หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้วนั้น ก็ยังมีอีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เริ่มจากท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกอบด้วยกำลังพลประจำเรือในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,200 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ แพรวดอทคอม จึงรวบรวมประวัติความเป็นมาของเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ มาแบ่งปันเป็นความรู้แก่ทุกคน ก่อนจะถึงพระราชพิธีสำคัญนี้
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์กรที่เรียกว่า World Ship Trust เมื่อพุทธศักราช 2535 สร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี อีกทั้งยังมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรว่า “สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม”
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์หรือเรือสุวรรณหงส์ มีมาแต่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เรียกว่า “เรือไชยสุพรรณหงส์” ในรัชกาลที่ 2 สมัยรัตนโกสินทร์ มีเรือชื่อว่า “เรือศรีสุพรรณหงส์” และในจดหมายเหตุต่างๆ ครั้งรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ออกชื่อว่า “สุพรรณหงส์” ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกเป็น “ศรีสุพรรณหงส์” ก็มี “ไชยสุพรรณหงส์” ก็มี สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ขึ้นใหม่ใช้แทนลำเดิมที่ทรุดโทรม
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก หัวเรือพระที่นั่งมีโขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียกว่า ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง ตัวเรือกว้าง 3.14 เมตร ยาว 44.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย พลธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนเห่ 1 นาย
สำหรับความหมายของชื่อนั้น “หงส์” เป็นพาหนะของพระพรหม ซึ่งเป็นเทพผู้สร้างตามที่ปรากฏในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า พระพรหมเป็นเทพผู้สร้างโลก จากนั้นจึงสร้างสิ่งต่างๆ คัมภีร์พระเวทซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ก็มาจากพระโอษฐ์ของพระพรหม พราหมณ์จึงนับถือพระพรหมเพราะเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ ในจักรวาล
ส่วนคัมภีร์ปุราณะกล่าวถึงกำเนิดของพระพรหมว่า ครั้งหนึ่งพระนารายณ์บรรทมอยู่เหนือพญาอนันตนาคราช ได้บังเกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี เมื่อดอกบัวบานปรากฏว่ามีพระพรหมประทับอยู่ภายใน จากนั้นพระพรหมจึงสร้างโลก พระพรหมทรงมี “หงส์” เป็นพาหนะ ไทยจึงสร้างเป็นโขนเรือพระที่นั่งเป็นรูปหงส์ แสดงถึงคติความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ฮินดู ดังความว่า “เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์”
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394) แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2394 – 2411) ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พุทธศักราช 2453 – 2468) และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พุทธศักราช 2457
เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หัวเรือจำหลักรูปพญานาคเจ็ดเศียร ลงรักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน เรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 87 เซนติเมตร กินน้ำลึก 31 เซนติเมตร ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 54 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนถือบังสูรย์-พัดโบก-พระกลด 3 คน และคนเห่เรือ 1 คน
ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ 3 คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย
ในฮินดูปกรณัมปรัมปรา อนันตะ หมายถึง งูเทพ หรือ งูทิพย์ ผู้มีพลังยิ่งใหญ่ รู้จักกันในชื่อ เศษะ หรือ อาทิเศษะ เป็นผู้ที่มีเศียรหนึ่งพัน และประดับด้วยอัญมณีหนึ่งพันที่ส่องประกายสว่างจ้าไปทุกหนแห่ง
คัมภีร์ปุราณะของอินเดียกล่าวว่า อนันตะอาศัยอยู่ลึกลงไปกว่าโลกบาดาลทั้ง 7 ชั้น และแบกโลกทั้งหมดไว้บนเศียร คราใดที่อนันตะหาว โลกก็สั่นไหว บางคัมภีร์อธิบายว่า อนันตะมีชื่ออีกอย่างว่า วาสุกิ (ไทยเรียก วาสุกรี) ซึ่งมี 7 เศียรและอยู่ในโลกบาดาลชั้นที่ 7 อนันตะปกครองนาคทั้งหลาย เรื่องราวจากคัมภีร์ข้างต้นให้อิทธิพลต่อความเชื่อของคนไทยที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ใต้โลกของเรามีปลาอานนท์ ซึ่งแบกโลกไว้ คราใดปลาอานนท์ขยับตัว โลกจะสั่นคลอนเกิดแผ่นดินไหว และยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเจ็ดเศียรบันดาลให้เกิดฝน
ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของไทยเป็นอวตารของพระวิษณุลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ดังนั้นพระองค์จึงควรมีเรือพระที่นั่งเป็นพญาอนันตนาคราช ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวที่ว่า พระวิษณุประทับบรรทมบนพญาอนันตนาคราชในช่วงกาลดับสลายและเริ่มต้นการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นเรือพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ ซึ่งสร้างแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสร้างรูปพระนารายณ์ทรงยืนอยู่เหนือรูปครุฑยุดนาคที่มีอยู่เดิม จึงเป็นเรือพระที่นั่งเพียงลำเดียวที่มีโขนเรือเป็นรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู พระราชทานนามเรือพระที่นั่งลำนี้ว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ขนาดตัวเรือยาว 17 วา 2 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ท้องลึก 1 ศอก 6 นิ้ว พื้นทาสีแดง ใช้ฝีพาย 65 นาย
ต่อมาเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณชำรุดจนไม่อาจใช้การได้ จึงมีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณขึ้นใหม่ แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ พระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ซึ่งสร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกา
โขนเรือและตัวเรือจำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน
นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ
หัวเรือพระที่นั่งจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ บ่งบอกอิทธิพลศาสนาฮินดูตามคัมภีร์ปุราณะจากอินเดียที่มีต่อประเพณีนิยมและศิลปกรรมไทย พระวิษณุเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญที่สุด 3 องค์ อีก 2 องค์ คือ พระพรหมและพระศิวะ ซึ่งพระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์รักษา พระองค์ถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ในรูปร่างต่างๆ เรียกว่า อวตาร เชื่อกันว่าทรงแบ่งภาคลงมากำเนิดเป็นพระราชาได้ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา
ในพุทธศตวรรษที่ 19 ราชสำนักไทยได้รับเอาแนวคิดเช่นนี้มา ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่ประชาชนซึ่งเกื้อหนุนสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้สูงส่งประหนึ่งเทพ อย่างไรก็ดี โขนเรือพระที่นั่งลำนี้มิได้แสดงรูปพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์มีสมมติพระนามโดยเรียกตามนามของพระราม แต่ได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น
ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑเจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 102 ปี ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปนาคตัวเล็กๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระเจ้าอยู่หัวก่อนเสด็จขึ้นหรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ เรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 91 เซนติเมตร กินน้ำลึก 46 เซนติเมตร น้ำหนัก 7.7 ตัน กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 61 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือ โดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่นๆ
ชื่อเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำภาษาสันสกฤตคือ ภุชงฺคะ มีความหมายเดียวกันกับ นาคะ หรือไทยเรียกว่า นาค เป็นเทพในฮินดูปกรณัมปรัมปรา บางครั้งก็ปรากฏในพระพุทธศาสนาด้วย นาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาคเป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์ โดยเทพเจ้าหลายองค์ของศาสนาฮินดูโยงใยกับนาคหรือที่ปรากฏในรูปร่างของงู หรืองูเทพ (งูทิพย์) เช่น พระวิษณุบรรทมบนพญานาคอนันตะหรือเศษะนาคทอดตัวอยู่เหนือแผ่นน้ำ
ข้อมูลและภาพ : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช๒๕๖๒, www.phralan.in.th, เรือพระราชพิธี