3 เวทีจัดแสดงมหรสพสมโภชสุดยิ่งใหญ่ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิง

นับตั้งแต่การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แม้ว่าจะนำความโศกเศร้ามายังคนไทยอย่างมาก แต่ทุกคนต่างก็พยายามปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพกันอย่างเต็มที่ ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพระราชพิธีสำคัญนี้ก็คือการแสดงมหรสพสมโภช เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

จากการเปิดเผยของนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เล่าถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดแสดงมหรสพสมโภชในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ว่า จะมีการแบ่งการแสดงมหรสพออกเป็น 3 เวที ได้แก่

  • เวทีโขน
  • เวทีละคร
  • เวทีดนตรีสากล

โดยเวทีแรกนั้นจะเป็นการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนรามาวตารจนถึงตอนยกรบ นอกจากนี้จะมีการแสดงหนังใหญ่ในเวทีเดียวกันด้วย ส่วนเรื่องผู้แสดงนั้นจะเป็นนักแสดงจากกรมศิลปากร สำนักการสังคีต, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ

ในส่วนของเวทีละครจะมีการจัดแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องพระมหาชนก ประกอบกับการแสดงอื่นๆ ที่จะมีมาเพิ่มอย่างสมพระเกียรติ และในเวทีถัดมาจะเป็นส่วนของการจัดแสดงดนตรีสากล ซึ่งเป็นศิลปะอีกแขนงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรด โดยได้วงดนตรีจากกรมศิลปากร, วงดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา รวมถึงวงดนตรี 4 เหล่าทัพ ที่จะมาร่วมบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ต่างๆ ให้กึกก้องทั่วท้องสนามหลวง

สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ถือเป็นอีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญที่มีแห่งเดียวในโลกที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ และเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีคุณูปการในด้านศิลปวัฒนธรรมของไทย ทรงเป็นอัครศิลปินในทุกด้านโดยแท้ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์

ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดของการชมมหรสพแต่ละเวทีได้ดังนี้

การแสดงมหรสพสมโภช ฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 ณ เวทีกลางแจ้งบริเวณมณฑล     พิธีท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ มีทั้งหมด 3 เวที ประกอบด้วย
เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระและการแสดงโขนรามเกียรติ์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนแรก การแสดงหนังใหญ่ชุดจับลิงหัวค่ำ ส่วนที่ 2 การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ  ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร ส่วนที่ 3 การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปชีพ
เวทีที่ 2 การแสดงละครหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก ประกอบละครเรื่องพระมหาชนก แสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครในเรื่องอิเหนาตอนบุษบาชมศาล-อิเหนาตัดดอกไม้-ฉายกริช-ท้าวดาหาบวงสรวง ละครเรื่องมโนห์รา
เวทีที่ 3 เป็นการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ซึ่งเป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพลงเทิดพระเกียรติ    บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น เพื่อถวายอาลัยและบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองค์ โดย ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดงจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ การแสดงทุกเวทีจะเริ่มการแสดงในเวลา 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

 

ข้อมูล/ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์ http://www.prd.go.th/ewt_news.php?nid=172910&filename=prd

Praew Recommend

keyboard_arrow_up