3 ช่างภาพดัง เปิดตำนานครั้งใหม่กับ “Leica M11” ในธีม “ Legacy of Leica”

account_circle

คุ้มค่าแก่การรอคอยถึง 5 ปีเต็ม!  เปิดศักราชใหม่ปีเสือด้วยการเผยโฉมกล้องไลก้าตระกูล M รุ่นใหม่ล่าสุด “Leica M11” (ไลก้า เอ็ม 11) ราคา 303,800 บาท ที่พัฒนาต่อยอดฟังก์ชั่นใหม่หมดจากรุ่นยอดนิยม Leica M10 

3 ช่างภาพดัง เปิดตำนานครั้งใหม่กับ “Leica M11” ในธีม “ Legacy of Leica”

ด้วยนวัตกรรมการถ่ายภาพสุดล้ำ ผสมผสานประสบการณ์ของการถ่ายภาพดั้งเดิมแบบเรนจ์ไฟน์เดอร์เข้ากับเทคโนโลยีกล้องร่วมสมัย เพื่อให้ผู้รักการถ่ายภาพได้สัมผัสกับที่สุดของความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพจากเซ็นเซอร์แบบเฉพาะที่มี Triple Resolution พร้อมช่วง ISO ที่กว้างขึ้น หน่วยความจำคู่ อีกทั้งแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานกว่า และระบบเมนูที่ปรับเปลี่ยนใหม่ให้เข้าใจง่ายโดนใจคนรักการถ่ายภาพ พร้อมชวนเซียนกล้องระดับแถวหน้าของเมืองไทยในฐานะ “ไลก้า ไทยแลนด์ แอมบาสเดอร์” นำโดย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, “แอ๊ด” พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ และ “ชัช” ชัชวาล จันทโชติบุตร ร่วมสัมผัสความล้ำสมัย รังสรรค์ภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสุดประทับใจ ภายใต้โจทย์  Legacy of Leica” ผ่าน ไลก้า เอ็ม 11 ในแบบฉบับของตัวเอง

 ไลก้า เอ็ม 11 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการถ่ายภาพดิจิทัล และยังเป็นกล้อง M-System ที่ยืดหยุ่นที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Leica อีกด้วย โดยจุดเด่นที่เป็นหัวใจของกล้องรุ่นนี้ คือเซ็นเซอร์ BSI CMOS แบบฟูลเฟรมที่มาพร้อมเทคโนโลยี Triple Resolution ทำให้สามารถบันทึกไฟล์ภาพในรูปแบบ DNG และ JPEG ได้ที่ความละเอียด 60, 36 หรือ 18 ล้านพิกเซล โดยใช้เซ็นเซอร์เต็มพื้นที่ตลอดเวลา ตัวเลือกความละเอียดที่ 60 ล้านพิกเซล ให้คุณภาพของภาพในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และเก็บบันทึกรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนโดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบออปติกของเลนส์ APO ล่าสุดจาก Leica สำหรับ M-System และหากเลือกความละเอียดที่ต่ำลงมา กล้องจะสามารถทำงานได้เร็วขึ้น ถ่ายภาพรัวต่อเนื่องได้นานขึ้น และทำให้ไฟล์มีขนาดเล็กลง

อีกสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปใน M11 คือการตั้งใจถอด Base plate กล้องที่เคยมีมาแต่เดิมออก เพื่อให้ช่างภาพสามารถเข้าถึงแบตเตอรี่และช่องใส่การ์ด SD ได้ง่าย และนอกเหนือจากช่องใส่การ์ด SD แล้ว ไลก้า เอ็ม 11 ยังมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในความจุสูงถึง 64 กิกะไบต์ ทำให้ M11 เป็นกล้องโมเดล M รุ่นแรกที่บันทึกภาพลงบนสื่อจัดเก็บข้อมูลที่ต่างกันสองชนิดได้ ส่วนแบตเตอรี่ 1800mAh นั้นเก็บพลังงานได้มากขึ้น 64% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า

ซึ่งเมื่อรวมกับการทำงานที่ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้นของกล้องรุ่นนี้แล้ว ช่างภาพจึงสามารถใช้กล้องต่อเนื่องได้นานขึ้นมากต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และยังสามารถชาร์จแบตเตอรี่ของกล้องผ่านพอร์ต USB-C อเนกประสงค์ที่เพิ่มมาใหม่ได้โดยใช้ที่ชาร์จ USB-C ทั่วไป

และเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายทุกการเชื่อมต่อ ไลก้า เอ็ม 11 จะได้รับการอัปเกรดคุณสมบัติด้านการเชื่อมต่อผ่านเฟิร์มแวร์ใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เพื่อเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ในการเชื่อมต่ออันล้ำสมัยให้กับ M11 และยกระดับเวิร์กโฟลว์การทำงานผ่านอุปกรณ์พกพาของช่างภาพให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้แอป Leica FOTOS สามารถฝังข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง เข้าถึงภาพผ่านการเชื่อมต่อบลูทูธ และถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วขึ้นด้วย ที่สำคัญ ไลก้า เอ็ม 11 ยังผ่านการรับรองอุปกรณ์เสริม “Made for iPhone and iPad” ของ Apple แล้ว จึงสามารถใช้งานผ่านสาย Leica FOTOS ที่มีมาให้ได้ในแบบที่ไม่เหมือนใคร

มาฟังประสบการณ์ของเหล่า ไลก้า ไทยแลนด์ แอมบาสเดอร์ ที่มีโอกาสได้สัมผัสและลั่นชัตเตอร์ ไลก้า เอ็ม 11 ก่อนใคร เริ่มจากเซียนถ่ายภาพขาวดำ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า ด้วยความละเอียดของกล้องที่สูงถึง 60 ล้านพิกเซล ที่สำคัญเป็นเลนส์ High-Solution จึงสามารถปรับลดทอนได้ถึง 3 ระยะ ทำให้ภาพมีความคมชัดยิ่งขึ้น เป็นการดึงศักยภาพที่แท้จริงของกล้องและเลนส์ออกมา ตอบโจทย์ในการนำไปใช้งานรูปแบบต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง

 “ภาพเซตนี้ถ่ายที่เกาะยาวน้อย ภูเก็ต เป็นชุมชนชาวประมง ขณะเด็กๆ กำลังเล่นน้ำ ยิ่งขยายเข้าไปดูหรือพริ้นซ์ออกมายิ่งเห็นรายละเอียด แต่ละภาพมีทั้งรูปที่เบลอ ไม่โฟกัส มีความบิด กระทั่งสปีดชัตเตอร์ต่ำที่เผยให้เห็นเม็ดน้ำที่กระเด็นกระจายรอบตัวเด็ก ไลก้าเป็นเลนส์ไวแสงที่แอคทีฟกับไฮไลท์ของภาพเสมอ ถึงพูดกันว่าเลนส์ไลก้าเวลาถ่ายคนจะดูมีชีวิตมากกว่าเลนส์อื่นๆ แม้กระทั่งประกายตาซึ่งเล็กมากๆ ก็เก็บได้ ผมจึงเลือกถ่ายคนหรือสิ่งมีชีวิตแล้วมองย้อนกลับไปถึงรุ่น M3 ที่เป็นออริจินัลของแบรนด์ ที่บ่อยครั้งมักถูกใช้เล่าภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ  และด้วยสปีดชัตเตอร์ของกล้องที่สามารถปรับได้สูงถึง 160,000 จึงเป็นไลก้าตัวแรกที่สามารถถ่ายในสภาพแสงเดย์ไลท์

และผมเลือกช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก เพราะอยากโชว์ศักยภาพกล้องหลายๆ อย่าง โดยดัน ISO ขึ้นไปสูงมากๆ ทำให้ภาพแทบไม่เห็น Noise ของภาพเลย ซึ่งเซอร์ไพรส์มากๆ เพราะปกติกล้องที่พิกเซลสูงๆ จะมาพร้อมกับ Noise ที่สูงมากเช่นกัน ปกติกล้องหลักของผมคือไลก้า MP 240 M10 R แล้วก็ SL เมื่อเทียบกับ M11 ความละเอียดคนละจักรวาลเลย เลยรู้สึกว้าวและประทับใจมาก ถ้าอยากเลือกกล้องสักตัวที่จะใช้บันทึกความทรงจำ หรือสิ่งที่อยากให้อยู่ในความทรงจำกับเรา นี่คือกล้องที่ดีที่สุด และนั่นคือนิยามของ Legacy of Leica” ช่างภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทย เน้นย้ำ

เช่นเดียวกับช่างภาพหนุ่มผู้หลงใหลธรรมชาติ “ชัช” ชัชวาล จันทโชติบุตร เลือกสะท้อนเลนส์คมของ ไลก้า เอ็ม 11 ผ่านภาพขาวดำที่เต็มไปด้วยมิติของเงาสะท้อนบนผืนน้ำ ด้วยตั้งใจสื่อถึงจุดเริ่มต้นของไลก้าในมุมมองขาวดำขณะที่ฟิล์มสียังไม่ถูกค้นพบมาใช้งาน โดยเขาเล่าว่า พยายามตีโจทย์ที่ได้รับมา ซึ่งในความเป็นไลก้านั้นสามารถตีความได้หลายมิติ ทั้งในเรื่องของตัวกล้อง ตำนานของคนที่นำไปใช้ รวมถึงเรื่องราวที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดความเป็นไลก้าผ่าน ไลก้า เอ็ม 11 ได้ดีที่สุด

“ผมชอบอยู่กับธรรมชาติ เลยนำสิ่งนี้มาตีความ ตอนอยู่ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ได้ไปเจอซีนหนึ่งเป็นกิ่งก้านไม้แห้งตายและพืชน้ำในทะเลสาบ ทำให้นึกถึงภาพหนึ่งของ René Burri ช่างภาพชาวสวิสเซอร์แลนด์ชื่อ Former Summer Palace. Dead Lotus Flowers on Kunming Lake. Bejing, ที่ประเทศจีน ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1964 ช่างภาพคนนี้ถ่ายภาพด้วยกล้องไลก้ามาตลอด ภาพชุดนี้ของผมจึงตอบโจทย์ในสองมิติ

อย่างแรกพูดถึงตัวกล้องซึ่งเงาสะท้อนอันหนึ่งสื่อถึงไลก้าในอดีต ส่วนเงาสะท้อนอีกอันสื่อถึงไลก้า เอ็ม บางจุดที่น้ำกระเพื่อมก็เกิดความบิดเบี้ยว ผมพยายามสื่อออกมาในแง่มิติที่เป็นตำนานของไลก้ามากกว่าเรื่องกลไกเทคนิคการถ่ายภาพ” ช่างภาพหนุ่ม กล่าว

 ขณะที่เจ้าของฉายา “ADD CANDID”  “แอ๊ด” พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ ที่เลือกสะท้อนมุมมองภาพถ่ายผ่านสถาปัตยกรรมไทยที่เต็มไปด้วยสีสันสะดุดตา กล่าวว่า เสน่ห์ของ ไลก้า เอ็ม 11 นอกจากรูปลักษณ์หน้าตาที่ยังคงความเป็นไลก้า ขนาดเล็กเหมาะมือแล้ว ยังอยู่ที่ปุ่มฟังก์ชั่นพิเศษช่วยให้การซูมดูภาพได้ง่ายและชัดเจนขึ้น และสามารถปรับแต่งภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงได้โดยสะดวก ซึ่งกล้องบางตัวมีข้อจำกัดในเรื่องนี้

“รุ่นนี้ไม่ต้องพกพาแบตเตอรี่ไปด้วยหลายๆ ก้อน สามารถใช้งานได้ยาวกว่ารุ่นเอ็ม 10 พอสมควร นอกจากนี้การมีความจุมากถึง 64 กิกะไบต์ ก็มีประโยชน์มากเวลาที่เราเพลิดเพลินในการถ่ายภาพแล้วการ์ดอาจจะเต็มโดยไม่รู้ตัว ถือเป็นอีกหนึ่งความพิเศษ สำหรับโจทย์ถ่ายภาพที่ได้รับมาในเรื่องของความเป็นตำนานนั้น ผมนำมาตีโจทย์ต่อว่า ศิลปะมีความยืนยาว ต่อเนื่อง และสืบทอด อย่างกรุงเทพฯ อะไรคือแรงบันดาลใจตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสีและความอ่อนช้อยถือเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะไทย ผมเลือกใช้เลนส์อาร์มาใส่ในบอร์ดี้เอ็ม เก็บภาพบรรยากาศความเป็นรัตนโกสินทร์ในแบบที่ตัวเองชอบ

อย่างในวัดพระแก้วผมชอบศิลปะการประดับกระจกซึ่งภาพที่สะท้อนผ่านกระจกสวยงามแปลกตาดี สื่อสารความเป็นอดีตในมุมมองปัจจุบันได้โดยไม่บอกตรงๆ หรืออย่างภาพวัดอรุณถ่ายผ่านซี่กรงรั้วก็เป็นมุมมองส่วนตัว ผมว่าการถ่ายภาพวัดสามารถเป็นได้ทั้งความคลาสสิกและภาพในมุมมองส่วนตัวในแบบร่วมสมัย” เจ้าของฉายา ADD CANDID กล่าวทิ้งท้าย


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up