ความหมายของ ‘เบญจราชกกุธภัณฑ์’ เครื่องแสดงพระอิสริยศักดิ์ แห่งพระมหากษัตริย์

เครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่มักจะได้เห็นในพระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณี รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเป็นการแสดงพระอิสริยศักดิ์ของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จวบจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ในบางรัชกาลกลับมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์มากกว่า 5 สิ่ง เช่น ในรัชกาลที่ 2 ปรากฏว่ามีอยู่ 7 สิ่ง ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ,พระขรรค์,ฉลองพระบาท ,ธารพระกร,ฉัตร,วาลวิชนี (พัดกับแซ้จามรี) และพระแสงดาบ ส่วนในรัชกาลที่ 7 มีอยู่ 5 สิ่ง คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ,พระแสงขรรค์ชัยศรี,ฉลองพระบาท,ธารพระกร และวาลวิชนี โดยยังคงใช้มาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 9

พระมหาพิชัยมงกุฎ

เป็นเครื่องมงคลสิริเบญจกกุธภัณฑ์ ประเภทเครื่องราชศิราภรณ์ โโยพระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากทรงรับพระปรมาภิไธยและทรงรับที่จะดำรงราชสมบัติ

ทั้งนี้พระมหาพิชัยมงกุฎที่นำมาเป็นภาพตัวอย่างให้ดูนั้น สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ประดิษฐ์ดุนลายต่อเติมเป็นลายรักร้อย มีดอกประจำยามทั้งสี่ด้านทุกชั้น เกี้ยวแต่ละชั้นประดับด้วยดอกไม้ไหวทองคำฝังเพชรและกรรเจียกจรประดับเพชรซ้ายขวา ระหว่างเกี้ยวแต่ละชั้นวางกระจังตาอ้อยเรียงซ้อนกันห้าชั้น เกี้ยวบนสุดเป็นยอดรูปปลีบัวแวง มีมาลัยลูกแก้วคั่นบัวกลุ่มสามชั้น ยอดสุดเดิมเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ร้อยด้วยเพชรเล็กๆ แต่ภายหลังรัชกาลที่ 4 โปรดให้หาซื้อเพชรจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย มาประดับแทน และพระาชทานนามว่า “พระมหาวิเชียรมณี” และประดับระย้ารูปใบโพโดยรอบ รวมน้ำหนักทองคำทั้งสิ้น 7.3 กิโลกรัม ความสูงรวมยอด 66 ซม. สื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นยอดแห่งความเคารพอย่างสูง

พระแสงขรรค์ชัยศรี

เป็นเครื่องมงคลสิริเบญจกกุธภัณฑ์ ประเภทเครื่องราชศัสตรา โดยพระมหาราชครูเป็นผู้ทูลถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อจากพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรีจัดเป็นพระแสงราชศัสตราวุธ อันเป็นของใช้สำหรับพระมหากาัตริย์ มีลักษณะคล้ายดาบยาวคมทั้งสองข้าง

ธารพระกร

เป็นเครื่องมงคลสิริเบญจกกุธภัณฑ์ จะถูกถวายต่อจากพระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรนี้ทำจากไม้ชัยพฤกษ์หุ้มด้วยทองคำเกลี้ยง ส่วนศีรษะทำเป็นหัวเม็ดทรงบัวอ่อน เถลิงคอทำด้วยเหล็กคร่ำทองเป็นลายก้านเย่งดอกใน ประกอบแม่ลายขนาบทั้งล่างและบน ส่วนสันล้อมสามขาด้วยเหล็กกล้าคร่ำทอง

วาลวิชนี

เป็นเครื่องมงคลสิริเบญจกกุธภัณฑ์ที่จะถูกถวายเป็นลำดับถัดมาต่อจากธารพระกร ประกอบด้วย พัดวาลวิชนี ทำด้วยใบตาลขลิบทองหุ้มขอบ ด้ามและนมพัดทำด้วยทองคำเพลาลายลงยาราชาวดีประดับด้วยรัตนชาติ ส่วนพระแส้จามรีทำด้วยด้วยขนหางจามรี ด้ามเป็นแก้ว จงกลรัดโคนแส้และส้นทำด้วยทองคำเพลาลาย ลงยาราชาวดีประดับด้วยรัตนชาติ

ฉลองพระบาทเชิงงอน

เป็นเครื่องมงคลสิริเบญจกกุธภัณฑ์ ประเภทเครื่องที่จะถูกถวายสุดท้ายในส่วนของเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับด้วยรัตนชาติ ด้านในทั้งสององค์บุด้วยสัดหลาดสีแดง

สำหรับการใช้เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น ยังได้มีการบันทึกโดยปรากฏตามลำดับรัชกาลต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ดังเช่นในรัชกาลที่ 1 -4 ดังนี้

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

“พระมหาราชครูพิธีอ่านพระเวทสรรเสริญไกรลาศแล้ว ถวายพระสุพรรณบัฏเบญจราชกกุธภัณฑ์คือ พระมหามงกุฎ,พระแสงขรรค์,ธารพระกร,พัดวาลวิชนี ฉลองพระบาท แล้วถวายพระแสงอัษฎาวุธ…” กล่าวกันว่าในการถวายพระมหาพิชัยมงกุฎนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ายอยู่หัวทรงรับจากพระมหาราชครูแล้ว ทรงส่งให้เจ้าพนักงานโดยมิได้ทรงสวมมงกุฎ (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์,พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1)

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

“พระมาหราชครูพราหมณ์โตรคาจารย์ถวายพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งพระแสงขรรค์,พระแสงอัษฎาวุธ,เครื่องสรรพยุทธ์ทั้งปวงตามเยี่ยงอย่างพระราชพิธี…” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์,พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2)

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

“…แล้วเสด็จมาพระที่นั่งภัทรบิฐ รับพระสุพรรณบัฏและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เจษฎาวุธเสร็จแล้วเสด็จขึ้นพระมหามณเฑียร…” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์,พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 )

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“พระมาหราชครูถวายพระสุพรรณบัฏ,พระมหาพิไชยมงกุฏ,พระมหาสังวาล ทรงรับมาสวมสอดทรงในพระองค์ แล้วพระมหาราชครูถวายธารพระกรกับพระแสงขรรค์ ทรงรับธารพระกรพาดเบื้องขวา พระแสงพาดเบื้องซ้าย แล้วทรงรับพระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ราชูโภค ประกอบด้วยลักษณุเวทอิศวรมนตร์ ทั้งนี้ทรงรับแล้ว แต่ฉลองพระบาท พระมหาราชครูมาสอดทรงถวาย…” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5)

ทั้งนี้การถวายสิริราชสมบัติและเครื่องเบญราชกกุธภัณฑ์แล้วเสร็จ จึงจะมีพระราชดำรัสเป็นพระปฐมบรมราชโองการในข้อความอย่างเดียวกันทุกรัชกาลว่า “พรรณพฤกษ์ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด” ซึ่งในรัชกาลถัดมาก็โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันตามโบราณราชประเพณีจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา :

หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ โดย กรมศิลปากร สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หนังสือ เครื่องราชภัณฑ์ ผู้เขียน วิทย์ พิณคันเงิน

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up