เรื่องเล่าคนในวัง…รู้ไหมว่า 14 ปีที่แล้ว พระราชินีของเรา ได้ทำสิ่งนี้ให้กับคนไทย

จากการทำงานอย่างใกล้ชิดของบรรดาข้าราชการที่ถวายงานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ในวันนี้ได้กลายเป็นความสำเร็จที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้กับคนไทยอีกครั้ง

ความสุขไม่ได้เกิดจากการที่มีเงินทองมากมาย แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายใจไม่ลำบาก มีอาชีพ มีรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอย่างพอเพียง และนี่ก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรมาโดยตลอด โครงการตามพระราชดำริฯ ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น จึงเกิดทั่วทุกภาคของประเทศมานานกว่า 40 ปี
และเมื่อ 14 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริอีกครั้ง จากความห่วงใยที่พระองค์มีต่อสถานการณ์ชายแดนบริเวณดอยดำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งทางดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ได้เล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า
“พระองค์มีความห่วงใยในราษฎรมาก ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2545 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพื้นที่ ณ จุดสูงสุดของยอดดอยดำ ต.เมืองแหง อ.เวียงแห จ.เชียงใหม่ เนื่องจากห่วงใยในสถานการณ์ชายแดนบริเวณดอยดำ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ครอบคลุมพื้นที่ 161,850 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งการสร้างรายได้ทางการเกษตร เพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ พระองค์ทรงรับสั่งต่อคณะผู้ติดตามว่า ให้หาปลาที่เลี้ยงได้ดีในที่มีอากาศหนาว รับประทานอร่อยมาให้ชาวบ้าน จากนั้นพระองค์ทรงรับสั่งถามผมว่า

‘เราจะทดลองเลี้ยงปลาน้ำเย็นที่นำมาจากต่างประเทศดีไหม เลี้ยงได้ไหม จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมไหม’

โครงการตามพระราชดำริ
ปลาเทราต์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปลาจากต่างประเทศชนิดแรกที่นำเข้ามาทดลองเพาะพันธุ์จนสำเร็จ

เวลานั้นคณะทำงานจึงได้ศึกษาและดำเนินการตามพระราชดำริ โดยครั้งแรกได้นำปลาเรนโบว์เทราต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศแคนาดามาทดลองเลี้ยงที่นี่ก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชดำริให้ศึกษาพันธุ์ปลาต่างประเทศชนิดอื่นมาเพาะเลี้ยงเพิ่มเติม ซึ่งทางรัฐบาลรัสเซียก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายไข่ปลาไซบีเรียน สเตอร์เจียน จึงพระราชทานให้กรมประมงนำไข่มาฟักที่โรงเพาะฟักบนดอยอินทนนท์ และนำไปทดลองเลี้ยงที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยดำ ซึ่งด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี ทำให้ในวันนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในแถบอาเซียน

โครงการตามพระราชดำริ
เนื้อปลาสเตอร์เจียน

หลังจากที่ใช้เวลาเพาะเลี้ยงกว่า 8 ปี ซึ่งผลผลิตที่สำคัญนอกจากได้เนื้อปลาสเตอร์เจียนที่มีคุณภาพรสชาติอร่อยแล้ว มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ววัตถุดิบสุดล้ำค่าอย่าง “คาเวียร์” จากปลาสเตอร์เจียน ซึ่งเป็นของราคาแพงและมีชื่อเสียงระดับโลก เราก็สามารถผลิตได้ในประเทศแล้วเช่นกัน

โครงการตามพระราชดำริ
เมนูจากเนื้อปลาสเตอร์เจียน ที่ใช้เวลาเพาะพันธุ์ถึง 8 ปี จนสามารถนำมาทำอาหารได้ เมนูนี้มีชื่อว่า Baked Sturgeon Fillet,Mediterranean Style Vegetable and Saffron Beurre Blance

ทางคณะทำงานเมื่อครั้งที่ทราบว่าเราสามารถผลิตคาเวียร์เองได้แล้ว ก็ได้นำไปถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเสวย ทั้งสองพระองค์ทรงรับสั่งว่ารสชาติดีแล้ว เหมือนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ”

โครงการตามพระราชดำริ
คาเวียร์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนในประเทศ
โครงการตามพระราชดำริ
คาเวียร์ที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้แล้ว ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูรสชาติล้ำเลิศที่ชื่อว่า Caviar Malossol,Fresh Sea Urchin,Yuzu Cream

นอกจากปลาเทราต์ ปลาสเตอร์เจียน และคาเวียร์ ที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองจากการริเริ่มของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ 14 ปีก่อนแล้ว อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนีนาถ ซึ่งดร.สมชาย ธรณิศร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการฯ ได้เล่าให้ฟังว่า

โครงการตามพระราชดำริ
เนื้อห่านหัวสิงห์

“เมื่อปี 2551 ประเทศจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายไข่ห่านหัวสิงห์ จำนวน 100 ฟอง เพื่อทรงใช้ในโครงการตามพระราชดำริฯ ทรงพระราชทานให้กรมปศุสัตว์นำไปฟักไข่ และทดลองเลี้ยงในโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางกลาง จ.อ่างทอง จนสามารถเพาะพันธุ์เองได้ และเจริญเติบโตได้ในทุกภาคของประเทศ อีกทั้งยังเป็นห่านพันธุ์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก และนำมาประกอบอาหารได้ทั้งแบบตะวันตกและตะวันออกอีกด้วย”

โครงการตามพระราชดำริ
ดอกเกลือ ผลผลิตจากโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ที่จ.เพชรบุรี

ต่อจากนั้นผู้ถวายงานยังได้เล่าอีกว่า เคยมีบุคคลท่านหนึ่งถวายที่ดินติดทะเลกับพระองค์ พระองค์ก็ไม่ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่กลับสร้างพื้นที่นั้นให้เป็นโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริฯ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรทางทะเลที่ถูกต้องไม่ทำลายสภาพแวดล้อมแก่ชาวบ้าน ลดปัญหาการตัดป่าชายเลน จึงได้จัดทำฟาร์มแบบ Zero Waste ซึ่งที่นี่ก็สามารถสร้างผลผลิตที่มีมูลค่า สร้างรายได้ให้กับราษฎรมากมาย โดยเฉพาะการทำนาเกลือ ที่สามารถผลิตดอกเกลือ วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการปรุงอาหารชั้นเลิศซึ่งมีราคาสูง

โครงการตามพระราชดำริ
ผักสดปลอดสารพิษมากมาย ผลผลิตจากโครงการตามพระราชดำริสถานีพัฒนาการการเกษตรที่สูง

นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้เป็นไรน้ำเค็ม ที่สามารถขายเป็นอาหารของสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ รวมถึงผงเกลือสำหรับใส่ในตู้เลี้ยงปลาทะเลเพื่อปรับสภาพน้ำให้เหมือนน้ำทะเลจากธรรมชาติ
ปัจจุบันนี้ทุกโครงการตามพระราชดำริที่พระองค์ทรงริเริ่มให้พัฒนาขึ้น สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับราษฎรเป็นอย่างดี และเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่วัตถุดิบหลายชนิดจากต่างประเทศที่เคยนำเข้ามาในราคาสูง เราสามารถผลิตขายเอง และมีทานในประเทศได้แล้ว
และนี่ก็คือพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยมาโดยตลอด…ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ภาพ : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
นิตยสารแพรวและแพรวดอทคอม

Praew Recommend

keyboard_arrow_up