“ถ้าคิดจะทำต้องร้อยเปอร์เซ็นต์” เปิดชีวิตการทำงานของ “ท่านผู้หญิงสิริกิติยา”

Alternative Textaccount_circle

นับเป็นโอกาสพิเศษที่ ท่านผู้หญิงใหม่ – สิริกิติยา เจนเซน ธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ให้ทีมงาน แพรว สัมภาษณ์ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของวังสระปทุม ถึงหลายเรื่องราวในชีวิต ตั้งแต่ช่วงเวลาที่ท่านผู้หญิงอยู่สหรัฐอเมริกา จนถึงการตัดสินใจกลับเมืองไทย เพื่อรับราชการและทำงานด้านประวัติศาสตร์

ท่านผู้หญิงสนใจประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เมื่อไรครับ

ตั้งแต่เด็กค่ะ (ยิ้ม) จำได้ว่าชอบตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ว่าทำไมวัฒนธรรมไทยมีส่วนผสมของหลายชาติ เหตุการณ์ในสมัยโบราณเป็นอย่างไร เราได้รับอิทธิพลจากอะไรบ้าง ทำไมอาคารนี้ถึงหน้าตาแบบนี้ ดูแล้วน่าจะเป็นเด็กที่น่ารำคาญพอสมควร (หัวเราะ)

แต่ถ้าพูดถึงการตัดสินใจรับราชการและทำงานด้านประวัติศาสตร์ เกิดจากความสนใจที่เป็นเรื่องส่วนตัว ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นตอนอายุ 30 ปี จู่ๆ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเหมือนมีอะไรขาดหายไป เราไม่ได้เข้าใจเรื่องราวของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ อาจเพราะเกิดและโตที่อเมริกา ถึงแม้สมัยเด็กๆ จะมีโอกาสเข้าร่วมงานพระราชพิธีสำคัญบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยเท่าไร

ตอนนั้นสังเกตว่าครอบครัวเราสำคัญเหมือนกันนะ คนไทยรู้เรื่องราวในครอบครัวของเรา แต่ทำไมเราไม่รู้เรื่องของตัวเอง ทำไมเข้าวังหลวงแล้วไม่รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ เรามีคำถามเรื่องนี้ในใจ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจกลับเมืองไทย เพื่อศึกษาเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งพอได้ทำงานด้านนี้ เราคิดว่านี่คือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เพราะถ้าทำให้คนรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน คนไทยจะสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

ท่านผู้หญิงใช้ชีวิตที่อเมริกานาน 30 ปี ถึงวันที่ต้องกลับมาอยู่เมืองไทย ตัดสินใจยากไหมครับ

ไม่ยากนะ เป็นคนที่ตัดสินใจอะไรแล้วจะไม่กลัว ซึ่งความคิดนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิที่เราเกือบตาย ตอนนั้นรู้เลยว่าชีวิตไม่แน่นอน จริงๆ ก่อนเหตุการณ์นั้นเราฝันอยากเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กมาตั้งแต่เด็ก แต่ความที่อยู่แคลิฟอร์เนียมา 20 ปี ก็มีความกังวลไปเองว่าจะอยู่นิวยอร์กคนเดียวไม่ได้

แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิ พอกลับไปอเมริกาเราก็สมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กเลย ไปอยู่คนเดียวโดยที่ไม่รู้จักใครที่นั่น ซึ่งก็มีหลายคนไม่เห็นด้วยว่าจะไปทำไม อยู่ที่เดิมก็สบายอยู่แล้ว คุณใหม่ถูกเลี้ยงโดยมีคนคอยดูแลมาตลอด ไม่มีทางที่จะอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง เราจึงอยากพิสูจน์ว่าทำได้ อยากเจอเรื่องยากบ้าง ชีวิตจะได้มีหลายมิติ

ชีวิตที่นิวยอร์กเป็นอย่างไรครับ

ชอบที่สุด (ยิ้มกว้าง) เป็นช่วงเวลาที่ได้เป็นตัวเองเต็มที่ มีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่นั่น ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองว่าเป็นใครและทำอะไร ถ้าพยายามแล้วไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ได้ลองแล้ว นี่คือความคิดของคนที่นั่น

นิวยอร์กทำให้เราโตเป็นผู้ใหญ่ กล้าขึ้น และยังได้เจอเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่นิสัยคล้ายกัน เธอสนใจศิลปะ ประวัติศาสตร์ และการเดินทาง เราได้เดินทางท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ด้วยกันบ่อยมากทำไมเลือกเรียนด้านการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กครับ

ตอนนั้นอยากเป็นนักธุรกิจและทำงานในทวีปเอเชีย เราเรียนเพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคนี้ เพื่อที่ต่อไปจะได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจ เพียงแต่ตอนนั้นไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์แบบเฉพาะเจาะจง แต่เรียนครอบคลุมทั้งวรรณกรรมและหนังที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์

แล้วทำไมตอนเรียนจบจึงไปเริ่มงานในวงการแฟชั่นล่ะครับ

ตอนนั้นเพิ่งอายุแค่ 20 ต้นๆ ยังไม่อยากทำงานด้านวิชาการ กลัวว่าถ้าเริ่มทำแล้วจะต้องอยู่แบบนั้นไปตลอด อยากหาประสบการณ์จากงานอื่นๆ ก่อน

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราชอบศิลปะและครีเอทีฟ อยากหางานที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองเรื่องนั้น พอดีมีเพื่อนหลายคนทำงานแฟชั่น ซึ่งดูสนุกสนานและมีชีวิตชีวา เราจึงเปิดหนังสือพิมพ์หน้าสมัครงานเหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป ก่อนจะได้ฝึกงานพีอาร์กับแบรนด์ Yohji Yamamoto

ตอนนั้นหัวหน้าเราเป็นลูกครึ่งไทยด้วย จำได้ว่าเวลาโกรธเขาจะบ่นเป็นภาษาไทย (หัวเราะ) เราได้ประสบการณ์จากที่นั่นเยอะมาก บริษัทญี่ปุ่นทำงานละเอียด อย่างเรื่องของการแพ็คของที่บางคนอาจคิดว่าเป็นงานเล็กๆ ที่ไม่โก้ แต่เขาเน้นมาก เราได้เรียนรู้ว่า You need to start from basic. ถ้าทำเรื่องพื้นฐานไม่เป็น ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ จะทำเรื่องยากๆ ไม่ได้ และทำให้ภาพรวมของงานไม่สมบูรณ์ หลังจากฝึกงานที่นั่นเสร็จก็ไปทำต่อที่แบรนด์ Hermes

ทำหน้าที่อะไรครับ

เป็นพีอาร์เหมือนเดิม แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้ตัวว่าไม่ชอบด้านนี้เท่าไร วันหนึ่งหัวหน้าคงเห็นว่าเราไม่ค่อยสบายใจ จึงแนะนำว่าคุณใหม่น่าจะชอบงานเกี่ยวกับวิชาการมากกว่า จากนั้นเขาเล่าให้ฟังว่าเคยเป็นพีอาร์ที่ THE MET Costume Institute ทำงานค้นคว้าเจาะลึกเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของคนในสมัยก่อน เพื่อมาเล่าให้คนยุคปัจจุบันเข้าใจว่าทำไมในอดีตคนถึงแต่งตัวกันแบบนั้น เป็นงานที่อยู่กึ่งกลางระหว่างวิชาการกับศิลปะ เราฟังด้วยความสนใจมาก เป็นครั้งแรกที่ทำให้คิดว่าฉันอยากทำงานนี้

เพราะฉะนั้นถ้าเรื่องนี้จะบอกคนรุ่นใหม่ได้ เราก็อยากบอกว่าไม่ต้องรีบตัดสินใจอนาคตในวันที่ตัวเองอายุเพิ่ง 20 ก็ได้ ถ้าคุณเพิ่งเรียนจบ ยังมีเวลาทดลองและเรียนรู้อีกเยอะ อย่าจำกัดเส้นทางตัวเองเร็วเกินไปนัก เราก็เพิ่งมารู้จักตัวเองตอนอายุ 30 ปี วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากทำงานด้านนี้ แต่อีกใจก็คิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะตำแหน่ง Costume Institute มีอยู่ไม่กี่แห่ง และส่วนใหญ่จะทำงานกันนาน 10-20 ปี ไม่ค่อยมีใครลาออก ตอนนั้นเราจึงทิ้งความตั้งใจนี้ไป

พอเริ่มโตขึ้น เราคิดว่าต้องทำอะไรกับชีวิตแล้ว ตอนนั้นได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรากราบบังคมทูลว่าสนใจทำงานด้านอนุรักษ์ พระองค์ท่านมีรับสั่งแนะนำให้ลองกลับมาฝึกงานที่กรมศิลปากรดูก่อน เราจึงเข้ามาทดลองงานในกลุ่มวิชาการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เมื่อเดือนกันยายน 2559 ก่อนจะบรรจุเป็นข้าราชการในเดือนพฤษภาคม 2560 ในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ช่วยราชการที่สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

ผู้หญิงที่เติบโตในอเมริกา 30 ปี จู่ๆ มาสมัครเป็นข้าราชการไทย เหมือนโลกคนละใบไหมครับ

มีคนถามว่า It’s a big culture shock ไหม…เราคิดว่าไม่ขนาดนั้น (ยิ้ม) เพราะเข้าใจ และคิดว่าในเมื่อเรากลับมาอยู่ในเมืองไทยก็ควรปรับที่ตัวเอง ไม่ควรเปลี่ยนคนที่นี่ให้เข้ากับเรา และส่วนหนึ่งอาจเพราะเรามีพี่เลี้ยงเป็นคนไทยด้วย จึงไม่ถึงขนาดต้องปรับตัวแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

เรื่องที่ลำบากจริงๆ น่าจะเป็นความซับซ้อนของวัฒนธรรม เช่น วันหนึ่งมีคนบอกให้เราขึ้นเวทีไปทำเรื่องหนึ่ง เราก็โอเค เตรียมตัวจะทำให้ แต่สักพักเขาบอกว่า คุณใหม่ไม่ต้องแล้วนะ ไม่เป็นไรแล้ว คือเขาอาจจะเกรงใจ แต่เราก็งงว่าตกลงต้องทำตัวอย่างไร หรือความที่เราเป็นคนพูดตรง บางทีก็งงว่าทำไมโดนโกรธ ทุกวันนี้เวลาเจอเรื่องแบบนี้ก็ยังเครียดอยู่บ้าง แต่เข้าใจมากขึ้น

ชีวิตข้าราชการเป็นอย่างไรบ้างครับ

สนุกนะ ช่วงปีแรกเป็นเหมือนช่วงเวลาของการศึกษาค้นคว้า มีงานสัมมนาหรือดูโบราณสถานที่ไหน เราก็ขอไปด้วย เพื่อไปฟังว่าเขาทำงานกันอย่างไร แล้วจดเก็บเป็นข้อมูล

ทุกครั้งที่มีบรรยาย เราแทบไม่เคยขาดเลย เราเรียนประวัติศาสตร์ไทยจากการนั่งฟัง ช่วงแรกๆ ไม่ค่อยพูด จำได้ว่าในการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ถามว่า ทำไมคุณใหม่ไม่มีความคิดเห็นอะไรเลย ไม่สนใจเรื่องนี้หรือ เราก็ตอบว่า ถ้ามัวแต่พูดแล้วจะเรียนรู้ได้อย่างไร เราไม่ชอบพูดเรื่องอะไรที่เราไม่รู้จริงหรือไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้นต้องฟังก่อน ถ้ารู้เรื่องแล้วจึงแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้เราใช้วิธีคุยกับคนเยอะๆ อย่างถ้าอยากรู้เรื่องราวของวัดไหน ก็เข้าไปคุยกับพระหรือคนที่ทำงานในนั้น เราชอบออกไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง มีครั้งหนึ่งเพื่อนที่กรมศิลปากรให้ดูหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ได้รางวัล เราอ่านเจอเรื่องหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม พออ่านจบก็ตัดสินใจไปดูของจริง ซึ่งสวยมากๆ เขาทำภูมิทัศน์เป็นสวนที่น่านั่ง

ข้างในหอไตรมีจิตรกรรมเก่าแก่ ได้เจอคุณป้าที่ดูแลหอไตรมา 30 ปี ก็นั่งคุยกันอยู่เป็นชั่วโมง คุณป้าเล่าให้ฟังถึงความหมายของจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติของสถานที่ว่าหอไตรย้ายมาตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไร สำหรับเรา ความรู้จากประสบการณ์ของคนที่ทำงานตรงนั้นมา 30 ปีสำคัญมาก บางทีการอ่านหนังสือจะได้แค่ข้อมูลเบื้องต้น ข้อมูลที่น่าสนใจคือประสบการณ์ของคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ซึ่งถ้าหายไปก็น่าเสียดาย

เวลาออกไปหาข้อมูลแบบนี้ ไปคนเดียวหรือมีผู้ติดตามด้วยครับ

มีทั้งสองแบบ บางทีก็ขอไปคนเดียว เพราะเวลาคนเห็นตำรวจเยอะจะกลัว หลายครั้งที่เข้าไปคุย เขาก็ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เราเองก็ไม่ค่อยคุ้นกับการที่คนเรียกว่าท่านผู้หญิง เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองพิเศษ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้น อาจเป็นเพราะเราโตมาแบบธรรมดาที่เมืองนอก

บางทีคนที่ทำงานด้วยก็ทำตัวไม่ถูก พอจะมานั่งใกล้ๆ ก็ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร เราก็บอกว่านั่งด้วยกันบนเก้าอี้นี่ละ คุยกันปกติ ไม่ต้องกลัว แต่บางครั้งที่อยากไปไหนคนเดียวจริงๆ ก็เคยแอบหนีไปบ้างนะ ไม่อยากให้มีคนติดตามเยอะ แต่ตอนนี้หนีไม่ค่อยเก่งแล้ว (หัวเราะ)

ปรับตัวกับชีวิตที่เมืองไทยได้แล้วใช่ไหมครับ

ได้แล้ว (ยิ้ม ) ตอนกลับมามืองไทยใหม่ๆ เราพยายามมีเพื่อนคนไทยเยอะๆ จะได้คุยภาษาไทยมากขึ้น จริงๆ เป็นคนขี้อาย แต่บังคับตัวเองให้พูดเยอะ เรื่องงานก็สนุก อาจเพราะลักษณะงานของเราเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนทำ กรมศิลปากรจึงให้ความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงาน เราสามารถเสนอโครงการที่สนใจได้

อย่างประเด็นหนึ่งที่เราพบจากการไปสัมมนาและคุยกับคนที่ทำงานด้านนี้เยอะๆ คือ บางทีเราให้ความสำคัญแค่การอนุรักษ์สิ่งก่อสร้าง แต่เราดูแลตึกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญเรื่องความเข้าใจของคนด้วยว่าสมัยก่อนสร้างตึกนี้ขึ้นมาทำไม รู้ไหมว่าอาคารนี้มีส่วนผสมของอยุธยากับสุโขทัย ความเชื่อของคนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร เราคิดว่าแม้จะรักษาตึกให้คงอยู่ได้ แต่คนไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แล้วคนรุ่นหลังจะอนุรักษ์ถูกต้องได้อย่างไร วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จะไปต่อไม่ได้ นี่เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญโดยการทำโครงการ เพื่อนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้คนเข้าถึงได้ง่าย

จึงเป็นที่มาของการทำโครงการแรกที่ “วังหน้า” ใช่ไหมครับ

ใช่ค่ะ เราไม่ชอบทำอะไรที่ทุกคนศึกษากันหมดแล้ว ประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อีกหลายเรื่องที่คนมองข้าม สาเหตุที่เลือกวังหน้า หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะตอนเข้าไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เจ้าหน้าที่บอกว่าที่นี่เคยเป็นวังใหญ่ในอดีต เราก็ถามว่าจริงหรือ มาตั้งหลายครั้งไม่เคยรู้เลย เนื่องจากฟังก์ชันการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย คือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความตั้งใจของเราคือ การนำเสนอว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปข้างหน้า แม้ ‘วังหน้า’ ในวันนี้แตกต่างจากในอดีตมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานที่ตรงนั้นในอดีตไม่เคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือเราอยากทำให้คนรู้ว่าสถานที่นี้มีความสำคัญ

วิธีการทำงานเป็นอย่างไรครับ

เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทำข้อมูลเรื่องวังหน้าไว้อยู่แล้ว แต่เป็นการค้นคว้าเชิงวิชาการ สุดท้ายก็ยกเลิกโครงการนี้ไป เราจึงขอรื้อฟื้นโดยนำข้อมูลไปทำอย่างอื่น จริงๆ วังหน้าเป็นสถานที่ที่มีข้อมูลน้อย โบราณวัตถุก็เหลืออยู่ไม่มาก เราจึงต้องหาวิธีนำเสนอใหม่ๆ เพื่อให้คนรู้ว่าสถานที่นี้สำคัญ จึงเป็นที่มาของงานนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ (จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมิถุนายน 2561) โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Interactive Map ภาพยนตร์สั้น และโมเดล มาอธิบายสถาปัตยกรรมภายในวังหน้า ซึ่งไม่ปรากฏอยู่แล้วในปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้นผ่านภาษาภาพ

พอถึงโครงการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ที่จัดขึ้นช่วงต้นปี 2562 ท่านผู้หญิงก็ใช้วิธีเล่าเรื่องอีกแบบ

ใช่ (ยิ้ม) โครงการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ (จัดที่พระที่นั่ง อิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562) เราไม่ได้เล่าประวัติของวังหน้า แต่ชวนศิลปินและผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เช่น ช่างเขียนรูป นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น นักพฤกษศาสตร์ สถาปนิก เชฟ ฯลฯ เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของวังหน้ามาตีความ

ยกตัวอย่าง เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ที่เล่าเรื่องวังหน้าผ่านอาหารในรูปแบบของ Chef’s Table เชฟตามหาข้อมูลเป็นเดือน ไปดูตำราอาหารสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เพื่อทำอาหารให้เข้ากับแต่ละยุคของวังหน้า เช่น สมัยรัชกาลที่ 4 มีความเป็นตะวันตกเข้ามา วัตถุดิบที่ใช้ก็ต้องเกี่ยวข้องกัน คนที่เข้ามาชมนิทรรศการได้พูดคุยกันในหลายๆ มิติของประวัติศาสตร์ เพราะถ้าคนในยุคปัจจุบันไม่คุยกันถึงเรื่องนี้ วันหนึ่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็จะตาย

ล่าสุดโครงการวังหน้านฤมิตฯ นำเสนอในรูปแบบดิจิทัลด้วย

เราทำงานกับ Google Arts & Culture ทุกอย่างมาจากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะตอนกลับเมืองไทยแล้วเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เราไม่รู้จะหาตรงไหน เพราะข้อมูลค่อนข้างกระจัดกระจาย บางทีเป็นข้อมูลทางวิชาการที่เข้าใจยาก หรือหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยมี ทำให้เราคิดว่าถ้าจะทำเรื่องนี้ก็ต้องใช้วิธีที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย และไม่ได้ทำให้คนไทยเท่านั้น ต้องทำเนื้อหาภาษาอังกฤษสำหรับคนต่างชาติด้วย

จริงๆ อยากทำกับกูเกิ้ลตั้งแต่ตอนทำโครงการวังน่านิมิตแล้ว แต่มาลงตัวที่วังหน้านฤมิตฯ เราคิดว่า Google Arts & Culture เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยแบ่งปัน อนุรักษ์ และเผยแพร่มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมไทยไปสู่สายตาชาวโลก (ชมได้ในเว็บไซต์ Google Arts & Culture หรือแอพพลิเคชั่น Google Arts & Culture ทั้งบนระบบ iOS และ Android)

นอกจากนี้ยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่ว่าเป็นคนประเทศอะไรหรืออยู่ที่ไหนในโลกก็เข้าไปศึกษาได้ ทำให้งานของเราสมบูรณ์ขึ้น

ทราบว่าท่านผู้หญิงมักทำงานจนถึงดึกดื่นเป็นประจำ

ใช่ ยิ่งโครงการหลังๆ นี่หนักมาก ไม่ได้ทำคนเดียวนะคะ จริงๆ มีคนเก่งๆ มาช่วยเยอะ แต่ในส่วนของตัวเองก็เต็มที่ เวลาทำงานเราไม่เคยทำอะไรแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคิดจะทำต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ และถ้าคิดว่าทำได้ไม่ถึงสุดๆ ก็จะไม่ทำตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นจึงมีหลายช่วงที่ทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ไม่ได้หยุดพัก

วันจันทร์ถึงศุกร์จะหมดไปกับการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล ประสานงาน หรือบางทีก็ต้องให้สัมภาษณ์เองด้วย เนื่องจากเราเป็นหัวหน้าโครงการ มีทั้งบทบาทของการทำข้อมูลและการประชาสัมพันธ์งานให้คนทั่วไปได้รับรู้ ทำให้บางสัปดาห์แทบไม่ได้อยู่ในห้องทำงานเลย ต้องใช้วันเสาร์-อาทิตย์ในการเคลียร์งานทั้งหมด

ท่านผู้หญิงเคยให้สัมภาษณ์ว่า บางครั้งก็ทำงานจนรู้สึกท้อ

มีบ้าง แต่ไม่เคยท้อถึงขนาดจะเลิกทำนะ มีบางวันที่เจอเรื่องยากๆ หรือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน อาจเพราะเราเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ อยากทำทุกอย่างให้ดี พอบางครั้งงานไม่ได้ออกมาอย่างที่คิดก็จะเครียด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าจะทำทุกอย่างแบบที่เราต้องการทั้งหมดไม่ได้ เพราะงานจะออกมาจากมุมมองของเราคนเดียว ต้องหัดถอยบ้าง

การทำงานใหญ่ขนาดนี้ก็อาจทำให้มีคนไม่พอใจ และความที่เรามีหน้าที่ดูแลโปรเจ็กต์ เหมือนคนกลางที่ต้องนำความคิดของหลายๆ คนเข้ามาผสมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อย บางครั้งจึงท้อจนร้องไห้ไปหลายรอบ กว่าจะเข้าที่ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่พองานสำเร็จก็ภูมิใจนะ เป็น 3 ปีที่ทำงานหนัก พอโครงการเกิดขึ้นก็รู้สึกภูมิใจ ได้เห็นข้อมูลกระจายออกไปในทิศทางที่เข้าถึงคนได้ง่ายเหมือนที่เราตั้งใจ

ทราบว่าท่านผู้หญิงปรึกษางานด้านประวัติศาสตร์กับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์และศึกษางานด้านนี้มายาวนาน

เราได้ความรู้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เยอะมาก ทั้งแนวพระราชดำริในการทรงงานด้านประวัติศาสตร์ รวมถึงวิธีการนำเสนอให้คนเข้าใจง่าย พระองค์ท่านทรงเคยเล่าว่า ตอนสอนวิชาประวัติศาสตร์จะไม่ทรงใช้แค่เอกสาร เพราะนักเรียนจะไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง พระองค์ท่านใช้ดนตรีและอาหารเป็นสื่อกลางให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่าย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยเล่าว่า ตอนเป็นพระอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีการทำวิจัยเรื่องนครนายก สมัยสงครามโลก พระองค์ท่านทรงใช้เรื่องขนมโมจิเป็นตัวเล่าถึงประวัติศาสตร์ เนื่องจากจังหวัดนครนายกเคยเป็นฐานทัพของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และ คนญี่ปุ่นในสมัยนั้นสอนคนพื้นที่ทำโมจิ ทำให้กลายเป็นขนมขึ้นชื่อในช่วงเวลานั้น

พระองค์ท่านมีรับสั่งให้นักเรียนเข้าไปบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น โดยการสัมภาษณ์ชาวบ้านและเรียนรู้การทำขนมโมจิสูตรสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นพระองค์ท่านรับสั่งกับเราว่า มีคืนหนึ่งที่ทรงค้างคืนที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพราะรุ่งขึ้นมีสัมมนาตอนเช้า ปรากฏว่าเด็กผู้ชายในคลาสเข้ามาเรียนในสภาพเลอะผงแป้งทั้งตัว เพราะฝึกทำขนมโมจิทั้งวัน (หัวเราะ)

เราประทับใจวิธีการของพระองค์ท่านมาก เพราะทำให้นักเรียนเข้าใจประวัติศาสตร์จากการเรียนรู้และบันทึกข้อมูลที่อยู่ตรงนั้นด้วยตัวเอง

สำหรับท่านผู้หญิง ประวัติศาสตร์สำคัญต่อปัจจุบันและอนาคต อย่างไรครับ

งานที่เราทำเน้นตอบคำถามข้อนี้เลย เราเชื่อว่าทุกอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ล้วนมีเรื่องราวความเป็นมาของตัวเอง อย่างอาหารไทยที่กินกันทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เกิดขึ้นเอง แต่มีวิวัฒนาการที่ยาวนาน เพราะคนในสมัยโบราณไม่ได้อ่านออกเขียนได้กันหมด เขาจึงบันทึกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านงานจิตรกรรมฝาผนัง ดนตรี จนถึงอาหาร แต่ปัญหาใหญ่คือบางคนคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่จบไปแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจุบัน ถ้าคิดแบบนั้นก็เหมือนขังประวัติศาสตร์ให้อยู่ในห้อง ถ้าเราเลิกคุยกันถึงเรื่องนี้เมื่อไร วัฒนธรรมไทยก็จะค่อยๆ ตายไป เราอยากให้คนเข้าใจว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงกัน เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเข้าใจ

 

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 952


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 952

Praew Recommend

keyboard_arrow_up