จากเด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่ลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานในโรงเลื่อยไม้ของพ่อ เหตุเพราะถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นเพราะความยากจน ปัจจุบัน ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ กลายมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จากเทคนิคการขายที่เขามักซื้อบริษัทขนาดเล็ก เพื่อควบคุมราคาของตลาด และได้ก่อตั้งกลุ่ม Kering ซึ่งมีแบรนด์หรูระดับไฮเอนด์อย่าง Gucci, Stella McCartney, Alexander McQueen, Balenciaga และ Yves Saint Laurent
ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ จากเด็กโรงไม้ สู่เจ้าของ Kering อาณาจักรสินค้าแบรนด์หรู
ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ เกิดในปี 1936 ที่เมือง Brittany ประเทศฝรั่งเศส ปิโนลต์เคยศึกษาที่โรงเรียน College Saint-Martin ในเมือง Rennes ประเทศฝรั่งเศส แต่ก็ต้องลาออกเพราะถูกเพื่อนร่วมชั้นบุลลี่ เหตุเกิดจากความยากจน เขาจึงได้ไปช่วยพ่อทำงานต่อในโรงเลื่อยไม้
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ปิโนลต์ได้กู้เงินจำนวน 100,000 ฟรังก์จากครอบครัว และธนาคารเพื่อเปิดตัวบริษัทแรกของเขา Les Établissements François Pinault ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ ซึ่งตามรายงานของ The Guardian ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 เขาเริ่มสร้างอาณาจักรด้วยการซื้อบริษัทไม้ขนาดเล็ก
ด้วยทัศนวิสัยที่กว้างไกลในการทำธุรกิจของ ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ ในปี 1990 เขาได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า Printemps ของฝรั่งเศส รวมไปถึงซื้อกิจการ Chateau Latour ซึ่งเป็นโรงกลั่นไวน์ในบอร์กโดซ์ และในปี 1994 เขาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Pinault Printemps Redoute หรือ PPR หลังจากเข้าซื้อกิจการของ La Redoute ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกสินค้าทางไปรษณีย์ของฝรั่งเศส
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ปิโนลต์ ได้ตั้งเป้าไปที่สินค้าแบรนด์หรู โดยเขาเริ่มจากการเข้าซื้อ สถาบันประมูลคริสตี้ (Christie Auction House) มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงเข้าซื้อหุ้นจำนวน 42 เปอร์เซนต์ ของ Gucci แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในการเข้าซื้อหุ้นกุชชี่นั้นก็ไม่ได้มาโดยง่าย ปิโนลต์ ต้องแข่งขันกับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซีอีโอแห่ง LVMH บริษัทสินค้าแบรนด์เนมหรูคู่แข่ง ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นใน Gucci ด้วยในเวลานั้น
ทั้งนี้มีการระบุว่า “การแข่งขันเพื่อครอบครองหุ้นทั้งหมดของ ปิโนลต์ และ อาร์โนลต์ เป็นสิ่งที่น่าจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์” แต่ในที่สุด LVMH ก็ได้ขายหุ้นใน Gucci ให้กับ PPR ในราคา 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ไม่เพียงแค่ซื้อ Gucci ปิโนลต์ยังได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์หรูอย่าง Yves Saint Laurent เครื่องประดับ Boucheron และบริษัทแฟชั่นชื่อดังอย่าง Bottega Veneta และ Balenciaga หลังจากนั้นไม่นานก็ตามมาด้วยแบรนด์ Alexander McQueen
ในปี 2005 ปิโนลต์ได้ส่งช่วงต่อให้กับ François-Henri Pinault หนึ่งในบรรดาลูกทั้งสามคนของเขาให้รับช่วงต่อกิจการ ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ภายใต้การดูแลของ เฮนรี ปิโนลต์ ได้ดำเนินไปได้ด้วยดี และในปี 2013 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Pinault Printemps Redoute เป็น Kering ซึ่งเป็นชื่อที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
หลังจาก ปิโนลต์ ได้ลงจากตำแหน่งผู้บริหาร เขาได้หันไปให้ความสนใจในเรื่องของงานศิลปะ ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นเจ้าของ Christie แล้ว ปิโนลต์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักสะสมงานศิลปะส่วนตัวที่มากที่สุดในโลก โดยคอลเล็คชั่นงานศิลปะของมีมากถึง 2,000 ชิ้น อาทิ ผลงานของ Piet Mondrian, Joan Miró, Jackson Pollock, Mark Rothko และ Robert Rauschenberg ซึ่งเขายังเป็นเจ้าของหอศิลป์สองแห่งในเวนิสผ่านมูลนิธิ Pinault Foundation: Palazzo Grassi และ Punta della Dogana ซึ่งเปิดตัวในปี 2009
ทั้งนี้เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมา เขายังเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของฝรั่งเศสที่มอบเงิน 100 ล้านยูโร เพื่อบูรณะมหาวิหารนอร์ทเทอดามอีกด้วย ปัจจุบัน ฟรองซัวส์ ปิโนลต์ เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 32 ของโลก โดยมีทรัพย์สินสุทธิ 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาพ : Getty Image