เรื่องเล่าแห่งความรักสุดงดงามของ 'ในหลวงรัชกาลที่ 9 - สมเด็จพระพันปีหลวง'

เรื่องเล่าแห่งความรักสุดงดงามของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9 – สมเด็จพระพันปีหลวง’

Alternative Textaccount_circle

ดังเป็นที่ประจักษ์ในสายตาของพสกนิกรไทยทุกคนว่า พระราชปฏิพัทธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นความรักที่งดงามและยิ่งใหญ่ ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่เคียงข้าง คอยดูแลกันในทุกๆ เรื่อง และทรงงานเพื่อประชาชนประสานกันมาตลอดรัชสมัย ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รับสั่งไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทับเคียงข้างมาตลอดรัชสมัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของพระชนม์ชีพ ทั้งยามสุขยามทุกข์ และในยามที่ทรงพระประชวร อย่างเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวหญิงจากสโมสรนักข่าวหญิงแห่งประเทศไทย จำนวน 29 คน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในโอกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2523

“…ต้องดูแล เพราะว่าบางครั้งท่านเพลินกับงาน กว่าจะออกมาเสวยก็ช้า ต้องคอยเคาะประตูคอยเข้าไปเฝ้าฯ แล้วก็เวลาหลังจากที่ประชวรเป็นปอดบวมเลยคอยห่วง ตอนนี้ท่านก็ย่างพระชนม์มากขึ้นยิ่งทำงานหนักใหญ่

“เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวประชวร (ต้น พ.ศ. 2518) ตอนนั้นหมอที่รักษาร้องไห้ พี่ชายฉัน (นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร) ก็เป็นหมออยู่ด้วย หน้าเขียวไม่นอนทั้งคืน เขาบอกว่ารู้สึกว่าเรากำลังจะเสียท่านไป เพราะว่าหมอให้ยาเท่าไรๆ ไข้ไม่ลงเลย ท่านแบบคล้ายๆ เพ้อๆ คือปอดทั้งสองข้างนี่บวม แล้วสุดปรอทอยู่ได้ตั้งเกือบ 10 วัน จนหมอบอกว่านี่ถ้าเป็นคนหัวใจไม่ดีก็หัวใจวายแล้ว สมเด็จพระศรีฯ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ท่านไปดูเองเลย…”

ในเรื่องของความห่วงใยดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งสองพระองค์ทรงมีให้กันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญและใส่พระราชหฤทัย ดังความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของพลเอก นายแพทย์ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา อดีตแพทย์ที่มีโอกาสถวายงานและตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เล่าว่า

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังครั้งหนึ่งที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ปกติทั้งสองพระองค์จะออกพระกำลังด้วยวิธีทรงพระดำเนินขึ้น-ลงพระตำหนัก ประมาณ 35 นาที แต่มีวันหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงงานข้างนอก ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไม่ได้ตามเสด็จด้วยและจะทรงออกพระกำลังเหมือนเช่นทุกวัน

“ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งกับผมว่า ‘วันนี้สมเด็จฯไม่เสด็จฯด้วยและจะทรงออกกำลังตามปกติ ให้หมอเดินนำหน้า เข้าใจไหม เพราะถ้าสมเด็จฯเดินเร็วจะทำให้เหนื่อย ให้หมอเดินนำ แต่อย่าเร็วเกินไป’

“หลังจากนั้นพอสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จลงจากพระตำหนัก ผมก็ทรุดตัวลงกราบพระบาทแล้วเดินนำหน้าพระองค์ คนที่ไม่รู้พอเห็นก็สงสัยว่าทำไมผมถึงทำแบบนั้น แต่ภายหลังรู้ว่าเป็นพระบรมราชโองการจึงเข้าใจ

“กระทั่งช่วงหลังปี พ.ศ. 2525 ด้วยปัจจัยเรื่องพระพลานามัยส่งผลให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงงานที่ต่างจังหวัดน้อยลง เช่น หมายกำหนดการอยู่ที่ 10 วัน แต่พระองค์อาจทรงงานแค่ 7 วันแล้วเสด็จฯกลับพระนคร ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังทรงงานและเสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการต่างๆ แทนพระองค์

“ในเรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล่าพระราชทานแก่ผมว่า พอทรงงานเสร็จทุกคนกลับมาพักผ่อนและเข้านอน แต่พระองค์ท่านจะทรงโทรศัพท์ถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อกราบบังคมทูลว่า โครงการต่างๆ ดำเนินการเป็นอย่างไร ถ้างานมีความก้าวหน้า พระองค์ท่านจะพอพระราชหฤทัยมาก ผมฟังก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพราะเวลาตามเสด็จต่างจังหวัดกว่าจะกลับถึงพระตำหนักก็มืดค่ำ ทุกคนเหนื่อยกันถ้วนหน้า แต่ยังมีเจ้านายสองพระองค์ที่ยังทรงงานเพื่อประชาชนคนไทยต่อจนถึงดึกดื่น”

ตลอดรัชสมัย พสกนิกรไทยต่างยังจดจำภาพของทั้งสองพระองค์ที่เสด็จฯออกไปทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ แม้จะเป็นท้องที่ทุรกันดารที่ยากลำบากเพียงใด แต่ทั้งสองพระองค์ก็ประทับเคียงข้างกันไปในทุกที่ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร


 

ติดตามอ่านเรื่องราวพิเศษของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 มหาราชผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวไทยฉบับสมบูรณ์ได้ในนิตยสารแพรวฉบับพิเศษ “ตุลามหาราช” สามารถหาซื้อได้ที่ ร้านหนังสือนายอินทร์ ทั่วประเทศ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up