5 เหตุการณ์เดือนตุลาฯ แห่งความทรงจำ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มหาราชแห่งแผ่นดิน

5 เหตุการณ์เดือนตุลาฯ แห่งความทรงจำ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มหาราชแห่งแผ่นดิน… นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเมื่อปี พ.ศ. 2559 ความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติก็ไม่เหมือนเดิม และคงเป็นเดือนแห่งความทรงจำที่ทุกคนระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งอย่าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

อีกทั้งจะเป็นความบังเอิญหรือชะตาลิขิตก็คงไม่มีใครสามารถตอบได้ เพราะนับตั้งแต่ที่พระองค์ทรงดำรงสถานะพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับพระองค์ในเดือนตุลาคม ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูกจารึกไว้ในพระราชประวัติของพระองค์ และประวัติศาสตร์ของไทยด้วย

 

3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์

ในระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังเมืองโลซานน์ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด

 

 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ทรงผนวช

หลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้นพระองค์เสด็จฯไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

โดยระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ อีกด้วย

 

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทรงระงับเหตุความรุนแรงทางการเมือง

ในตลอดรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอยู่หลายครั้ง ซึ่งแม้พระองค์ทรงดำรงสถานะของการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ตาม แต่เมื่อใดที่ความรุนแรงเกิดขึ้นจนทำให้ประชาชนต้องบาดเจ็บ พระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาช่วยบรรเทาและระงับให้เหตุการณ์สงบลง อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งทางสถานีโทรทัศน์ว่า

“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 7-8 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากันจนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทําความตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทําให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด

“อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อคณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”
นับว่าการระงับเหตุการณ์ครั้งนั้นอาศัยพระบุญญาธิการของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยแท้ มิฉะนั้นแล้วเหตุการณ์คงลุกลามมากขึ้น เพราะการต่อสู้ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว มีการทําลายสถานที่ราชการและทรัพย์สินต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่ง

13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เสด็จสวรรคต

ภาพจากเพจคุณ “ณัชร สยามวาลา Nash Siamwalla, PhD”
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันที่คนไทยทั้งชาติน้ำตาท่วมแผ่นดิน เมื่อทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ ซึ่งในห้วงเวลานั้นก็เกิดเหตุอัศจรรย์ท้องฟ้าเปิดเหนือโรงพยาบาลศิริราช และในขณะเดียวกันในช่วงค่ำไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ก็เกิดเหตุอัศจรรย์บนฟากฟ้าที่เรียกว่า “หมอกธุมเกตุ” ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์เช่นนี้เคยมีบันทึกไว้ว่าเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยทุกคนอยากให้มาถึงช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งนับตั้งแต่พระองค์เสด็จสวรรคต ทางกรมศิลปากรและหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายในการจัดสร้างพระเมรุมาศก็เร่งทำงานกันอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงมีความสมบูรณ์และสมพระเกียรติมากที่สุด โดยพระเมรุมาศที่จัดสร้างขึ้นนี้สูงเทียบเท่าตึก 17 ชั้น ทั้งยังมีรายละเอียดอย่างมาก (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ที่นี่) นับว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญที่คนไทยทุกคนได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up