๗ ราชาศัพท์ที่มักใช้ผิด ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

หลายคนอาจจะยังมีความสับสนกับการใช้คำราชาศัพท์ให้เหมาะสมในช่วงของการเฉลิมฉลองในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 นี้ แพรวดอทคอม จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์ในช่วงนี้มาฝากกัน

ที่ผ่านมาการใช้คำราชาศัพท์อาจจะยังมีความสับสนอยู่บ้าง ยิ่งในช่วงใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2560 ก็ยังมีการใช้คำราชาศัพท์ที่ผิดหลักอยู่ไม่น้อย ดังเช่น 7 คำราชาศัพท์ดังต่อไปนี้

1. การขานพระนาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ต้องอ่านว่า (สม-เด็ด-พระ-เจ้า-อยู่-หัว-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-บอ-ดิน-ทระ-เทบ-พะ-ยะ-วะ-ราง-กูน)

2. ต้องใช้ “เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา” ไม่ใช่ “เนื่องในวโรกาส…” คำว่า วโรกาส ใช้ต่อเมื่อขอโอกาส แล้วได้รับโอกาส เช่น “พระราชทานพระราชวโรกาส”

3. ต้องใช้ “พระชนมพรรษา…พรรษา” (พระ-ชน-มะ-พัน-สา) ไม่ใช่ “พระชนมายุ…พรรษา” คำที่ถูกต้อง เช่น “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน”

4. ต้องใช้คำว่า “ถวายพระพรชัยมงคล” ไม่ใช่ “ถวายพระพร” เพราะคำว่า “ถวายพระพร” เป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับพระราชวงศ์ ฉะนั้นสามัญชนต้องใช้ว่า “ถวายพระพรชัยมงคล” เว้นแต่การลงนามจึงใช้ว่า “ลงนามถวายพระพร”

5. คำลงท้ายเมื่อถวายพระพรชัยมงคลใช้ว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” เพียงเท่านี้ ระหว่างนี้เห็นหลายหน่วยงานขึ้นคัตเอ๊าต์ถวายพระพรชัยมงคลโดยลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” ซึ่งเป็นการใช้ผิด เพราะจะเติม “ขอเดชะ” ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว และเมื่อนั้นจะใช้คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

6. ต้องใช้คำว่า “แสดงความจงรักภักดี” อย่าใช้ผิดเป็น “ถวายความจงรักภักดี” การใช้คำว่า “ถวายความจงรักภักดี” เป็นการใช้คำผิด ที่ถูกต้องใช้คำว่า “เพื่อแสดงความจงรักภักดี” หรือ “เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดี” ควรทราบว่า “ความจงรักภักดี” จะนำมาถวายกันไม่ได้ หรือยกให้กันไม่ได้ เพราะเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคล เป็นนามธรรม

7. ภาพถ่ายต้องใช้ราชาศัพท์ว่า “พระบรมฉายาลักษณ์” ไม่ใช่ “พระฉายาลักษณ์”

 

ข้อมูล : FB@Noppadol Thongkham

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up