คาร์เทียร์ วินเทจ และ Crash ราชาแห่งเรือนเวลาประดับเพชร ไอคอนิคสุดคลาสสิค
Lotus Arts de Vivre (โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์) แบรนด์จิวเวลรี่และของตกแต่งบ้านระดับโลกที่รวบรวมผลงานมาสเตอร์พีซโดยช่างฝีมือชั้นสูง พาเหล่าคาร์เทียร์เลิฟเวอร์และนักสะสมของวินเทจชาวไทยไปพบกับ นิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์เรือนเวลาซีรี่ย์ที่สาม ในชื่อ Lotus Arts de Vivre x Obsidian Objets d’Art : WOMEN are FOREVER – A vintage Cartier Collection หนึ่งในนิทรรศการห้ามพลาดประจำปีที่รวบรวมเรือนเวลาสุภาพสตรีระดับตำนานจากทั่วทุกมุมโลกที่หาชมได้ยากกว่า 34 เรือน
พร้อมด้วย มร.แฮรี่ เฟน และ ฟรานเชสกา คาร์เทียร์ บริคเคล ทายาทคาร์เทียร์รุ่นที่ 6 และนักเขียนเจ้าของผลงาน The Cartiers: The Untold Story of the Family Behind the Jewelry Empire ที่จะมาเผยเบื้องหลังเกี่ยวกับ คาร์เทียร์ แฟมิลี่ และถ่ายทอดเรื่องราวของ คาาร์เทียร์วินเทจ ในแง่มุมของผู้หญิงที่คุณอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน
ช่วงศตวรรษที่ 20 ถือเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก คงไม่มีใครคาดคิดว่าตอนปี 1900 ช่วงเวลาที่โลกไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือรถยนต์ แต่อีก 100 ปีต่อมากลับเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปรากฏการณ์ขั้นสุดในหลาย ๆ ด้าน โดยหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นภูมิทัศน์วงการแฟชั่นของเหล่าสุภาพสตรีที่หลุดพ้นจากพันธนาการและค่านิยมในแบบดั้งเดิม เช่นเมื่อคุณหวนคิดถึงวงการแฟชั่นในปี 1900 ดีไซน์ในยุคนั้นมักมาในรูปแบบกระโปรงยาวเข้ารูป เน้นเรือนร่างและปิดถึงช่วงคอ ก่อนเข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ทางการออกแบบในปี 1920 เมื่ออิทธิพลของแบรนด์ Chanel มอบอิสรภาพและปรับเปลี่ยนดีไซน์เครื่องแต่งกายให้สาว ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ปัจจุบันแฟชั่นเต็มไปด้วยความหลากหลาย บ้างก็นำมาตีความใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่เชื่อหรือไม่? สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนนับตั้งแต่วันแรก ๆ ของศตวรรษที่ 20 ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 นั่นก็คือ สุภาพสตรีมักสวมใส่นาฬิกาข้อมือเสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงในยุคก่อนมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาด แม้แค่เหลือบมองดูเวลาบนข้อมือก็ตาม
กิมมิคของนิทรรศการครั้งนี้จึงต่างไปจาก 2 ครั้งก่อนเล็กน้อย โดยโฟกัสไปที่เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20 ผ่านเรือนเวลาสุภาพสตรี ที่สร้างสรรค์โดยแบรนด์เครื่องประดับระดับตำนานอย่าง Cartier ลองจินตนาการดูว่า มันน่าตื่นเต้นแค่ไหนที่คุณจะได้สัมผัสมุมมองด้านแฟชั่นบนเรือนเวลาผ่านสายตาของ “ผู้ผลิตเครื่องประดับให้ราชา และเป็นราชาแห่งเครื่องประดับ”
โดยช่วงแรกเราจะพาคุณไปสำรวจนาฬิกาข้อมือประดับเพชรของช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เรื่อยมา จนถึงช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวยุค 1915-1930 ซึ่งถือเป็นยุคทองแห่งการสวมใส่เครื่องประดับเลยก็ว่าได้ – ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าแม้จะมีผู้ผลิตเครื่องประดับสวยหรู ราคาแพงมากขึ้นกว่ายุคก่อน แต่กลับเป็นเรื่องยากมากที่จะเห็นผู้คนเฉิดฉายด้วยเครื่องประดับเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่กรอบของสังคมในยุค 1920 และ 1930 กลับสวนกระแส เพราะหากคุณไม่มีเครื่องประดับติดตัวสักชิ้น อาจตีความได้ตรงตัวว่า คุณยังไม่พร้อมออกจากบ้าน หรือ เข้าร่วมสังคม
ซึ่งภายในนิทรรศการ เรือนเวลาที่นำมาจัดแสดงในช่วงยุคดังกล่าวมีครอบคลุมกว่า 14 แบบ ตั้งแต่เรือนเวลาขนาดจิ๋ว ไปจนถึงนาฬิกาข้อมือไซส์ใหญ่ล้อมรอบด้วยเพชร หรือแม้แต่จับคู่ตัวเรือนกับสายรัดข้อมือไข่มุก นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องการสะท้อนให้เห็นก็คือ จินตนาการของนักออกแบบในการสร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละชิ้นช่างแฝงไปด้วยเรื่องราวอันแสนพิเศษเหลือเกิน
และนี่คือ 8 ชิ้นเด่น พร้อมด้วย Crash ราชาแห่งเรือนเวลาประดับเพชรที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน
1.Diamond Set Wristwatch, 1920 (B.8897)
นาฬิกาข้อมือประดับเพชรปี ค.ศ 1920 โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่โค้งมนพร้อมตัวเรือนสี่เหลี่ยมแบบโปร่งประดับเพชรโรสคัท ขาตัวเรือนมาในดีไซน์ฉลุพร้อมกับหัวเข็มขัดแบบบานพับประดับเพชรดั้งเดิม ที่สำคัญมาพร้อมกลไกไขลานที่บางมากและเคสที่ออกแบบให้สวมใส่สบาย เรียกได้ว่าเป็นโมเดลที่ดึงดูดความสนใจของเหล่าสุภาพสตรียุคนั้นได้ไม่ยาก เพราะหลอมรวมความหรูหรา ประณีต และมีดีไซน์ ไว้ในเรือนเดียว
2.Cartier Diamond and Natural Pearl Lady’s Wristwatch, 1919 (B.8995)
แม้ขนบแบบดั้งเดิม ผู้หญิงไม่สามารถแม้แต่ชำเลืองมองดูนาฬิกาข้อมือของพวกเธอได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เสียมารยาท แต่การวางตำแหน่งหน้าปัดเข็มนาฬิกาเยื้องศูนย์ของเรือนเวลารุ่นนี้ กลับทำให้สาว ๆ หลายคนบอกเวลาได้ทันทีเพียงแค่เหลือบตามองผ่านอย่างรวดเร็ว โดยโมเดลที่นำมาจัดแสดงถือเป็นหนึ่งในนาฬิกาข้อมือประดับเพชรที่ยอดเยี่ยมและหายากที่สุดของ คาร์เทียร์ ในยุค ค.ศ. 1920 มาในดีไซน์หน้าปัดโปร่ง ทรงรูปไข่ เข็มนาฬิกาแบบเยื้องศูนย์ ประดับรอบ ๆ ด้วยเพชรโรสคัท มาพร้อมรูปทรงหน้าปัดแบบดั้งเดิมจาก
คาร์เทียร์ ทั้งยังผสานลูกเล่นด้วยสายนาฬิกาถักทอด้วยไข่มุกสีเทาบริสุทธิ์และเพชรโรสคัทน้ำงาม
3.Cartier Diamond and Black Onyx Set Wristwatch, 1921 (B.8996)
ถือเป็นนาฬิกาคาร์เทียร์ที่เข้าใจความต้องการของสุภาพสตรียุคก่อนที่อยากใส่นาฬิกาข้อมือวิบวับราวดั่งสร้อยเพชร โดยแบรนด์สร้างความสะดุดตาด้วยการหยิบเอาอัญมณีแห่งมนต์เสน่ห์อย่าง โอนิคส์ (Onyx) หรือนิลดำ มาตัดกับความแวววาวของเพชรเจียระไนทรงโรสคัทบนดีไซน์หน้าปัดสี่เหลี่ยมได้อย่างลงตัว ขาตัวเรือนประดับเพชรในรูปแบบของศิลปะแนวอาร์ตเดโค (Art Deco) มาพร้อมหลักชั่วโมงโรมันและเข็มทรงเบรเกต์ (Breguet) รวมถึงมาตรนาทีรอบหน้าปัดรูปรางรถไฟหรือ chemin de fer ผลิตขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1921
4.Antique Diamond Set Cocktail Watch, 1919 (B.8553)
ในยุคของเรือนเวลาประดับเพชร แม้จินตนาการต่าง ๆ จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่คาร์เทียร์กลับสร้างสรรค์เรือนเวลาออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่เรือนเวลาขนาดจิ๋วที่ต้องอาศัยทักษะและความประณีตเป็นอย่างมาก ไปจนถึงนาฬิกาขนาดใหญ่ที่สร้างตัวตนได้อย่างน่าจดจำ เรือนเวลาขนาดจิ๋วนี้ถือเป็นความท้าทายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะขนาดของกลไกที่สร้างความแตกต่างจากเรือนเวลายุคเดียวกันได้อย่างเด่นชัด ทั้งยังเป็นดีไซน์ที่ไม่ว่าเพศไหนต่างจับจ้องที่จะครอบครองทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากภาพถ่ายของมหาราชาแห่งเมืองอินดอร์ (ประเทศอินเดีย) ช่วงปลายยุค ค.ศ. 1920 ที่สวมใส่เรือนเวลาขนาดจิ๋วกับ dress code แบบ white tie เต็มยศ โดยโมเดลที่นำมาจัดแสดงนี้ผลิตระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน ปี ค.ศ. 1929 ถือเป็นรุ่นที่มีความพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะตัวเรือนประดับด้วยเพชรหน้าตัดสี่เหลี่ยมแทนที่จะเป็นแบบทรงกลม ส่งผลให้ประกายงามของเพชรมีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร
5.Antique Round Diamond Set Cocktail Watch, 1919 (B.8416)
ในช่วงต้นยุคศตวรรษที่ 20 แม้ชิ้นงานส่วนใหญ่ของคาร์เทียร์มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ไปที่เรือนเวลาทรงสี่เหลี่ยม แต่ความเป็นจริงแล้วรูปทรงอื่น ๆ ก็สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างตัวเรือนหน้าปัดกลมชิ้นนี้ ก็ถือเป็นอีกชิ้นงานหายากแห่งยุคก็ว่าได้ และหากมองย้อนไปปี 1907 ซึ่งเป็นยุคที่คาร์เทียร์เริ่มสร้างนาฬิกาข้อมืออย่างจริงจัง จนกลายเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงต่างถวิลหา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณสามารถพบเห็นเหล่าสุภาพสตรีสวมใส่เรือนเวลาประดับเพชรมาประชันกันขณะดื่มด่ำดินเนอร์สุดหรูที่ร้านอาหารเก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่าง Maxims เพื่อบ่งบอกถึงฐานะและสร้างการยอมรับในแวดวงสังคม โดยนาฬิกาเรือนนี้ผลิตในปี ค.ศ. 1919 โดดเด่นด้วยดีไซน์ทรงกลม ตัวเรือนแพลตินัมประดับเพชรโรสคัท ขณะที่ขาตัวเรือน 2 ข้าง ออกแบบให้โค้งรับกับตัวเรือนได้อย่างไร้ที่ติ ประดับเพชรหน้าตัดสี่เหลี่ยมและเพชรโรสคัท ราว 3 กะรัต
6.Antique Tank Normale Diamond Set Cocktail Watch, 1922 (B.8420)
Tank Normale คือรุ่นบุกเบิกของตระกูล Cartier Tank เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1919 แม้จะมาในดีไซน์สี่เหลี่ยมแสนคลาสสิกที่ถ่ายทอดแรงบันดาลใจมาจากรถถังตามชื่อรุ่น แต่โมเดลปี ค.ศ. 1922 ที่นำมาจัดแสดง กลับชวนให้รู้สึกตื่นตาไม่น้อยกับการตกแต่งตัวเรือนด้วยเพชรเจียระไนทรงโรสคัท
7.Cartier Platinum and Diamond Watch, 1927 (8418)
อีกเรือนเวลาที่สะท้อนถึงหัตถ์ศิลป์อันละเมียดละไมของแบรนด์ รังสรรค์ขึ้นในยุค 1920 โดยเรือนเวลาขนาดจิ๋วชิ้นนี้กลายเป็นอีกทางเลือกของหญิงสาวในยุคนั้นทันที เพราะนอกจากจะสามารถสวมใส่กับสร้อยข้อมือประดับเพชรได้อย่างกลมกลืนแล้ว ยังเป็นนวัตกรรมที่น่าจับตาอีกด้วย ซึ่งเรือนที่นำมาโชว์นี้ผลิตในปี ค.ศ. 1927 ประดับด้วยเพชรทรงบาแก็ตต์ที่โดดเด่นอยู่ท่ามกลางเพชรโรสคัทแบบกลม หน้าปัดแสดงหลักชั่วโมงแบบเลขอารบิค ซึ่งถือเป็นสไตล์ที่หายากของคาร์เทียร์ จับคู่สายรัดข้อมือผ้าไหมสีดำ
8.Cartier Diamond and Emerald Wristwatch (B.8729)
ชิ้นงานที่ออกแบบโดนผสมผสานเพชร โอนิคส์ และ มรกตไว้อย่างเข้ากัน ถือเป็นเรือนเวลาตัวอย่างที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์อันสุดขั้วของคาร์เทียร์ที่ต้องการเปลี่ยนนาฬิกาให้เป็นอัญมณีและอัญมณีเป็นนาฬิกา โดยโมเดลนี้ผลิตขึ้นในปี ค.ศ. 1925
Cartier Diamond Crash, 1991 (B.8748)
แม้คาร์เทียร์จะผลิตเรือนเวลาสร้างชื่อมากมายในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่ไม่มีเรือนไหนที่กลายเป็นไอคอนของยุคได้อย่าง ‘Crash’ อีกแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1967 เมื่อ มร.ฌอง-ฌาคส์ คาร์เทียร์ ได้เห็นการชนกันของรถบัสสองชั้นและแท็กซี่สีดำในกรุงลอนดอน นำไปสู่การตั้งคำถามในเวิร์คชอปว่า Cartier Tank จะหน้าตาเป็นอย่างไรหากเข้าไปอยู่ในอุบัติเหตุนั้น ซึ่งนักออกแบบได้ระดมความคิดและทำออกมา จนสุดท้ายได้ออกมาเป็นรูปแบบอย่างที่เราเห็นกัน ส่งผลให้นาฬิกาเรือนนี้กลายเป็นหนึ่งในเรือนเวลาที่น่าจดจำในลอนดอนยุค 60 ซึ่งเป็นยุคที่วงอย่าง ‘เดอะบีเทิลส์’ โด่งดังอย่างสุดขีด หรือแม้แต่รถยนต์ ‘จากัวร์ อี ไทป์’ อันโดดเด่น และการมาของแฟชั่นกระโปรงสั้น โดยคาร์เทียร์ที่กรุงลอนดอนได้สร้างสรรค์นาฬิกา ‘Crash’ เรือนทองราว ๆ 20 เรือน ในช่วงปี 1967-1987 ก่อนที่ฝ่ายผลิตจะย้ายไปปารีสในปี 1990 ตั้งแต่นั้นมา ‘Crash’ ก็กลายเป็นหนึ่งในเรือนเวลาที่มีชื่อเสียงที่สุดของ คาร์เทียร์ ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร
สำหรับโมเดลที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นตัวเรือนประดับเพชร ผลิตขึ้นที่กรุงปารีสในช่วงต้นยุค 1990 ถือเป็นตัวอย่างชั้นเลิศที่สะท้อนถึงหัตถศิลป์ของ คาร์เทียร์ ณ เวลานั้น โดยนาฬิกาเรือนนี้ได้รับการระบุผลิตปีราวๆ ค.ศ. 1991
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นตำนานและหาชมได้ยากที่เหล่าสุภาพสตรีต่างเลือกมาเป็นบรรทัดฐานของแฟชั่นในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ไอเท็มเหล่านี้ยังคงความอมตะมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ว่าคุณจะสวมใส่เรือนเวลาประดับเพชรซึ่งตอนนี้มีอายุมากกว่า 100 ปีเมื่อใดหรือมิกซ์แอนด์แมตช์กับลุคไหน ก็ยังดูไม่ตกยุค และพร้อมสร้างความประหลาดใจให้คุณอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเรือนเวลาดีไซน์คลาสสิก ที่ไม่ได้ตกแต่งด้วย อัญมณีระยิบระยับ และเป็นเพียงตัวเรือนทำจากทองคำ แต่ไม่ว่าจะผ่านกี่ความโกลาหลในช่วงที่เกิดภาวะสงครามและการปฏิวัติ เรือนเวลาอันทรงคุณค่าเหล่านี้ก็ยังสามารถครองใจคนได้ทุกยุคทุกสมัย