30 ปีแห่งการพลิกชีวิตชาวดอย ผลผลิตของการเดินตามรอยพระราชปณิธาน “สมเด็จย่า”

การเดินทางอันยาวไกลต้องอาศัยความอดทน เช่นเดียวกับเส้นทางการ “ปลูกคน” ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มต้นจากเมื่อ 30 ปีก่อน ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ไม่เพียงให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กชาวเขาจากถิ่นทุรกันดารในภาคเหนือเท่านั้น หากยังสอนให้รักถิ่นกำเนิดท้องถิ่นของตนอีกด้วย

2.นับแต่ปี พ.ศ. 2507 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย เสด็จฯไปยังถิ่นทุรกันดาร รวมถึงดอยสูงทางภาคเหนือที่เสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเสมอ ชาวไทยภูเขาต่างเรียกขานพระองค์ที่เสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์ว่า “แม่ฟ้าหลวง” พระสมัญญานามอันหมายถึง “แม่ผู้ยิ่งใหญ่จากฟากฟ้า” ซึ่งดอยตุงในจังหวัดเชียงรายเมื่อปี พ.ศ. 2531 เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลจัดสรรยังเข้าไปไม่ถึง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า เสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดาร
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เสด็จฯไปยังถิ่นทุรกันดาร

อาณาเขตกว่า 90,000 ไร่มีสภาพเป็นเขาหัวโล้นใจกลางสามเหลี่ยมทองคำ เต็มไปด้วยการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียนและปลูกฝิ่น หรือแม้แต่ปัญหาการค้าประเวณีที่นำมาซึ่งโรค HIV/AIDS เป็นปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะแก้ไขได้สำเร็จ แต่ด้วยพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของสมเด็จย่าและพระวิสัยทัศน์ที่ทรงเล็งเห็นว่าความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก รวมถึงการหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ล้วนมีสาเหตุจากความยากจนและขาดโอกาสทั้งสิ้น แต่ในวันนี้ผู้คนที่แร้นแค้นกลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์และอนาคตที่สดใสอีกครั้ง ดอยตุงทุกวันนี้กลับมาเขียวชอุ่ม ทุ่งฝิ่นกลายเป็นป่าต้นน้ำผืนใหญ่ ผู้คนกว่า 11,000 คนมีอาชีพสุจริตและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริงหลังจากมีโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามพระราชปณิธาน “ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดีเพราะขาดโอกาสและทางเลือก”

พื้นที่ดอยตุงก่อนการพัฒนา
พื้นที่ดอยตุงก่อนการพัฒนา
พื้นที่ดอยตุงหลังการพัฒนา
พื้นที่ดอยตุงหลังการพัฒนา

“คนจำนวนมากของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทุกวันนี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขยายการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตไปยังชุมชนอื่นๆ ด้วยคนที่ดอยตุงมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จย่า และถือเป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดของพระราชปณิธานให้มีการช่วยเหลือคนที่มีโอกาสน้อยกว่า และฝึกภูมิคุ้มกันด้านความคิดและความสามารถให้เตรียมพร้อมรับมือกับโลกปัจจุบัน”

ชาวบ้านชนเผ่าต่างๆ
ชาวบ้านชนเผ่าต่างๆ

ปัจจุบันพันธกิจในการสร้างอาชีพที่สุจริตและยั่งยืน และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้บนดอยตุงสำเร็จแล้ว รายได้ของชาวบ้านบนดอยตุงเพิ่มขึ้นจาก 3,772 บาทในปี พ.ศ. 2531 เป็น 78,457 บาทในปัจจุบัน และกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ 93,515 ไร่ของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เปลี่ยนเป็นป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจที่อำนวยประโยชน์ให้ชุมชนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

คนกำลังทำการเกษตร
คนกำลังทำการเกษตร

นอกจากนี้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯขยายการดำเนินงานไปยังจังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน รวมถึงอีก 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตลอดจนได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศหลายแห่ง และมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (United Nations Guiding Principles on Alternative Development) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติอีกด้วย

เพชรัช วิบูลศรีกุล หรือ อาฉาย ชาวจีน-อาข่า เป็นหนึ่งในตัวอย่าง การปลูกคน
เพชรัช วิบูลศรีกุล หรืออาฉาย ชาวจีน – อาข่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างการปลูกคน

เพชรัช วิบูลศรีกุล หรืออาฉาย ชาวจีน – อาข่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างการปลูกคน ซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านเกิดและพัฒนาชุมชนของตนเอง หลังจากเคยทำงานที่โรงงานเซรามิกของดอยตุง และไปทำงานที่ไต้หวันนานถึง 6 ปี เมื่อกลับมายังหมู่บ้านสวนป่าอีกครั้ง เขามองหาการปักหลักในบ้านเกิดอย่างมั่นคง จึงเริ่มศึกษางานด้านการเกษตร จนมีไร่เสาวรสเป็นของตัวเอง เมื่อพัฒนาตัวเองสำเร็จ เขาหันมาพัฒนาหมู่บ้านผ่านการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาของพี่น้องอาข่าให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส โดยหวังว่าหมู่บ้านสวนป่าแห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของคนที่อยู่กับป่าได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยตามพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จย่าอย่างแท้จริง

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม

ปัจจุบันโครงการพัฒนาดอยตุงฯดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการพลิกฟื้นผืนป่าดอยตุง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้อีก ด้วยการฝึกอาชีพและสร้างงานให้ชาวบ้านบนดอยตุงผ่านการดำเนินงานของ 5 หน่วยธุรกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว หัตถกรรม การเกษตร อาหารแปรรูป และคาเฟ่ดอยตุง ซึ่งสร้างรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545

พระตำหนักดอยตุง – สถานที่ท่องเที่ยว หนึ่งในธุรกิจ เพื่อหารายได้ช่วยพัฒนาคนและพื้นที่ ในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ
พระตำหนักดอยตุง – สถานที่ท่องเที่ยว หนึ่งในธุรกิจเพื่อหารายได้ช่วยพัฒนาคนและพื้นที่ในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ
คาเฟ่ดอยตุง
คาเฟ่ดอยตุง

ถึงแม้ว่าความเป็นอยู่ของชาวบ้านจะดีขึ้น แต่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯยังคงดำเนินงานตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมศักยภาพของคนในพื้นที่ให้ตระหนักรู้ในคุณค่าของตน พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งยังมุ่งส่งต่อองค์ความรู้ในการพัฒนาตามตำรา “แม่ฟ้าหลวง” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในวงกว้างสืบไป

เรียบเรียงโดย : saipiroon_แพรวดอทคอม

ภาพ : โครงการพัฒนาดอยตุงฯ

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up