14 ปี Sirivannavari Bangkok พระอัจฉริยภาพ สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ “เจ้าหญิงดีไซเนอร์” ของคนไทย

account_circle

Sirivannavari Bangkok แบรนด์ไทยที่โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่น สู่การเป็นระดับโลกถึง 14 ปี จากพระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “เจ้าหญิงดีไซเนอร์” ของคนไทย

เจ้าหญิงดีไซเนอร์

 "เจ้าหญิงดีไซเนอร์"

การนี้ทางแบรนด์ยังได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไปของแบรนด์โดยใช้ชื่อว่า Sirivannavari Bangkok Diaries ผ่านอินสตาแกรม sirivannavari_shop ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องราวต่างในแต่ละคอลเล็คชั่นนับตั้งแต่แบรนด์ก่อตั้งเมื่อปี 2548 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ออกแบบ ทั้งนี้แต่ละคอลเล็คชั่นยังเผยให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ “เจ้าหญิงดีไซน์เนอร์” ของคนไทยที่พระองค์ทรงถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นงานศิลปะ สู่การเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งแต่ละคอลเล็คชั่นจะสวยงามเช่นไร แพรวดอทคอมได้รวมมาให้ดูกันแล้วค่ะ

 "เจ้าหญิงดีไซเนอร์"

2547

SIRIVANNAVARI BANGKOK ได้สร้างผลงานการออกแบบแฟชั่นเป็นครั้งแรกในปี 2547 ในคอลเล็คชั่นที่มีชื่อว่า “Red Hobby” โดยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะทางวัฒนธรรมประชานิยม และได้รวมกับสิ่งรอบข้างที่โปรดปราน พร้อมกับนำมารวมเข้ากับคอลเล็คชั่นนี้ได้อย่างลงตัว ทั้งนี้ยังมีการจัดแสดงฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อให้แขกที่มาร่วมงานได้รับชมอีกด้วย

2548

คอลเล็คชั่นในปี 2548 นี้มีชื่อว่า “VIVA VICTORIAN” ซึ่งเป็นการนำศิลปะในยุควิคตอเรียมาใช้ร่วมกับความทันสมัยของยุคพั๊งค์ เป็นการร่วมสมัยกันได้อย่างลงตัว แนวคิดของคอลเล็คชั่นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ ในฉากของกลุ่มคนร้ายในนครรัฐนิวยอร์คช่วงยุคสมัยปี 1990s รวมไปถึงชิ้นศิลปะ ภาพวาดในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสอีกด้วย สีสันที่ใช้ในคอลเล็คชั่นนี้ เป็นการทำให้คอลเล็คชั่นนี้มีชีวิตชีวาได้อย่างดี โดยจะมีสีส้ม สีเขียวมะนาว สีฟ้าท้องทะเล โดยใช้แนวความคิดสีที่ตัดกันได้อย่างสวยงาม และยังมีเครื่องประดับที่เป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK อีกด้วย

2549

คอลเล็คชั่นในปี 2549 ที่มีชื่อว่า “Fly To Nouveau” สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะในการนำจุดเด่นด้านการทหาร และการอุตสาหกรรมในช่วงปี 1920s มาดัดแปลง โดยได้ผสมผสานกันกับศิลปะในช่วงยุคอาร์นูโว หรือ นวศิลป์ ของศิลปินที่มีชื่อว่า Alphonse Mucha ซึ่งมีความโดดเด่นในศิลปะสถาปัตยกรรม และศิลปะประยุกต์ โดยมีจุดเด่นคือ การใช้รูปแบบธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกไม้และพืชมาทำเป็นลวดลายเส้นโค้งที่อ่อนช้อย ประกอบกับการประยุกต์นำความเข้มแข็งของการบินเข้ามาใช้ในคอลเล็คชั่นของแฟชั่นผู้ชาย และนำศิลปะของ Mucha มาประยุกต์เสริมความอ่อนช้อยในแฟชั่นผู้หญิง เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและบอบบางในแฟชั่นคอลเล็คชั่นนี่

 "เจ้าหญิงดีไซเนอร์"

2550

คอลเล็คชั่นเสื้อผ้า และเครื่องประดับในครั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวพระดำริ “ฮาร์โมเนียส” ที่ผสมผสานความเป็นไทยโบราณ ให้เข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่ในยุคนั้นได้อย่างลงตัว จึงทำให้เสื้อผ้า และเครื่องประดับ ที่ทรงออกแบบมีรูปลักษณ์ ของความเป็น Avant-Garde แบบตะวันออกได้อย่างชัดเจน แต่ยังคงมีความเป็นไทยแอบแฝงอยู่ด้วย

สำหรับเสื้อผ้าบางส่วนในคอลเล็คชั่นนี้ จะถูกตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยจากศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อสอดแทรกศิลปะไทยในมุมใหม่ อาทิ ลายนกยูง และลายพุดตาน ส่วนคอลเล็คชั่นเครื่องประดับนั้น จะมีลวดลายไทย ลายประจำยาม หรือลายดุน ตามลายสถาปัตยกรรมของไทย อีกทั้งยังทรงนำความวิจิตรบรรจงของการแกะสลักไม้ของไทย เข้ามาผสมผสาน กับงานเครื่องเงินได้อย่างลงตัว Sirivannavari Bangkok ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน Paris Fashion Week ในเดือนกันยายน 2550

2551

แนวพระดำริในคอลเล็คชั่นนี้คือ “ร็อคชนเผ่า” หรือ “Ethnic Rock” เป็นการนำศิลปะวัฒนธรรมชนเผ่า มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมดนตรีแนวร็อคที่โก้หรูและโมเดิร์น แรงบันดาลใจหลักๆ ในคอลเล็คชั่นนี้มาจากดนตรีร็อคจากยุค 70 ถึง 80 และภาพถ่ายในสไตล์บอนเดจ (Bondage)ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น อีกทั้งดึงรายละเอียดต่างๆของวัฒนธรรมชนเผ่าเข้ามาผสมผสานกับจุดเด่นของวัฒนธรรมร็อค ทำให้เอกลักษณ์ของคอลเล็คชั่นนี้ คือ การนำสองวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างสุดขั้วมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว แล้วนำมาตีความและถ่ายทอดออกมาในภาษาของแฟชั่น“Ethnic Rock” และปีนั้นก็เป็นอีกครั้งที่ทาง SIRIVANNAVARI BANGKOK​ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงคอลเล็คชั่นนี้ในงาน Paris Fashion Week

เจ้าหญิงดีไซน์เนอร์

2553

“THE WORLD​ IS NOT ENOUGH” ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากการล่องทะเลสีฟ้าแซฟไฟร์แห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่มีสีสันในช่วงฤดูร้อน อารมณ์ของเสื้อผ้าจึงมีความพริ้วไหว เซ็กซี่ รีแลกซ์ แต่ยังคงความโก้หรูและโมเดิร์นที่สัมผัสได้โดยการตัดเย็บแบบปราณีตบวกกับลายกราฟฟิคภาพวาดฝีพระหัตถ์​ สร้างเอกลักษณ์ประจำคอลเล็คชั่นนี้ ซึ่งถือเป็น Cruise Collection แรกของ SIRIVANNAVARI BANGKOK

2554

PRINCESS COLLECTION เป็นคอลเล็คชั่นพิเศษที่สรรสร้างขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำรายได้ช่วยเหลือศูนย์มะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย โดยในคอลเล็คชั่นนี้ นอกจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงพระปรีชาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นช่างภาพของการถ่ายรูปคอลเล็คชั่นนี้อีกด้วย ซึ่งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์นี้ได้ถูกนำมาใช้ในงาน 3 ส่วน คือ แคมเปญโฆษณา Princess Collection ภาพถ่ายแฟชั่นสำหรับนิตยสารลิปส์ และภาพถ่ายสำหรับนิทรรศการ Soft Power คอลเล็คชั่นชุดชั้นในนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ธีม คือ ดอกไม้ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ความโรแมนติค และสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการนำเสนอที่สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกในหลายมิติ

SIRIVANNAVARI COUTURE

คอลเล็คชั่น​ผ้าไทยกูตูร์ตามแบบฉบับการตัดเย็บชั้นสูง ทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในครั้งที่พระองค์ทรงเครื่องเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ และโครงสร้างของชุดไทยโบราณของตัวละครในวรรณคดีไทย เช่น การใส่สไบ มาผสมผสานกับโครงสร้างชุดของ SIRIVANNAVARI BANGKOK ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รายละเอียดของชุดใช้ช่างปักไทยผสมกับเทคนิคการปักแบบฝรั่งเศส โดยมีการนำผ้าไหมไทยมาประกอบเป็นรายละเอียดงานปัก และสร้างความโดดเด่นด้วยวิธีการปักล้อลายบนผ้าทอมัดหมี่ ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน หรูหรา สวยงามตามในยุคสมัย 1950s

2557

“HUMAN DNA 2014” ถ่ายทอดประสบการณ์​อุบัติเหตุจากการขี่ม้า ช่วงเวลาของความเจ็บป่วยผสมผสานกับงานศิลปะของศิลปินชื่อดัง อย่าง LEONARDO DA VINCI, DAMIEN HIRST และ FRIDA KAHLO สร้างสรรค์​ลายผ้าพิมพ์ X-RAY COLLAGE หนึ่งในเอกลักษณ์ของคอลเล็คชั่นนี้
ด้วยความรักในการกีฬาและการออกแบบ​แฟชั่น SIRIVANNAVARI​ BANGKOK​ ให้นิยามคอนเซ็ปต์ของโครงสร้างเสื้อผ้าคอลเล็คชั่น​นี้ว่า SPORT COUTURE  คือเสื้อผ้าจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายของ สปอร์ทแวร์ ทะมัดทะแมง คล่องตัว ให้ความอิสระแก่ผู้สวมใส่ แต่แฝงไว้ด้วยรายละเอียดการตัดเย็บ และการทําแพทเทิร์นที่ประณีตเฉกเช่นงานกูตูร์

2558 

คอลเล็คชั่นของปี 2558 นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้แรงบันดาลพระทัยมาจากเครื่องแบบทหารสไตล์นโปเลียน ผสมผสานกับรายละเอียดกยุคสมัยนีโอคลาสสิคและจักรวรรดิโรมัน ซึ่งคอลเล็คชั่นนี้ โดดเด่นด้วยโครงเสื้อผ้า และเทคนิคการตัดเย็บแบบใหม่ที่ทรงสร้างสรรค์ รวมถึงลายกราฟฟิคฝีพระหัตถ์ที่ทรงนำสัญลักษณ์นำโชคต่างๆ ของยุคนีโอคลาสสิคมาทรงวาดลวดลายใหม่ในเชิงงานศิลป์แบบดาด้า (Dadaism)

2559

คอลเล็คชั่นในปีนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้แรงบันดาลพระทัยมาจากศิลปะจากยุคโรแมติคซิซึ่ม (Romanticism) ไปจนถึงยุคอิมเพรสชั่นนิสซึ่ม (Impressionism) จากผลงานศิลปะของเรอนัวร์ (Renoir) และโมเน่ต์ (Monet) ผสมผสานกับบรรยากาศชานเมืองบริเวณพระราชวังแวร์ซายส์ ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานการออกแบบที่อ่อนหวาน มีความเป็นผู้หญิง แต่ก็ยังคงความเซ็กซี่ และโมเดิร์นสปอร์ต เฉกเช่นผู้หญิงของแบรนด์

2560

“เมื่อเราได้พบกัน เมื่อเราได้รู้จักกัน เมื่อเราได้สัมผัสซึ่งความรัก เมื่อเราได้พลัดพราก เมื่อเราได้ระลึกถึงกัน เมื่อกาลเวลามาถึง เมื่อชั่วขณะที่เราได้พบกันอีกครั้ง คือจุดเริ่มต้น คือจุดสิ้นสุด คือทุกสิ่งที่หลอมรวมอยู่ในความสั่นสะเทือนของความรักที่พ้นประมาณ” ตอนหนึ่งจากบทประพันธ์ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่แวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส เรื่องราวแห่งความรักของชายหญิงคู่หนึ่งจากการเดินทางในท้องทะเลอันไกลโพ้นราวเทพนิยาย ที่เปี่ยมด้วยความทรงจำ ความโรแมนติค และความโศกเศร้าภายใต้ท้องนภาอันกว้างใหญ่ ที่โอบล้อมไปด้วยประกายแห่งแสงจันทร์ ดวงดาวที่พร่างพราย และเส้นขอบฟ้าที่ไม่รู้จบ บทประพันธ์นี้ คือแรงบันดาลพระทัยหลักในการทรงงานออกแบบ คอลเล็คชั่นในปี 2560 ที่โดดเด่นด้วยโครงสร้างเสื้อผ้าที่มีความอ่อนช้อย งานปักอันปราณีต ไปจนถึงลายกราฟฟิคฝีพระหัตถ์ที่งดงาม

2562-2563

นับเป็นครั้งแรกที่ Sirivannavari Bangkok เปิดตัวคอลเล็คชั่นใหม่ประจำฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ประจำปี 2019/2020 จากผลงานการออกแบบของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ติดตามคอลเล็คชั่นเต็มๆ ของ Sirivannavari Bangkok  ประจำ AUTUMN/WINTER 2019-2020 ​พร้อมชมวิดีโอแฟชั่นโชว์ได้ที่เฟสบุ๊ค นิตยสารแพรว


ภาพและข้อมูล : sirivannavari_shop

Praew Recommend

keyboard_arrow_up