งนี้การสร้างความเข้มแข็งทางใจเป็นกระบวนการพัฒนาส่วนบุคคล เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์และจิตใจแตกต่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าในสถานการณ์เดียวกัน เด็กๆจะตอบสนองแตกต่างกันไป อีกทั้งสภาพแวดล้อม ค่านิยมของสังคมที่แตกต่างก็อาจส่งผลต่อการแสดงออกต่อปัญหาของเด็กๆต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ดี พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้ลูกพัฒนาไปสู่การมีความเข้มแข็งทางใจได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • เด็กๆควรมีความรู้สึกผูกพันมั่นคงกับผู้เลี้ยงดูอย่างน้อยหนึ่งคนที่จะเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิต
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจเรื่องต่างๆเองบ้าง โดยที่คุณเป็นผู้สังเกตทัศนคติของลูกอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึกต่อผลของการตัดสินใจไม่ว่าจะดีหรือร้ายได้ด้วยตัวเอง
  • ให้ลูกรู้ว่าคุณมีความห่วงใยในทุกสิ่งที่ลูกทำ และคุณคาดหวังว่าลูกจะทำทุกสิ่งทุกอย่างดีที่สุด ไม่ว่าดีที่สุดของลูกจะแค่ไหนก็ตาม พ่อแม่จะยอมรับและคอยให้กำลังใจเสมอ
  • มีส่วนร่วมในประสบการณ์ต่างๆที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษและเป็นตัวของตัวเอง สอนลูกให้เข้าใจวิธีการรับมือกับคำชมและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ
  • เด็กๆจะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ดีกว่า หากเขารู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ดังนั้นไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำงานเครียดเพียงใด ควรหาเวลาในแต่ละวันที่จะพูดคุยถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตลูก แบ่งปันเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคุณ ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานความเชื่อใจที่สำคัญระหว่างคุณและลูก
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำงานเพื่อคนอื่นๆ เช่น การเป็นอาสาสมัคร หรือพาลูกไปบริจาคสิ่งของให้ผู้ขาดแคลน กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้ถึงความสามารถของตนเอง และช่วยให้ลูกค้นพบตัวตนได้ง่ายขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น อีกทั้งยังทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเองและในคนอื่นๆรอบตัวอีกด้วย
  • ทำให้ลูกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว พ่อแม่รู้สึกขอบคุณที่มีลูกอยู่ในชีวิต มอบหมายให้ลูกดูแลสัตว์เลี้ยง ดูแลน้อง และงานบ้านอื่นๆที่เหมาะสมกับความสามารถของลูก
  • สอนลูกให้ยอมรับสิ่งที่เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และความแตกต่างนี้เองที่ทำให้ทุกคนมีความพิเศษเฉพาะตัว
  • สอนลูกให้รู้จักต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองด้วยวิธีที่เหมาะสม พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดคุยด้วยเหตุผลและให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้จะมีความคิดไม่เหมือนกันก็ตาม

2

“การมีเสรีภาพนั้นเป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ตามความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ๙ กรกฎาคม 2514

เลี้ยงลูกให้มีเสรีภาพอย่างพอดี

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเสรีภาพคือการทำอะไรก็ได้ตามความต้องการของตนเองโดยที่ไม่กระทบผู้อื่น ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไปนัก เพราะการ “ทำอะไรก็ได้” แม้จะไม่กระทบต่อส่วนรวมโดยตรง แต่หากส่งผลเสียต่อตัวผู้กระทำเองก็ย่อมเกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวมในทางอ้อมด้วย เช่น การใช้ยาเสพติด แม้ผู้เสพจะไม่ได้มีอาการคลั่งออกไปอาละวาดทำร้ายใคร แต่ผลเสียของการใช้ยาก็ย่อมทำให้ผู้นั้นมีความเจ็บป่วยทางกาย ทางใจ ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ ทำให้สังคมขาดบุคลากรที่มีคุณภาพไปอย่างน้อยหนึ่งราย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นั่นเอง

การสอนลูกให้รู้จักใช้เสรีภาพอย่างมีขอบเขตจึงจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการฝึกระเบียบวินัย เช่น ภายในห้องส่วนตัวของลูก ลูกจะตกแต่งอย่างไรก็ได้ แต่ลูกก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาให้สะอาดเรียบร้อยด้วย หากลูกเลือกที่จะไม่ทำความสะอาดห้อง ลูกก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษของพ่อแม่ หรือการที่ห้องส่งกลิ่นเหม็นและเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเสรีภาพต้องเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบและการเคารพซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้เสรีภาพอย่างเหมาะสม คอยให้คำแนะนำ และอธิบายให้ลูกฟังถึงการที่ลูกจะต้องรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็นและได้เรียนรู้ในชีวิตประจำวันด้วย

3

“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้นจะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502

สอนลูกรักรู้จักใช้เงิน

ว่าด้วยเรื่องการสอนลูกให้รู้คุณค่าของเงินและการรู้จักใช้เงินนั้น อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จะว่าไปแล้วการใช้เงินเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา หากเราหาโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง และค่อยๆสอนสอดแทรกแนวคิดเรื่องการใช้เงินไปในชีวิตประจำวัน เด็กก็จะซึมซับได้เองโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงวัยของลูกในการสอนเรื่องการใช้เงิน เพื่อให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นดังนี้ค่ะ

สอนลูกวัย 2 – 3 ขวบ สำหรับเจ้าตัวน้อยวัยนี้อาจยังไม่เข้าใจเรื่องคุณค่าของเงินเท่าใดนัก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักชื่อเรียกและมูลค่าของเหรียญและธนบัตรชนิดต่างๆได้แล้ว โดยใช้วิธีเล่นสนุกๆอย่างการนำเหรียญวางไว้ใต้แผ่นกระดาษ แล้วใช้ดินสอระบายบนรอยนูนของเหรียญ เพื่อให้ลวดลายของเหรียญชนิดนั้นๆปรากฏขึ้นบนกระดาษ แล้วให้ลูกสังเกตว่าแต่ละเหรียญต่างกันอย่างไร พร้อมบอกมูลค่าของเหรียญชนิดนั้นๆ ก่อนจะให้ลูกหยิบเหรียญมาจับคู่กับรูปที่ปรากฏบนกระดาษ สำหรับธนบัตรอาจใช้กระดาษสีมาตัดและเขียนมูลค่าที่เท่ากับธนบัตรจริงๆ แล้วให้ลูกได้จับคู่ของจริงกับกระดาษสีที่ตัดไว้ เช่น ใช้กระดาษสีเขียวแทนแบงก์ยี่สิบ สีแดงแทนแบงก์ร้อย เป็นต้น

6

สอนลูกวัย 4 – 5 ขวบ หนูน้อยวัยนี้ชื่นชอบการเล่นบทบาทสมมุติ และโตพอที่จะเข้าใจเรื่องมูลค่าของเงินบ้างแล้ว ชวนลูกเล่นซื้อของขายของ โดยสลับให้ลูกเป็นทั้งคนขายและคนซื้อ ใช้เงินของเล่นในการจับจ่าย เปิดโอกาสให้ลูกได้ตั้งราคาสินค้าและเลือกซื้อของในงบที่กำหนด นอกจากนี้เวลาที่ออกไปซูเปอร์มาร์เก็ตซื้อของเข้าบ้าน ลองเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยจดรายการของที่จะซื้อ และให้ลูกได้ลองดูป้ายราคาเพื่อเปรียบเทียบซื้อสินค้าที่คุ้มค่ามากที่สุด คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเหนื่อยในการพูดอธิบาย แต่ลูกจะได้ซึมซับเรื่องการรู้จักใช้เงินและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้เมื่อเขาโตขึ้น

สอนลูกวัย 6 ขวบขึ้นไป นอกจากจะชวนลูกไปซื้อของด้วยกันเหมือนกับการสอนลูกวัย 4 – 5 ขวบแล้ว คุณควรเริ่มปลูกฝังนิสัยรักการออม และฝึกให้ลูกรู้จักวางแผนการใช้เงินด้วยตัวเอง โดยให้เงินค่าขนมลูกในจำนวนที่แน่นอน ไม่ว่าจะให้เป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ สอนให้ลูกลองวางแผนใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ เมื่อครบเดือนแรกลองนั่งคุยกับลูกว่าลูกวางแผนอย่างไร และมีเงินเก็บเท่าไร คอยให้คำแนะนำและกำลังใจ ระวังที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินการกระทำของลูกด้วยคำพูดในแง่ลบ เมื่อลูกออมเงินได้จำนวนหนึ่งก็ชวนลูกนำเงินไปฝากธนาคาร อธิบายถึงความสำคัญของการออม เปิดบัญชีในชื่อลูก ให้เขาเก็บรักษาสมุดบัญชีของตัวเอง ลูกจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

4

“การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้นมิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้งทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น 17 ธันวาคม 2541

สอนลูกยอมรับความแตกต่าง อยู่อย่างเข้าใจ

ในสังคมเรานั้นมีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคใหม่ที่ทุกส่วนในโลกเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างง่ายดาย ความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ และทัศนคติต่างๆ แม้จะเป็นสิ่งธรรมดาที่มีอยู่ในสังคมมาช้านาน แต่เมื่อโลกที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ความแตกต่างเหล่านี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องเผชิญกับความแตกต่างหลากหลายในด้านต่างๆในสังคมทุกๆวัน ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจความแตกต่างเหล่านั้นคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การสอนลูกให้เข้าใจและรับมือกับความแตกต่างนั้น หัวใจสำคัญต้องเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกค่ะ เริ่มต้นง่ายๆในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนรูปลักษณ์ของคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา ไม่ให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าความสำคัญของจิตใจ จริงๆการสอนเจ้าตัวน้อยในเรื่องนี้เป็นเหมือนการปลูกฝังทัศนคติที่ทำได้ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพราะในทุกๆวันลูกเฝ้ามองดูคุณเป็นแบบอย่างอยู่เสมอ เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ ดังนั้นหากคุณต้องการให้ลูกมีแนวคิดในการดำรงชีวิตอย่างไร พ่อแม่เริ่มได้จากการเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

  • สังเกตทัศนคติของตนเองอยู่เสมอ พยายามอย่าใช้ทัศนคติแบบเหมารวม รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นในเรื่องการเคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคม
  • ระลึกอยู่เสมอว่าลูกคอยฟังสิ่งที่คุณพูดอยู่เสมอ แม้ว่าคุณไม่ได้พูดกับเขาก็ตาม ระวังถ้อยคำและน้ำเสียงที่คุณใช้พูดถึงคนที่แตกต่าง ไม่ควรล้อเลียนภาพลักษณ์ของคนอื่นเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก
  • เลือกหนังสือ เพลง หรือเรื่องราวตามสื่อต่างๆอย่างระมัดระวัง อิทธิพลของสื่อต่อการหล่อหลอมทัศนคติของคนเรามีพลังมากกว่าที่เราคาดคิด
  • หาโอกาสสอนและอธิบายให้ลูกฟังว่าการล้อเลียนคนอื่นที่ต่างจากเราเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่สุภาพ อีกทั้งยังทำร้ายความรู้สึกของคนที่ถูกล้อเลียนอีกด้วย เช่น ในรายการทีวีที่ล้อเรื่องสีผิวหรือน้ำหนักของบุคคล เป็นต้น
  • สร้างสังคมแห่งการให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันในครอบครัว ยอมรับทักษะ ความชื่นชอบ และสไตล์ที่ต่างกันของลูกแต่ละคน ให้คุณค่ากับความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิกในครอบครัว
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้พบปะผู้คนและสังคมที่หลากหลายด้วยการพาลูกทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เข้าค่ายฤดูร้อน หรือเป็นอาสาสมัครกิจกรรมเพื่อสังคม
  • อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการยอมรับความแตกต่างไม่ได้หมายถึงการยอมรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น คนที่รังแกคนอื่น แต่การยอมรับความต่างคือการเข้าใจว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับ ปฏิบัติ และให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน7

ในความโศกเศร้า คุยกับลูกอย่างไร

การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชาวไทย บรรยากาศแห่งความโศกเศร้าที่ปกคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดินย่อมส่งผลต่อประชาชนตัวน้อยๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยคงต้องคิดตอบคำถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมแม่ถึงน้ำตาไหลทุกครั้งที่ดูข่าว ทำไม่คุณพ่อดูซึมๆ คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็ไม่สดใสเหมือนเดิม

ผศ. พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ มีข้อแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองในการพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้ว่า ควรบอกลูกอย่างตรงไปตรงมา โดยเลือกใช้คำที่เด็กเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น “ในหลวงกลับไปอยู่บนสวรรค์แล้ว แม่เสียใจเพราะจะไม่มีโอกาสได้เห็นท่านอีก” โดยไม่ต้องอธิบายให้ซับซ้อน เพราะเด็กเล็กยังไม่เข้าใจเรื่องความตายมากนัก ในกรณีที่คุณแม่หรือสมาชิกในครอบครัวมีความโศกเศร้ามาก บรรยากาศในครอบครัวมีแต่ความหม่นหมอง เด็กๆอาจรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เพราะผู้ใหญ่มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป คุณควรให้ความมั่นใจกับลูก รวมทั้งทำกิจวัตรประจำวันต่างๆกับลูกให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“พ่อแม่อาจใช้โอกาสนี้อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเศร้าโศกร้องไห้แล้ว ก็ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองและดำเนินชีวิตต่อไป เล่าให้ลูกฟังถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความดียิ่งใหญ่ที่ท่านทรงทำให้ประชาชน ทำให้ท่านทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย เมื่อท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย ทุกคนจึงเสียใจมาก บอกลูกว่าการทำความดีเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และถึงแม้ว่าผู้ที่ทำดีจะจากไป แต่ความดียังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงเสมอ” ผศ. พญ.ปราณี กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียงโดย : saipiroon_แพรวดอทคอม

ภาพ : Kate Napaphat

Praew Recommend

keyboard_arrow_up