ในช่วงวันที่ 25 – 28 เมษายนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ (State Visit) ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดี แห่งภูฏาน โดยเป็นเสด็จเยือนเพื่อสานต่อไมตรีอันแน่นแฟ้นของสองราชวงศ์
หนึ่งสิ่งที่เป็นที่ประทับใจต่อเหล่าพสกนิกรและเป็นที่พูดถึงคือ พระสไตล์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงเลือกใช้ผ้าไทยสำหรับตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก เหมือนกับการเสด็จเยือนภูฏานครั้งนี้ที่พระองค์ทรงเลือกใช้ผ้าไทยจากมูลนิธส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งจะมีผ้าชนิดไหน และมีเอกลักษณ์อย่างไร แพรวได้รวบรวมมาให้ชม


เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานนานาชาติพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ และกระเป๋าทรงถือด้วยผ้าไหมแพรวา จากสมาชิกศิลปาชีพผ้าไหมแพรวา บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยการทอแบบ “จก” และ “ขิด” ผสานเส้นไหมหลากสีอย่างประณีตงดงาม ก่อเกิดลวดลายที่วิจิตร และพื้นผ้าที่เนียนแนบเป็นเนื้อเดียวกัน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งผ้าไหม” อันเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินไทย การทอผ้าไหมแพรวานี้ได้รับการส่งเสริมภายใต้ โครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน


และในครั้งที่ สองพระองค์เสด็จเยือน คูเซลโพดรัง เพื่อประกอบพิธีสวดมนต์พิเศษ และถวายสักการะพระพุทธรูปโดร์เดนมา (Buddha Dordenma) สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงฉลองพระองค์ และกระเป๋าทรงถือ ด้วยผ้าปักจากชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ (ลาหู่) ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยลวดลายปักที่ละเอียดงดงาม ลายผ้าเกิดจากการบรรจงสร้างสรรค์ด้วยฝีมืออันประณีตของหญิงสาวชนเผ่า นำเสนอความอ่อนช้อยแห่งวัฒนธรรมผ่านเส้นด้ายสีธรรมชาติ ปักทับซ้อนเป็นลวดลายเรขาคณิตที่เปี่ยมความหมาย โดยผ้าผืนผ้าปักนี้ได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการศิลปาชีพ ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพประเภทผ้าชาวไทยภูเขา



ต่อมาในค่ำวันที่ 26 เมษายน 2568 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา เสด็จฯไปยังพระราชวังลิงคานา เพื่อร่วมงานถวายพระกระยาหารค่ำ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมจกลายราชบุรี ฝีมือการทออันประณีตของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกระเป๋าทรงถือจากผ้าจกลวดลายงดงาม เข้าชุดกับฉลองพระองค์ กระเป๋าผ้าจกใบนี้ทอด้วยเทคนิคดั้งเดิมอย่างละเอียดลออ



และในครั้งที่สองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภูฏาน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาทรงฉลองพระองค์และกระเป๋าทรงถือจากผ้าจก ฝีมือสมาชิกศิลปาชีพตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ้าจกดังกล่าวเป็นงานหัตถศิลป์ล้ำค่า รังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคการทอแบบดั้งเดิม ผสมผสานลวดลายอันประณีต ซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแต่โบราณ เส้นไหมแต่ละเส้นถูกสอดทออย่างประณีตละเอียดอ่อน จนเกิดเป็นลวดลายที่สะท้อนเอกลักษณ์แห่งความงามแบบไทยอย่างสง่างาม และยังแฝงไว้ด้วยความหมายแห่งความเป็นสิริมงคล


และสุดท้ายฉลองพระองค์สีน้ำเงินประดับเครปบริเวณพระอังสาที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาทรงเลือกใส่ ขณะเสด็จพระราชดำเนินโดยทรงขับเครื่องนั่งด้วยพระองค์ พร้อมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากท่าอากาศยานนานาชาติ พาโร กลับราชอาณาจักรไทย
ข้อมูลและภาพ: มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ