งดงามตราตรึง พระบรมสาทิสลักษณ์ 2 มหาราช ผลงานจรดพู่กันของ 10 ศิลปินระดับชาติ

งดงามตราตรึง พระบรมสาทิสลักษณ์ 2 มหาราช ผลงานจรดพู่กันของ 10 ศิลปินระดับชาติ..นับว่าเป็นครั้งแรกของการรวมเหล่าศิลปินระดับประเทศที่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นพิเศษ ซึ่งปรากฏอยู่ในแพรวฉบับพิเศษ “ตุลามหาราช” ในการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของสองมหาราชที่ทรงเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของคนไทยท้ังชาติ ”พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่ ๙  เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ  ทั้งสองพระองค์ที่ยังคงสถิตอยู่ในใจของปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์

ศิลปิน : ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง
ชื่อภาพ : จำแขนขาด สู่ถิ่นกาขาว ชาววิไล
เทคนิค : สีอะะคริลิกบนผ้าใบ

“ผมวาดภาพนี้ในคืน ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐  ก่อนได้รับการติดต่อจากนิตยสารแพรว  ผมเกิดความคิดว่าเดือนตุลาคม ถือได้ว่าเป็นเดือนมหาวิปโยค เพราะพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ที่คนไทยรักและเทิดทูนเสด็จสวรรคตในเดือนนี้  จึงเป็นเหตุปัจจัยทำให้ผมวาดภาพนี้ขึ้นมา  จะเห็นได้ว่าพระพักตร์ของทั้งสองพระองค์ชัดเจน  แต่พระวรกายดูเลือนราง สื่อถึงพระองค์ท่านไม่ได้อยู่พวกเราแล้ว  มีเพียงภาพลักษณ์พิมพ์ใจที่หลงเหลืออยู่”

ศิลปิน : อาจารย์ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ
ชื่อภาพ : กลางคืนทรงเป็นพระจันทร์ กลางวันทรงเป็นพระอาทิตย์
เทคนิค : สีอะคริลิกทองคำเปลวบนผ้าใบลินิน

“ด้วยความระลึกถึงทั้งสองพระองค์ที่ทรรงอุทิศิ ทั้งพระชนม์ชีพให้ประเทศไทย จึงตั้งใจสื่อพระพักตร์ออกมาในรูปแบบของเหรียญกษาปณ์  แสดงถึงความยิ่งใหญ่  เคารพและเทิดทูน ผมอยากให้คนไทยได้ทราบว่าทั้งสองพระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานเพื่อแผ่นดินไทยไว้อย่างไร แล้วทรงทำตามพระราชปณิธานนั้นจริง ๆ”

ศิลปิน : อาจารย์ธีระวัฒน์ คะนะมะ
ชื่อผลงาน : พระคู่ฟ้า คู่แผ่นดิน
เทคนิค : สีอะคริลิกบนกระดาษ

“ผมได้รับเกียรติจากนิตยสารแพรว วาดภาพเพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน  โดยเขียนรูปทั้งสองพระองค์ซ้อนกันอยู่ เพื่อสื่อให้รู้ว่า พระองค์ยังอยู่คงอยู่ในใจคนไทยเสมอ แม้เสด็จสวรรคตแล้วก็ตาม  โดยล้อมรอบทั้งสองพระองค์ด้วยดวงประทีป  แม้จะริบหรี่ลงแต่ก็ยังคงส่องสว่างอยู่ตลอดเวลา  ด้านหลังปล่อยเป็นพื้นขาวให้ดูสะอาด และตั้งใจให้สีที่วาดพระพักตร์ของทั้งสองพระองค์เป็นสีขาวดำ  สีซีเปีย  เพื่อให้ดูว่าเป็นภาพเก่ารางเลือน  แต่ยังคงชัดเจนและแจ่มใสในใจของพวกเราคนไทยเสมอ”

 

ศิลปิน : อาจารย์สุรเดช แก้วท่าไม้
ชื่อภาพ : ทวิปิยะองค์
เทคนิค : สีอะคริลิกและทองบนผ้าใบ

“ผมตั้งใจเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ทั้งสองพระองค์อยู่ในภาพเดียว  คิดด้วยความเป็นเหตุเป็นผลในฐานะพสกนิกรของพระองค์ว่า  อยากให้หลานอยู่กับปู่ที่รัก และเป็นหลานรักของปู่  จึงเขียนภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะทรงพระเยาว์  ส่วนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  ผมเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายพระรูปกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยเปลี่ยนมาเป็นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๙ แทน  ซึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ขณะที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงกอดพระองค์อยู่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๙ ทรงถือเรือจำลองแทนความเจริญรุ่งเรือง และได้มีการปรับเปลี่ยนแสงเงาให้มีความกลมกลืนมากยิ่งขึ้น

ศิลปิน : อาจารย์ธนฤทธิ์ ทิพย์วารี
ชื่อภาพ : ด้วยสายพระเนตรที่ทอดยาวไปสู่ลูกหลานไทย
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าลินิน

“ผมวาดภาพนี้ในฐานะพสกนิกรไทยคนหนึ่งที่รู้สึกต่อทั้งสองพระองค์ ด้วยสองพระพักตร์ที่เชื่อมโยงไปในทางเดียวกัน  และด้วยสายพระเนตรทอดไกลออกไปยังสิ่งเดียวกันในความหมายของผมคือ  ทรงคิดถึงและทรงห่วงใยในความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรของพระองค์เสมอ  ซึ่งสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่พวกเราคือ  เสรีภาพ  ความพอเพียง  ความสามัคคี ให้รู้จักใช้ความดีในการดำรงชีวิต”

ศิลปิน : รองศาสตราจารย์ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง
ชื่อภาพ : สองพระองค์ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
เทคนิค : สีอะคริลิกบนผ้าลินิน
ศิลปิน : รองศาสตราจารย์ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง
ชื่อภาพ : สองพระองค์ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
เทคนิค : สีอะคริลิกบนผ้าลินิน

“จุดเริ่มต้นผมคิดถึงความรัก เพราะคนจะดำรงชีวิตได้ด้วยความรัก  ถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นมาในโลกนี้  ผมรู้สึกได้ว่าทั้งสองพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงเกิดมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ยากลำบากให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยไม่ได้ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง  แม้ทั้งสองพระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้ว  แต่ความรักและความดีของพระองค์ยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของเรา  ผมจึงถ่ายทอดให้พระองค์อยู่ท่ามกลางดอกกุหลาบ  แทนค่าด้วยความรักที่บริสุทธิ์และงดงาม”

ศิลปิน :อาจารย์กิตติ พลศักดิ์ขวา
ชื่อภาพ : สองพระมหากษัตริย์จอมทัพไทย
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าลินิน

“ด้วยทั้งสองพระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “มหาราช” และทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย  จึงอยากเขียนภาพทั้งสองพระองค์ ในฉลองพระองค์เต็มยศ  เนื่องจากทรงอยู่ในสองช่วงเวลาที่แตกต่างกัน  โดยสมเด็จพระปิยมหาราชประทับเบื้องหลัง หมายถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๙ ประทับเบื้องหน้า  ด้วยภาพที่ทรงหันพระพักตร์ด้านข้าง  ทำให้เขียนออกมายากมาก  เพราะจะผลักระยะ อย่างไรให้ดูลึกดูตื้น  จะวาดอย่างไรให้รู้สึกได้ถึงพระบารมีและสมพระเกียรติทั้งสองพระองค์”

ศิลปิน : อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม
ชื่อภาพ : มหาราชัน
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

“คอนเซ็ปต์ของภาพนี้คือ ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  แต่รวมอยู่ในภาพเดียวกัน เหมือนกับทั้งสองพระองค์กำลังทรงฉายพระรูปร่วมกัน”

ศิลปิน : อาจารย์ประทีป คชบัว
ชื่อภาพ : สองมหาราชในดวงใจ
เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ผมประทับใจ ผมเลือกวาดทั้งสองพระองคข์ณะมีพระชนมพรรษา ๒๐ พรรษาต้น ๆ  เป็นช่วงวัยหนุ่มที่ทรงมีพลังและพระพักตร์เปล่งประกายงดงาม  แต่เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์ ต้นฉบับของทั้งสองพระองค์เป็นขาวดำ  ฉลองพระองค์ก็เป็นสีขาวดำ  จึงต้องแปลงน้ำหนักของพระพักตร์  แปลงขาวดำให้เป็นสี  อีกทั้งเรื่องของแสงเงา  ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์ต้นฉบับแสงมาคนละด้านกัน  จึงต้องพยายามกลบแสงและทำให้กลมกลืนที่สุด  ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก”

ศิลปิน :อาจารย์วัชระ กล้าค้าขาย
ชื่อภาพ : ๒ รัชสมัย   สถิตกลางใจ ตราบนิรันดร์
เทคนิค : สีชอล์กบนกระดาษ

“ผมจำลองความรู้สึกเหมือนเป็นช่วงเวลาที่มีวโรกาสครั้งสำคัญของพระองคท่าน อย่างการฉลองสิริราชสมบัติ  ซึ่งจะมีการออกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก  โดยเป็นเหรียญทอง  เปรียบว่าทั้งสองแผ่นดินเป็นยุคทองของประเทศไทย  เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานของประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง  การปกครอง  การศึกษา  ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ทรงนำรากฐานที่พระอัยกาทรงทำไว้ มาสานต่อในเรื่องความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชน  ผมวาดพระองค์ท่านให้เห็นความต่างอย่างชัดเจนระหว่างพระอัยกาและพระราชนัดดา”

อ่านเรื่องราวพิเศษของ 2 มหาราชผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวไทยฉบับสมบูรณ์ได้ในนิตยสารแพรวฉบับพิเศษ “ตุลามหาราช” สามารถหาซื้อได้ที่ ร้านหนังสือนายอินทร์ ทั่วประเทศ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up