คาร์เทียร์ วินเทจ

คลังนาฬิกา คาร์เทียร์ วินเทจ อายุร่วม 100 ปี ราคาหลักล้าน ของ นิกกี้ วอน บูเรน

account_circle
คาร์เทียร์ วินเทจ
คาร์เทียร์ วินเทจ

คลังนาฬิกา คาร์เทียร์ วินเทจ อายุร่วม 100 ปี ราคาหลักล้าน ของ นิกกี้ วอน บูเรน

ขึ้นชื่อว่าคลุกคลีอยู่ในแวดวงเครื่องประดับและของแต่งบ้าน ไอเท็มชิ้นพิเศษของ “คุณนิกกี้ วอน บูเรน” ทายาทของรอล์ฟ วอน บูเรน แห่งแบรนด์ Lotus Arts de Vivre จึงไม่ธรรมดา โดยในครั้งนี้เขานำนาฬิกาวินเทจของคาร์เทียร์อายุร่วม 100 ปีที่เป็นของสะสมในคอลเล็คชั่นส่วนตัวมาให้แพรวชม  พร้อมแชร์เรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจให้ฟังอย่างมีความสุข

Vintage Cartier Watches

“เริ่มจากครอบครัวนิกกี้รู้จักกับ‘คุณแฮร์รี่  เฟน’ (Harry Fane)  ผู้เชี่ยวชาญด้านชิ้นงานย้อนยุคของคาร์เทียร์และงานประณีตศิลป์แถวหน้าของโลกมา 30 ปีแล้ว เพราะเรามีบ้านที่บาหลีอยู่ใกล้ๆกัน โดยคุณแฮร์รี่ทั้งรับซื้อขายนาฬิกาวินเทจจากทั่วโลก (งานวินเทจในที่นี้หมายถึงสินค้าของคาร์เทียร์ที่ผลิตก่อนปีค.ศ.1970) และมีเวิร์คชอปสำหรับซ่อมแซมนาฬิกา เครื่องประดับ และของแต่งบ้านเก่าแก่ให้อยู่ในสภาพดีและใช้งานได้จริง แถมมีใบรับรองออกให้ด้วย เราจึงไปมาหาสู่กันอยู่เนืองๆ บวกกับความที่ครอบครัวผมทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องประดับและของแต่งบ้าน เราศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์คาร์เทียร์มาพอสมควร และมีไว้ในครอบครองบ้าง จึงประทับใจว่านอกจากเป็นแบรนด์เก่าแก่
คือก่อตั้งมาตั้งแต่ปี1847 โดยมิสเตอร์คาร์เทียร์แล้ว เขายังสามารถขยายธุรกิจจากปารีสไปลอนดอนและนิวยอร์ก โดยลูกชายทั้งสามคนของมิสเตอร์คาร์เทียร์ดูแลแต่ละที่จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

“คาร์เทียร์มีวิสัยทัศน์ว่าผลิตของน้อยชิ้น แต่ต้องเป็นของดีที่สุด สวยที่สุด และทันสมัย ของทุกชิ้นจึงล้วนทำด้วยมือช่างชั้นครูภายในเวิร์คชอปของครอบครัวคาร์เทียร์เอง ดังนั้นทุกๆชิ้นจะมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Lotus Arts de Vivre ที่เน้นของทำด้วยมือเช่นกัน เราจึงเริ่มซื้อหานาฬิกาวินเทจจากคุณแฮร์รี่ โดยตอนแรกตั้งใจนำมาเป็นสินค้าทางเลือกให้ลูกค้า แต่ความที่ผมและที่บ้านชื่นชอบคาร์เทียร์อยู่แล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะซื้อสะสมไว้ในคอลเล็คชั่นของครอบครัวด้วย ซึ่งผมได้คัดชิ้นพิเศษ 3 เรือนมาให้แพรว ชมในวันนี้ ปกติจเก็บไว้โชว์เป็นไฮไลต์เวลาจัดงานของ Lotus Arts de Vivre เท่านั้น ไม่ได้ขายครับ” (ยิ้ม)

“Art Deco”  ศิลปะบนเรือนเวลา

 คาร์เทียร์ วินเทจ
Cartier Square Onyx and Diamond Lady’s Wristwatch

“สำหรับชิ้นที่ผมเลือกมาให้ชมครั้งนี้ สองเรือนแรกเป็นนาฬิกาผู้หญิงที่โดดเด่นด้วยศิลปะแบบอาร์ตเดโคที่รุ่งเรืองอยู่ในช่วงปี1905-1920 คาร์เทียร์จึงนำศิลปะสไตล์นี้มาใช้ในการออกแบบชิ้นงานของแบรนด์ด้วย โดยทั้งสองเรือนนี้ผมได้มาพร้อมกันเรือนแรกคือ Cartier Square Onyx and Diamond Lady’s Wristwatch หรือ ‘Nain Jaune’ ซึ่งเป็นชื่อเกมกระดานของฝรั่งเศส หน้าปัดสี่เหลี่ยมได้รับการออกแบบให้เหมือนบอร์ดเกม โดยใช้นิลสีดำประดับตามมุมทั้งสี่
ส่วนหน้าปัดสีเงินนั้นล้อมด้วยเพชร เข็มบอกเวลาเป็นทรงเบรเกต์ (Breguet) สีน้ำเงิน และเม็ดมะยมทำด้วยไพลิน  ส่วนตัวสายเปลี่ยนใหม่เป็นสายผ้าไหมสีดำเพิ่มความหรูหรา เนื่องจากสายเดิมที่เป็นหนังชำรุดแล้ว นาฬิกาเรือนนี้ผลิตขึ้นในปี 1913 – 1914 อายุกว่า 100 ปีแล้ว และมีแค่ 3 ชิ้นทั่วโลก เพื่อไว้วางขายที่ปารีส 1 ชิ้น ลอนดอน 1 ชิ้น และนิวยอร์กอีก 1 ชิ้น ผมชอบเรือนนี้เป็นพิเศษเพราะเป็นสไตล์Classic Art Deco สีขาว -ดำ มีเส้นสายแบบเรขาคณิตชัดเจนและมีเกลียวตรงเม็ดมะยมแบบยาว นักสะสมจะรู้ดีว่ามันพิเศษมาก

Cartier Diamond and Emerald Wristwatch

“เรือนถัดมาคือ Cartier Diamond and Emerald Wristwatch ผลิตขึ้นในปี 1925 อายุประมาณ 96 ปีแล้ว เป็น Evening Watch สำหรับใส่งานกลางคืนหน้าปัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตกแต่งด้วยเพชร Onyx หรือนิลดำ และมรกต
ในสไตล์อาร์ตเดโคเช่นกัน โดยทั้งสองเรือนเป็นนาฬิกาแมนวลนะครับ ยังใช้ได้อยู่ แต่ต้องปรับด้วยมือ (ไขลาน) ก่อนใส่ ส่วนสนนราคา ผมบอกได้แค่ว่าทั้งสองเรือนนี้อยู่ในหลักล้านครับ เพราะอย่างที่บอกว่านาฬิกาวินเทจเหล่านี้ส่วนมากทางแบรนด์ผลิตแค่ไม่กี่เรือน และไม่ผลิตขึ้นมาใหม่อีกเพื่อให้พิเศษจริง ๆ อย่างในช่วงปี1905 – 1920 เขาผลิตปีละประมาณ 45 เรือน โดยทุกเรือนมีรายละเอียดแตกต่างกันไปและใช้เทคนิคการผลิตที่ถือว่าล้ำสมัยมากในสมัยนั้น  เพื่อให้มีความพิเศษเฉพาะตัว จนกลายเป็นชิ้นงานอันทรงคุณค่าที่ทำให้แบรนด์คาร์เทียร์มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้”
Crash ความบิดเบี้ยวที่งดงาม

Cartier London Crash

“อีกหนึ่งเรือนที่ถือว่าเป็นรุ่นที่สร้างความฮือฮาและโด่งดังจนได้ขึ้นปก Assouline : The Impossible Collection of Watches คือนาฬิการุ่น Crash โดดเด่นด้วยหน้าปัดนาฬิกาที่ดูบิดเบี้ยวแปลกตา ที่มาของดีไซน์นาฬิกาเรือนนี้คือฌอง-ฌาคส์ คาร์เทียร์ ลูกชายของมร.คาร์เทียร์ที่ดูแลแบรนด์อยู่ที่ลอนดอนนั้นมีหัวด้านการออกแบบ และชอบผลิตสินค้าที่มีดีไซน์แปลกแหวกแนวนิดหนึ่ง วันหนึ่งเขาเดินทางไปออฟฟิศแล้วเห็นรถเมล์สองชั้นชนกับรถแท็กซี่ เขาจึงจินตนาการออกมาว่าถ้าหากนาฬิการุ่น Tank ซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยมของคาร์เทียร์เกิดอุบัติเหตุรถชน จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร แล้วไปคุยกับหัวหน้านักออกแบบ ก่อนจะทำออกมาเป็นนาฬิการุ่น Crash อย่างที่เห็น โดยในลอนดอนมีผลิตขึ้นเพียงแค่ 24 เรือนเท่านั้น คือระหว่างปีค.ศ. 1967 – 1975 และค.ศ. 1985 – 1987 ส่วนที่ปารีสผลิตขึ้นมา 400 เรือน แต่มีขนาดเล็กกว่า ถือเป็นรุ่นที่ผลิตน้อย แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงมาก

“สำหรับรุ่นที่ผมมีคือ Cartier London Crash  ผลิตเมื่อปี1987 ตัวเรือนเป็น Yellow Gold 18 กะรัต สายหนังสีน้ำตาล หน้าปัดเป็นเลขโรมัน เม็ดมะยมทำด้วยไพลิน ที่สำคัญเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นในเวิร์คชอปที่ลอนดอน ซึ่งถ้าคุยกับนักสะสมคาร์เทียร์ตัวยง จะรู้กันว่ารุ่นที่ผลิตขึ้นในลอนดอนจะถือว่าพรีเมียมมาก เพราะมีแค่ 24 เรือนทั่วโลก ราคาจะพุ่งจากรุ่นที่ผลิตในปารีสไปสองเท่า อย่างเรือนนี้ก็หลักสิบล้าน และผมเองก็คงไม่ขาย เพราะชอบมากและหายากมากจริงๆ ยิ่งเก็บไว้ยิ่งได้ราคา เพราะถือเป็นไอคอนิกดีไซน์ของยุค 60ที่ลอนดอนเลย”

My Style
“นาฬิกาวินเทจก็เหมือนรถวินเทจที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะต้องใส่ใจดูแลมากกว่านาฬิกาที่ใส่แบตเตอรี่ในปัจจุบัน เช่น อาจจะโดนน้ำไม่ได้เหมือนนาฬิการุ่นใหม่ๆที่กันน้ำ และก่อนจะใส่ต้องไขหมุนทุกเช้าเพื่อให้เครื่องนาฬิกาเดินบางเรือนอาจเดินตรง บางเรือนอาจเดินเร็วหรือช้าไป 5 – 10 นาที เพราะทำมา 80-100 ปี ก็จะคลาดเคลื่อนหน่อย  แต่เราสามารถส่งไปซ่อมที่ลอนดอนได้

“ทุกวันนี้ผมยังคงชอบและผูกพันกับคาร์เทียร์ เช่นกันกับครอบครัวผมทุกคน ผมมองว่านาฬิกาวินเทจเป็นทั้งเครื่องประดับและประวัติศาสตร์ เวลามีประชุมหรือมีดินเนอร์กับใคร นอกจากนาฬิกาจะเสริมลุคให้ดูโดดเด่นแล้วยังเป็นหัวข้อชวนคุยถึงเรื่องราวประวัติของนาฬิกาและแบรนด์คาร์เทียร์ได้อีก สนุกไปอีกแบบ และทุกคนก็สนใจ เพราะเป็นแบรนด์ที่ใครก็รู้จัก แต่อาจไม่รู้ประวัติในเชิงลึก เรื่องราวเหล่านี้เป็นหัวข้อสนทนาที่ดี ให้เราได้พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์

“ขณะเดียวกันก็บ่งบอกตัวตนเราผ่านเครื่องประดับที่ชอบด้วย”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 974

เรื่อง Tomalin

Praew Recommend

keyboard_arrow_up