เรื่องน่ารู้ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย

Alternative Textaccount_circle

หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้วนั้น ก็ยังมีอีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งนับว่าเป็นพระราชพิธีที่หาชมได้ยากยิ่ง แพรวดอทคอม จึงรวบรวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” มาฝากทุกคนกัน เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับพระราชพิธีสำคัญนี้ได้อย่างถูกต้อง และซาบซึ้งกับขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม ศักดิ์สิทธิ์ และล้ำค่าได้อย่างสมบูรณ์

ความหมายของ “พยุหยาตราทางชลมารค”

เริ่มกันที่ความหมายของคำว่า พยุหยาตรา หรือที่โบราณท่านเรียก พยุหบาตรา หมายถึง ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ ที่ประกอบด้วยสรรพกำลังจำนวนมาก จัดเป็นรูปขบวนอย่างมีแบบแผน เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปในการใดการหนึ่ง ในสมัยโบราณคงเป็นเรื่องของการพระราชสงคราม มีการจัดทัพเป็นขบวนพยุหยาตราเพื่อไปโจมตีข้าศึก หรือออกไปรับข้าศึกที่ยกเข้ามารุกรานพระราชอาณาเขต ถ้าไปทางบกก็เรียกว่า “พยุหยาตราทางสถลมารค” ซึ่งมีทั้งขบวนช้าง ขบวนม้า และขบวนเดินเท้า ถ้าไปทางน้ำก็เรียกว่า “พยุหยาตราทางชลมารค” การพระราชสงครามสมัยโบราณนั้นคงต้องมีทั้งขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และพยุหยาตราทางชลมารค คงจะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดมิได้ ที่สำคัญคือ เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นจะต้องเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารคด้วย


​นอกจากนี้ ในสมัยก่อน คำที่ใช้เรียกกระบวนทัพ คือ พยุหบาตรา ดังจะเห็นได้จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่ปรากฏข้อความว่า “แลโหรทำนายว่าห้ามยาตรา แลมีพระราชโองการตรัสว่า ได้ตกแต่งการนั้นสรัพแล้ว จึงเสด็จพยุหบาตราไป” หรือจากพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ซึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า “เสดจ์พยุหบาตราทัพโดยแถวสถลมารค ไปเข้าที่เสวยตำบลบ้านสะแก้วสะเล่า” แต่ปัจจุบันคำว่า พยุหบาตรา เลิกใช้แล้ว ใช้แต่คำว่า พยุหยาตรา

“ขบวนพยุหยาตราชลมารค” ในสมัยโบราณ

ขบวนพยุหยาตราชลมารค มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในสมัยสุโขทัยนั้นปรากฏหลักฐานว่าพระร่วงทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียงลอยประทีป ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสาย เส้นทางน้ำจึงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของชาวกรุงศรีอยุธยา ทั้งในยามศึกสงครามและยามสงบ มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่สำคัญและมีหลักฐานบันทึกไว้ชัดเจน คือ กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ จัดเป็นกระบวนต่างๆ มีทั้งสถลวิธี (ทางบก) และชลวิธี (ทางน้ำ) หรือในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองก็ได้ทรงสร้างเรือพระที่นั่งกิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นต้นกำเนิดกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ซึ่งเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนทุกวันนี้

สมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างเรือรบและเรือราชพิธีขึ้นใหม่ เนื่องจากเรือที่มีอยู่เดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาไปเป็นจำนวนมาก แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรือรบ เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เรือที่ทรงสร้างในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด และเรือโขมดยาปิดทองทึบ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 โดยเริ่มการฝึกซ้อมย่อยตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนธันวาคม

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยกำลังพลประจำเรือในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,200 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประทับเรือพระทั่นั่งสุพรรณหงส์ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจะเริ่มจากท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์


 

ข้อมูลและภาพ : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช๒๕๖๒, www.phralan.in.th, www.khaosod.co.th

Praew Recommend

keyboard_arrow_up