ย้อนดูฉลองพระองค์ทรงคุณค่าของควีนเอลิซาเบธ ในวโรกาสฉลองครองราชย์ 70 ปี

account_circle

นับเป็นอีกปีแห่งประวัติศาสตร์ สำหรับการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร หรือรู้จักกันในชื่อ Platinum Jubilee (แพลตินั่ม จูบิลี) สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะแพลตินั่มเป็นแร่ที่มีคุณค่าและราคาสูง จึงนำมาใช้เปรียบกับการครองบัลลังก์กว่าเจ็ดทศวรรษอันยาวนานที่สุดในประวัติราชวงศ์อังกฤษที่เป็นที่พูดถึงทั่วโลก ถือว่ายิ่งใหญ่ ควรค่าแก่การจารึก

ย้อนดูฉลองพระองค์ทรงคุณค่าของควีนเอลิซาเบธ ในวโรกาสฉลองครองราชย์ 70 ปี

โดยปกติแล้ว จูบิลี่ของอังกฤษที่นับว่ายาวนานมี Golden Jubilee (โกลเดน จูบิลี) สำหรับสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ที่มีกษัตริย์และราชินีเพียงบางพระองค์ได้เฉลิมฉลองมาบ้าง จากนั้นเป็น Diamond Jubilee (ไดมอนด์ จูบิลี) สำหรับ 60 ปี ที่มีสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เท่านั้นที่ทรงผ่านพิธีฉลอง และ Sapphire Jubilee (แซฟไฟร์ จูบิลี) สำหรับ 65 ปี จากนั้นจึงเป็นแพลตินั่ม ซึ่งผู้ที่ผ่านทั้งแซฟไฟร์และแพลตินั่มมีเพียงควีนเอลิซาเบธเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

ในโอกาสนี้ พระราชวังวินด์เซอร์จัดนิทรรศการแสดงของล้ำค่ามากมาย ซึ่งชิ้นที่เป็นไฮไลท์ของงานคือ เดรส ณ วันครองราชสมบัติ และเครื่องเพชรล้ำค่าอื่นๆ ของควีน ประกอบด้วย ต่างหู สร้อยคอ และเข็มกลัด แพรว จึงขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักว่า แต่ละชิ้นมีที่มาอย่างไร ทำไมจึงมีความสำคัญนัก

สำหรับเดรสองค์นี้ ใช้ในพิธีราชาภิเษกปี 1953 ออกแบบโดยช่างเสื้อชาวอังกฤษนามว่า นอร์แมน ฮาร์ตเนล ว่ากันว่าสนนราคาสูงถึงสามหมื่นปอนด์ ใช้เวลาตัดเย็บ 7 สัปดาห์ ลานตาด้วยงานปักจากลูกปัดแก้วสีทอง อัญมณีประดับและไข่มุก เนื้อผ้าคือไหมจากฟาร์มเลดี้ฮาร์ตไดค์ (Lady Hart Dyke’s silk farm) ที่ถูกส่งไปถักทอที่วอร์เนอร์แอนด์ซันส์ (Warner & Sons) เดิมชุดออกแบบเป็นสีเงินล้วน แต่พระองค์ท่านอยากให้มีสีสันมากขึ้น รวมถึงทรงต้องการให้เพิ่มการปักตราลายดอกไม้อันแสดงถึงเครือประเทศภายในจักรภพอังกฤษทั้งหมด 7 แห่ง ให้ครบ จากเดิมที่ฮาร์ตเนลออกแบบไว้ 4 ตรา

นอกจากนี้ ยังจัดผ้าคลุมเข้าชุดกัน มีสีม่วงเข้ม มีขนเออร์มินปิดขอบผ้าและทำเป็นผ้าคลุมไหล่ งานปักด้วยด้ายสีทองบนผ้าเป็นลวดลายที่สื่อถึงประเทศเครือจักรภพเช่นเดียวกับเดรส ตัวด้ายทองนั้นใช้ชนิดต่างกันถึง 18 แบบ และใช้เวลาปักเย็บกว่า 3,500 ชั่วโมง โดยอีด แอนด์ เรเวนสครอฟต์ (Ede & Ravenscroft) มีขนาดยาวถึง 6.5 เมตร

ขณะเดียวกันยังจัดแสดงต่างหูกับสร้อยคอที่ใช้เพชรถึง 28 เม็ด และมีประวัติอันยาวนาน สืบทอดต่อกันมาในราชวงศ์นับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย รังสรรค์โดยการ์ราร์ด (Garrard & Co.)

เครื่องประดับอีกชุดภายในนิทรรศการคือ เข็มกลัดทั้ง 4 แบบที่ดีไซน์แสดงถึงประเทศทั้ง 4 ในสหราชอาณาจักร ทั้งหมดทำจากทองประดับด้วยเพชร สำหรับอังกฤษคือ ช่อดอกกุหลาบจากเพชรสีขาวและชมพู เวลส์คือ ช่อดอกแดฟโฟดิลทำด้วยเพชรสีเหลืองและขาว สก็อตแลนด์คือเพชรขาวประดับเป็นรูปต้นธิสเซิล และสุดท้ายคือ พืชแชมร็อกประจำไอร์แลนด์ทำจากเพชรและมรกต

งานทุกชิ้นประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตและสวมใส่โดยบุคคลสำคัญของโลกจึงมีความหมายทั้งด้านประวัติศาสตร์และถือเป็นมรดกล้ำค่าของวงการแฟชั่น


รูป : IG @theroyalfamily

ที่มา : express.co.uk

Praew Recommend

keyboard_arrow_up