เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

4 พระจริยวัตรอันน่าชื่นชม วิถีแห่งความสำเร็จของ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี”

Alternative Textaccount_circle
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา นิตยสารแพรว ได้รับพระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้าเพื่อฉายพระรูปและสัมภาษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงองค์น้อย หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล ทำให้เหล่าพสกนิกรได้ชื่นชมพระบารมีของเจ้าหญิงองค์น้อยมาอย่างต่อเนื่อง

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ครั้งนี้ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วันที่ 8 มกราคม 2563 ซึ่งทรงเจริญพระชันษา 33 ปี นิตยสารแพรว จึงได้ประมวล 4 พระจริยวัตรอันน่าชื่นชมของพระองค์มานำเสนอ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้ชื่นชม และน้อมนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

โดยพระจริยวัตรแง่มุมต่างๆ ที่ปรากฏ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิด และความตั้งพระทัยในการดำเนินพระชนม์ชีพ และการทรงงาน อีกทั้งแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของพระองค์นั้นไม่ใช่ได้มาโดยง่าย แต่เมื่อได้มาแล้วช่างทรงคุณค่า และงดงามต่อพระองค์เองยิ่งนัก จึงนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระราชทานเรื่องเล่าต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับคนรุ่นต่อไป

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

มีพระวิริยอุตสาหะ รู้ค่าของเงินตั้งแต่ทรงพระเยาว์

น้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความมัธยัสถ์ และรู้ค่าของเงินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สังเกตได้จาก บทพระราชทานสัมภาษณ์ที่ทรงเล่าเรื่องราวการเปิดซาลอนในพระตำหนัก ตั้งแต่พระชันษา 10 ปี โดยมีพระพี่เลี้ยงและข้าราชบริพารรายรอบมาใช้บริการ ดังที่ทรงเล่าพระราชทานไว้ในนิตยสารแพรว ฉบับ 10 มิถุนายน 2540 ว่า

“…ถอนผมหงอก 3 บาท เขียนคิ้วถาวร 5 บาท แต่งหน้าเจ้าสาวก็ได้นะ มีบริการสระผมและแจกขนมด้วย นำรายได้ไปบริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์”

ต่อมาเริ่มฮิตเครื่องถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ ก็ทรงมีเครื่องนี้ให้บริการที่พระตำหนักด้วย สร้างรายได้วันละเป็นพันบาท ครั้นเมื่อมีพระชันษา 14 ปี เสด็จไปประเทศญี่ปุ่น ทรงช็อปปิ้ง และต่อรองราคาสินค้าเก่งมาก ทรงเล่าว่า

“บางทีต่อจนคนขายเหงื่อหยด พูดถึงต่อของ ตอนนั้นไปญี่ปุ่น ต่อจนเขาเอาหัวตัวเองโขกกับโต๊ะ…แค่นี้นะครับ นิดหนึ่งนะครับ ท่านหญิงบอก ไม่ได้ เดี๋ยวเสียดุล เอาอีก งั้นไอไม่ซื้อของยูนะ เขาก็กดๆ เครื่องคิดเลข ขออีกนิดหนึ่งนะครับ ทำท่าอาริกาโตะแบบญี่ปุ่น พอท่านหญิงยังไม่ยอม เขาก็เอามือ ไว้ที่โต๊ะแล้วเอาหัวโขกกับโต๊ะปึ้งๆ จนแว่นจะหลุด…ขอเท่านี้เถอะครับ เขาไม่เคยลดให้ใครถูกเท่านี้มาก่อน” (แพรว ฉบับ 25 มีนาคม 2544)

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

จากนั้นเมื่อมีพระชันษา 16 ปี ทรงมีวิธีใช้จ่ายเงินเปลี่ยนไป ดังที่ทรงเล่าในนิตยสารแพรว ฉบับ 25 สิงหาคม 2546 ว่า

“ยอมรับว่าสมัยเด็กๆ ฟุ่มเฟือย แต่พอโตขึ้นมาก็ไม่แล้ว อย่างดีแค่หยิบดู เออ…สวยดี แล้วก็วาง ถ้าจะไปช็อปปิ้งก็คิดไว้ก่อนว่าอยากซื้ออะไรแน่ บางที วันไหนไม่ซื้อก็ดูๆ แล้วผ่านไป ถ้าเห็นว่าราคาสูงไปก็ขอต่อหน่อย เขาไม่ให้ ก็ไม่เป็นไร ไปดูร้านอื่น ท่านหญิงเป็นเจ้าแม่นักต่อราคาอยู่แล้ว บางทีเจ้าของร้านเขาให้มาเลยก็มี เราเกรงใจเขา ก็แอบๆ ยัดสตางค์คืนให้ไป เดี๋ยวนี้พวกแบรนด์ดังๆ ในเมืองไทย ท่านหญิงไม่ค่อยกล้าเดินแล้วละ จะใช้ชีวิตแบบเรียบๆ ง่ายๆ มากกว่า

“นี่ก็เพิ่งไปจตุจักรมา ต่อราคากันสนุกไปเลย เพื่อนบางคนต่อเก่งกว่าท่านหญิงอีก อย่างคนขายบอกว่า 220 เพื่อนบอกทันทีเหมือนกัน พี่ขาเศษ 20 ไม่มี ขอเป็น 200 ถ้วนได้ไหม ท่านหญิงอึ้ง อะไรกัน ก็เห็นอยู่ว่าในกระเป๋ามีแบงก์ 20 ตั้งหลายใบ พอออกมาถาม เพื่อนบอกว่าเป็นทริคค่ะ เป็นทริค เราก็ โอ้…เก่งมากๆ เพื่อนฉัน”

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ทรงอดทน มีระเบียบวินัยเป็นที่ตั้ง

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงฝึกงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยมีพระประสงค์ที่จะทรงศึกษาหาความรู้ โดยทรงเปรียบพระองค์เป็นพนักงานคนหนึ่ง ดังที่ทรงเล่าพระราชทานว่า

“…ตั้งใจว่าจะไปเรียนทำอาหารอย่างเดียว ไปๆ มาๆ ก็ไปเรียนเซตติ้งเทเบิ้ล แล้วไปไวน์…อย่างงาน 125 ปี โอเรียนเต็ล ท่านหญิงก็อยู่ช่วยงาน 4 อย่าง…ทั้งอยู่ห้องขนม ไปอยู่บุฟเฟ่ต์ แล้วก็ไปอยู่แบงเคว็ต ไปอยู่สลัด จัดแหลกกว่าจะเสร็จ แขกเข้าทุ่มครึ่งยังไม่เสร็จเลย ต้องรีบทำให้เสร็จ จะได้กลับบ้าน…บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมาก ขึ้นรถกลับบ้าน บอกตัวเองว่าห้ามพูดเด็ดขาด ขอตัวเองหยุดพูดเพื่อหายใจก่อน เหนื่อยแต่สนุก”

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

แม้กระทั่งการเสด็จออกงานต่างๆ อยู่เสมอ พระองค์ก็ไม่ทรงเคยย่อท้อหรือเหน็ดเหนื่อยเลย

“…ท่านหญิงทนได้หมด อายุเท่านี้แต่อึดมาก…ชินแล้วค่ะ ชินแล้ว ให้ทำอะไรก็ทำได้ คือว่าเป็นหน้าที่ของเรา”

“งานแบบไหนที่โปรดเสด็จฯเพคะ”

“ที่ลุยๆ หน่อย อย่างเราต้องลุยนิดหนึ่ง มันขึ้น ผจญภัยขึ้น” (แพรว ฉบับ 25 มีนาคม 2544)

ตอนทรงงานแฟชั่นที่ฝรั่งเศส ทรงมีกล่องตัดเย็บส่วนพระองค์ เมื่อเปิดฝาออกจะเป็นลิ้นชักเลื่อนเป็นชั้นๆ ใส่เข็มหมุด กรรไกร ด้าย และอุปกรณ์การตัดเย็บต่างๆ แม้ทรงงานค้างอยู่ ต่อให้รกแค่ไหนก็จะทรงเก็บทุกอย่างด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเกรงว่าถ้าให้พระพี่เลี้ยงหรือคนอื่นเก็บแล้วจะทรงหาของที่ต้องใช้ไม่เจอ พร้อมกับรับสั่งว่า

“ไม่เชิงระเบียบหรอก แต่อยากจัดของให้เป็นที่เป็นทาง จะได้หาเจอง่ายๆ และสนุกกับการได้ทำเองด้วย” (แพรว ฉบับ 25 พฤศจิกายน 2556)

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

โปรดการอ่าน และค้นคว้า

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา รับสั่งถึงเรื่องการอ่านว่า “ท่านหญิงชอบอ่านหนังสือนะ ที่เหลือก็อ่านได้หลายแนว ตั้งแต่การ์ตูนทั้งหลาย เรื่องโปรดคือเรื่องที่อ่านแล้วซึ้ง ดิจิทัล โคนัน พีซเกิร์ล ทั้งหมดนี้คือซื้อเอง ไปเหมาร้านเขามาด้วย ชอบทั้งลายเส้นและเนื้อเรื่อง บางเรื่องเบื่อแล้ว ก็ขายต่อได้ พยายามอย่าให้ยับแล้วจะได้ราคาดี หนังสือซีเรียสก็อ่าน…” (แพรว ฉบับ 25 สิงหาคม 2546)

โดยเฉพาะโปรดการอ่านและค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ “ท่านหญิงชอบอ่านหนังสือสไตล์ที่เป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ประวัติศาสตร์ เรื่องจริงอ้างอิง แล้วก็เรื่องแปล…”

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อผลสำเร็จของงาน

ทุกครั้งที่ แพรว ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์ สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ตลอดคือ ทรงทุ่มเทจริงจังกับทุกเรื่องที่สนพระทัย

“ใช่ค่ะ เป็นแบบนั้นกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะขี่ม้า แฟชั่น หรืออะไรก็ตาม ไม่อยากถูกใครว่า พอจับอะไรสักอย่างแล้วรู้จริงไหม เวลาทำอะไรจึงทุ่มเทมาก แม้แต่เรื่องแต่งหน้าก็ยังต้องมาเรียนกับพี่เป็ด (อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์) เราอยากทำเป็นด้วยตัวเอง เพราะเวลาไปดูแฟชั่นโชว์หรือออกงานที่ต่างประเทศ พี่ช่างแต่งหน้าอาจไม่ได้ตามไปด้วย เราต้องทำเอง และต้องรู้ให้ลึกว่ารูปหน้าของแต่ละคนเป็นอย่างไร ใบหน้าของเราควรแต่งแบบไหน

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

“ท่านหญิงไม่อยากให้คนพูดว่าเป็นเจ้าหญิงถึงได้ทำนั่นทำนี่ ท่านหญิงทำงานแบบมืออาชีพในทุกเรื่อง และยินดีรับฟังคำวิจารณ์ ไม่อยากให้ใครดูถูกว่า เจ้าหญิงต่างแดนทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ที่สำคัญเราเกิดเป็นลูกพ่อ ต้องตั้งใจทำทุกเรื่องให้ดีที่สุด” (แพรว ฉบับ 25 พฤศจิกายน 2556)

“ท่านหญิงได้อะไรจากการเล่นกีฬาหลายอย่างนะ เช่น ความอดทน ซึ่งพอมาวงการแฟชั่นก็ได้นำมาปรับใช้ด้วย รู้จักรับแรงกดดันจากสื่อ จากอะไรต่างๆ อย่างบางทีได้ยินคนเมาท์ คนนินทา ก็ต้องทำใจว่ามีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบ

“แทนที่จะกลุ้มใจ สู้มาคิดว่าทำอย่างไรให้เรามัดใจคนที่ไม่ชอบได้จะดีกว่า วิธีนี้เป็นทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด…” (แพรว ฉบับ 10 กันยายน 2548)

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี


 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 948

Praew Recommend

keyboard_arrow_up