ทำความรู้จัก มันซา มูซา สุลต่าน ผู้ปกครองชาวแอฟริกาตะวันตก ความร่ำรวยของเขานั้นหาใครเทียบได้ ซึ่งความมั่งคั่งเขามาจาก เกลือ ทอง และ ที่ดิน
รู้จัก มันซา มูซา สุลต่านที่ร่ำรวยหาใครเทียบ ผู้ที่สร้างความมั่งคั่งจาก ทอง และ ที่ดิน
ในหลายยุค หลายสมัย ย่อมมีบุคคลที่ร่ำรวยจนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีวนกันขึ้นอันดับ 1 ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพ่อไมโครซอฟต์ บิล เกตส์, เจ้าพ่ออเมซอน เจฟฟ์ เบซอส หรือ อันดับ 1 ในปัจจุบันอย่าง เจ้าพ่อเทสล่า อีลอน มักส์
อย่างไรก็ตามความร่ำรวยของพวกเขาก็สลับกันไปตามการผันผวนค่าเงิน และ ธุรกิจ แต่ถึงพวกเขาจะมั่งคั่งมากเท่าใดก็ไม่เท่ากับ “มันซา มูซา” ผู้ปกครองชาวแอฟริกาตะวันตกในศตวรรษที่ 14 ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่ได้บันทึกไว้นั้น สุลต่านผู้นี้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลก โดยความมั่งคั่งของเขานั้นต้องใช้คำว่า “ยากเกินจะอธิบาย” และ “ไม่มีขอบเขต”
ในภาษา Mandinka “Munsa” หมายถึงสุลต่านหรือจักรพรรดิ ชื่อเดิมของเขาผู้นี้มีนามว่า Musa Keita เขาเกิดในคริสต์ศักราชที่ 1280 ในช่วงราชวงศ์ Keita
มันซา มูซา เกิดในชนชั้นปกครอง และเริ่มมีอำนาจในคริสต์ศักราช 1312 เมื่อ Mansa Abu-Bakr พี่ชายของมูซา ยอมสละบัลลังก์และใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไปกับการสำรวจทะเล ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์ Shibab al-Umari ได้กล่าวไว้ว่า Abu-Bakr หลงใหลในมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นอย่างมาก มีรายงานว่า เขาทิ้งเรือเดินสมุทรราวๆ 2,000 ลำพร้อมกับชายหญิงและทาสหลายพันคน และตัวเขาไม่ย้อนกลับมาอีกเลย
นับตั้งแต่นั้นมา มันซา มูซา จึงได้กลายเป็นสุลต่านองค์ที่เก้าของอาณาจักรมาลี แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมาพร้อมกับความมั่งคั่ง เมื่อเขาขึ้นครองราชย์
อาณาจักรของ มูซา เต็มไปด้วย เกลือ ทอง และ ที่ดิน นักประวัติศาสตร์คาดการณ์ว่า อาณาจักรมาลีในตอนนั้นเป็นแหล่งทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสุลต่านมูซาเป็นเจ้าของมากกว่าครึ่งหนึ่งของอุปทานทั้งหมดของโลก ตามรายงานของพิพิธภัณฑ์บริติช
ขณะที่ National Geographic ระบุว่า หลังจากที่สุลต่านมูซาขึ้นครองราชย์ เขาได้ขยายอาณาจักรให้ใหญ่ขึ้น รวมไปถึงขยายการค้าในระดับภูมิภาค ซึ่งความมั่งคั่งของเขาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการทำเหมืองเกลือ และ เหมืองแร่ทองคำจำนวนมาก รวมไปถึงการค้างาช้าง
ไม่เพียงแค่ทองคำ และ เกลือ เท่านั้นที่สร้างความมั่งคั่งให้กับสุลต่านมูซา ภายใต้การปกครองของเขา อาณาจักรได้เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ โดยทอดยาวกว่า 3,000 กม. (1,864 ไมล์) จากมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงประเทศไนเจอร์ในยุคปัจจุบัน อีกทั้งเขายังผนวกเมืองต่างๆ กว่า 24 เมือง รวมทั้งเมืองทิมบักตู ทั้งนี้มีรายงานว่าเขาไม่เคยพ่ายแพ้ในการสู้รบ แต่ในขณะเดียวกัน ดินแดนต่างๆ เป็นผู้มาขอร่วมกับจักรวรรดิมาลีด้วยความเต็มใจ เนื่องจากพวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น
ในฐานะชาวมุสลิม สุลต่านมูซา เป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาเริ่มเดินทางไปเมกกะในช่วงปี 1324-1325 ทั้งนี้มูซายังได้ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ที่ใช้เงินมากที่สุดตลอดกาลในการไปแสวงบุญ ณ ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ โดยสุลต่านมูซาใช้เวลาเดินทางในทะเลทรายเป็นระยะทาง 6,500 กม. โดยเสด็จออกจากมาลีพร้อมกับเหล่าบรรดาชายหญิงราว 60,000 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของราชวงศ์ไปจนถึงคนขับอูฐและทาส
มีรายงานว่ากลุ่มนักเดินทางเหล่านี้ส่วนใหญ่แต่งกายด้วยผ้าไหมเปอร์เซียและผ้ายกทองตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า รวมไปถึงพวกทาสด้วย ขณะที่ขบวนเดินทางมีอูฐประมาณ 100 ตัว ที่บรรทุกถุงทองคำบริสุทธิ์
การเดินทางของ สุลต่านมูซา และ ขบวนต้องผ่านทะเลทรายซาฮารา และอียิปต์จนไปถึงกรุงไคโรที่ซึ่งจักรพรรดิได้โปรยเงินสด และ ทองคำอย่างล้นเหลือ พระองค์ใช้ทองคำจำนวนมากจนทำให้เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นสั่นคลอนและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเป้นจำนวนมากเป็นเวลา 10 ปี หลังจากที่สิ้นพระชนม์
หลังจากที่ สุลต่านมูซาได้เดินทางกลับมาจากการแสวงบุญ พระองค์ได้ทำการฟื้นฟูเมืองต่างๆ ในอาณาจักร รวมไปถึงยังสร้างโรงเรียน ห้องสมุด และมัสยิด และทำให้ทิมบักตู เมืองแห่งหนึ่งในมาลีกลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและการศึกษา
สุลต่านมูซาได้สิ้นพระชนม์ในปีคริสต์ศักราช 1337 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 57 พรรษา และพระราชโอรสได้สืบราชสมบัติ แต่ในที่สุดจักรวรรดิก็ล่มสลาย
หากถามว่า สุลต่านมูซา นั้นร่ำรวยเพียงใด ก็ได้มีการประเมินว่ามูลค่าทรัพย์สินของพระองค์อยู่ที่ 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามเมื่อพิจารณาจากทองคำ เกลือ และที่ดิน นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าความมั่งคั่งของสุลต่านผู้นี้ “ร่ำรวยเกินกว่าที่ใครจะอธิบายได้”
เรียบเรียงจาก : SCMP