ยาลดความอ้วน ผมก็เคยขาย! เหรินเจิ้งเฟย จากยาจกสู่แม่ทัพใหญ่ “Huawei”

account_circle

จากยาจก สู่มหาเศรษฐีพันล้าน เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและแม่ทัพใหญ่ของ “Huawei” บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน

ดูเหมือนว่าตอนนี้ข่าวกูเกิลแบนหัวเว่ย เพราะได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกานำโดย ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกที่คนให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้มือถือหัวเว่ย ที่ดูจะกังวลเป็นมากพิเศษ

เพราะอย่างที่รู้กันว่าหัวเว่ยใช้ระบบปฏิบัติการ Google Android บนมือถือ ซึ่งหากหัวเว่ยถูกระงับการใช้ถาวรนั้น ต่อจากนี้มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่หัวเว่ยจะผลิตออกมาจะไม่สามารถเข้าระบบการใช้งานต่างๆ บนกูเกิลได้ เช่น Youtube, Gmail, Goolgle Map ฯลฯ แม้ว่าตอนนี้ทางการสหรัฐฯจะออกใบอนุญาตชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันให้กับหัวเว่ย เพื่อให้ทางแบรนด์ยังสามารถซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในประเทศสหรัฐฯ รวมถึงให้ผู้ใช้ยังสามารถอัพเดตซอฟต์แวร์บนมือถือได้ แต่ไม่สามารถใช้ผลิตรุ่นใหม่ได้

เหรินเจิ้งเฟย

แต่ดูเหมือนว่า 90 วันที่สหรัฐฯให้มานั้นจะไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อหัวเว่ย โดยนายเหรินเจิ้งเฟย ได้เผยถึงใบอนุญาตชั่วคราวที่ให้มาว่า “คำสั่งนี้แทบไม่มีความหมาย” ซึ่งเขายังได้บอกอีกว่า หัวเว่ยรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งบริษัทเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ โดยหัวเว่ยได้สร้างระบบปฏิบัติการของตัวเองอย่าง Hongmeng OS มาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งตามรายงานนั้นระบบปฏิบัติการนี้ก็พร้อมใช้งานแล้วอีกด้วย

ทั้งนี้นายเหรินเจิ้งเฟย ยังกล่าวอีกด้วยว่า การแบนของสหรัฐฯจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงข่าย 5G หัวเว่ย เพราะบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ไม่สามารถตามได้ทัน อย่างน้อยก็อีกสองถึงสามปี

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และ นายเหรินเจิ้งเฟย

ศึกทางการค้าครั้งนี้ดูแล้วจะไม่ใช่การรบแบบธรรมดา เพราะล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ส่งสัญญาณว่าหากสหรัฐฯมีการคว่ำบาตรทางการค้ากับประเทศจีน แดนมังกรจะไม่ส่งแร่แรร์เอิร์ธให้ ซึ่งแร่นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทคอีกมากมาย รวมถึงอาวุธ โดยจีนนั้นมีแร่จำนวนนี้ถึง 90% ของทั้งโลก โดยสัญญาณนี้เกิดขึ้นขณะที่นายสี จิ้นผิง เดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิตแร่แรร์เอิร์ธ (Rare-earth) ที่มณฑลเจียงซี

จากที่กล่าวไปตอนต้นว่า “Huawei” เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน รวมถึงในปีที่ผ่านมาหัวเว่ยยังมียอดขายกว่า 200 ล้านเครื่อง ทำยอดขายกว่าแสนล้านดอลลาร์ แซงหน้าสมาร์ทโฟนในตำนานอย่าง I-Phone ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก Samsung

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหัวเว่ยจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะทางแบรนด์ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า จะแซงซัมซุงและขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟน ภายในปี 2020 ให้ได้ แต่กว่าที่หัวเว่ยจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางคมนาคมในแดงมังกร บอกเลยว่าไม่ง่าย แล้วเหรินเจิ้งเฟย พาหัวเว่ยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร หนังสือ HUAWEI จากมดสู่แดนมังกร มีคำตอบ

เหรินเจิ้งเฟย เป็นชาวมณฑลเจ้อเจียง เกิดเมื่อปี 1944 ในอำเภอเจิ้นหนิง เขตอ่านซุ่น เมืองกุ้ยโจว ซึ่งเป็นเขตภูเขา เป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อยและยากจน

พ่อของ เหรินเจิ้งเฟย ชื่อเหรินโมซุ่น ทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่เมืองติ้งไห่ มณฑลเจ้อเจียง และเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู  ส่วนแม่ชื่อเฉิงหย่วนเจา แม้จะมีความรู้เพียงระดับมัธยมปลายแต่ด้วยอิทธิพลจากสามี จึงพยายามศึกษาด้วยตนเองจนได้เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์มัธยมปลายผู้มีชื่อเสียง ติดตามสามีสู่เขตภูเขากุ้ยโจวที่แร้นแค้น เพื่อมอบชีวิตให้กับเด็กยากจน เป็นผู้ขยันอดทน จิตใจดีงาม และประหยัดมัธยัสถ์

เหรินเจิ้งเฟยมีพี่น้องเจ็ดคน เขาเป็นคนโต ครอบครัวทั้งเก้าคนต้องยังชีพด้วยเงินเดือนอันน้อยนิดของพ่อแม่ เมื่อลูกเจ็ดคนโตขึ้นทุกวัน เสื้อผ้าก็สั้นลงทุกวัน และเด็กต้องเรียนหนังสือ รายจ่ายครอบครัวสูงมาก เหรินเจิ้งเฟยจำได้ว่าทุกวันเปิดเทอมต้องจ่ายค่าเล่าเรียนสองถึงสามหยวน แม่ก็จะกลุ้มใจ ทุกครั้งพอสิ้นเดือนแม่ต้องขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านเพื่อประทังความหิว  บางครั้งก็หายืมไม่ได้  เหรินเจิ้งเฟยตอนก่อนจบมัธยมจึงไม่เคยสวมชุดนักเรียน แม้อากาศร้อนก็ยังคงสวมเสื้อหนาๆ เพื่อนนักเรียนก็ยุให้เขาขอเสื้อใหม่จากแม่ แต่เขาบอกว่าไม่กล้า เพราะรู้ดีว่าแม่ทำไม่ได้ หลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม่ให้เสื้อเชิ้ตแก่เขาสองตัว ยามนั้นเขาอยากจะร้องไห้ เพราะ “ถ้าฉันได้ น้องๆ ก็ต้องลำบากแน่”

ระหว่างปี 1959 – 1962 เป็นห้วงเวลาสามปีที่ประเทศจีนลำบากมาก สำหรับครอบครัวสกุลเหรินที่มีลูกมากจึงยิ่งขัดสน ตลอดสามปีในโรงเรียนมัธยมปลายความฝันสูงสุดของเหรินเจิ้งเฟยคือ “ได้กินหมั่นโถวขาวล้วนสักลูก” แต่ห้วงเวลานี้เป็นยุคที่ชาวจีนลำบากที่สุดนับแต่มีประเทศจีนมา และความไม่เห็นแก่ตัวของพ่อแม่กลับมีผลอย่างลึกซึ้งต่อเหรินเจิ้งเฟย ในความเรียงเรื่อง “พ่อกับแม่ของผม” เขารำลึกดังนี้

“ขณะนั้นผมอายุ 14-15 เป็นลูกคนโต น้องๆ ยังเล็กอยู่และไม่รู้ความพ่อกับแม่จะแอบกินอาหารเองสักคำย่อมทำได้ แต่พวกท่านไม่เคยทำ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น อาจมีน้องๆ คนสองคนไม่รอดถึงวันนี้”

“ใกล้ถึงวันสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมอ่านหนังสืออยู่กับบ้านแล้วหิวจนทนไม่ไหว จึงเอารำข้าวคลุกกับผักแล้วย่างกิน พ่อได้เห็นเข้าหลายครั้ง ท่านปวดใจมาก เวลานั้นที่บ้านจนสุดๆ แม้แต่ตู้ที่ล็อกกุญแจได้สักใบก็ไม่มี อาหารต้องเก็บใส่กระปุกดิน แต่ผมไม่เคยแอบหยิบกินเลย ถ้าทำเช่นนั้น อาจมีน้องๆ คนสองคนไม่รอดถึงวันนี้”

ปี 1987-1997  เหรินเจิ้งเฟย ก่อตั้งหัวเว่ยด้วยเงินทุนจดทะเบียนสองหมื่นหนึ่งพันหยวน หลังพากเพียรสร้างธุรกิจมาสิบปี จากห้องทำงานเล็กๆ หัวเว่ย กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมในประเทศจีน และเพื่อขยายตลาดในลาตินอเมริกา เหรินเจิ้งเฟยจึงร่วมลงทุนทำธุรกิจด้วยเงินสามสิบล้านดอลลาร์ที่บราซิล หลังลงนามในสัญญาร่วมทุน หุ้นส่วนฝ่ายบราซิลจัดแจงให้เหรินเจิ้งเฟยไปท่องเที่ยวในป่าเขตร้อนแอมะซอน ก่อนออกเดินทาง บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหัวเว่ยพากันเลือกรองเท้าไนกี้และอาดิดาส แต่เหรินเจิ้งเฟยกลับซื้อรองเท้ายางราคาถูกที่สุด หลังการเดินป่า พอกลับถึงโรงแรม ทุกคนทิ้งรองเท้าเปื้อนโคลนไป แต่เหรินเจิ้งเฟยกลับขัดล้างรองเท้ายางคู่นั้นจนสะอาด ผึ่งให้แห้งแล้วเก็บกลับประเทศจีน

แม้ปัจจุบันหัวเว่ยจะได้ชื่อว่า “ไฮเทค” แต่ธุรกิจที่หัวเว่ยทำเมื่อแรกเริ่มคือการค้า เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ทางการค้า ยามนั้นพวกเขาทั้งหกคนจึงยังหาทิศทางไม่พบ อะไรที่ทำเงินได้ก็ทำ เคยขายเครื่องส่งสัญญาณเตือนไฟไหม้และยังเคยขายยาลดความอ้วนด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1994 ในนิทรรศการโทรคมนาคมนานาชาติครั้งที่หนึ่งที่ปักกิ่ง ท่ามกลางบู๊ธของต่างชาติ หัวเว่ยเป็นบริษัทจีนบริษัทเดียว ที่ร่วมแสดงในนิทรรศการและเป็นธงชาติดาวห้าดวงผืนเดียวที่ประดับในโซนของผู้ผลิตชาวต่างชาติ งานนิทรรศการครั้งนี้เหรินเจิ้งเฟยประกาศต่อลูกค้าชาวจีนว่า “สิบปีข้างหน้า ตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมจะถูกแบ่งเป็นสามส่วน ซีเมนส์ อัลคาเทล และหัวเว่ย”

สำหรับบริษัทที่เป็นเพียงห้องทำงานเล็กๆ ที่เพิ่งเข้าสู่วงการแล้ว การกล่าวเช่นนี้เท่ากับเป็นการท้าทายยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมทั่วโลก เมื่อเรามองกลับไปในอดีต น่าจะพอเห็นภาพว่ายามที่เหรินเจิ้งเฟยกล่าวคำพูดสุดอหังการเช่นนี้ห้าวหาญเพียงใด ทว่าใครบ้างจะนึกถึง บริษัทเทคโนโลยีจีนบริษัทนี้แหละในยี่สิบปีให้หลังท่ามกลางประกายดาบและมรสุมคลื่นลม หัวเว่ยไม่เพียงจะเป็นตัวป่วนของโลกโทรคมนาคม แต่ยังกลายเป็นฝันร้ายที่ไล่ไม่ไปของบรรดายักษ์ใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เหรินเจิ้งเฟยประสบความสำเร็จจนมาถึงวันนี้คือ เขาเป็นคนมือเติบมากกับสาธารณกุศล แต่ตนเองกลับกระเหม็ดกระแหม่ นี่คือบทเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหัวเว่ย และในเวลาต่อมา ไม่ว่าไปดูงานหรือพาลูกค้าไปเที่ยว ยามต้องซื้อข้าวของส่วนตัว บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงรอบตัวเขาไม่มีใครกล้ามือเติบอีกต่อไป ทุกคนพากันเลือกซื้อของราคาถูกและใช้ได้ทน

นอกจากความประหยัดแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเหรินเจิ้งเฟยคือเขาไม่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินและความร่ำรวย เขายินดีแบ่งปันผลลัพธ์จากการต่อสู้แก่พนักงาน จึงทำให้มียอดฝีมือจำนวนมากยินดีร่วมงานกับเขาเพื่อช่วยให้กิจการของหัวเว่ยเติบโตยิ่งขึ้น

หากลองหวนมองประวัติการพัฒนาตลอดยี่สิบเจ็ดปีของหัวเว่ย การที่เหรินเจิ้งเฟยสามารถดึงดูดคนนับพันนับหมื่นให้ร่วมแรงร่วมใจกันมุ่งสู่เป้าหมาย และพนักงานส่วนมากก็เคารพนับถือเหรินเจิ้งเฟยจากใจจริง ก็เพราะเขารู้จักกระจายทรัพย์และกล้าที่จะมอบอำนาจ นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้หัวเว่ยซึ่งเริ่มจากห้องทำงานเล็กๆ ที่มีคนหกคน เติบโตเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีพนักงานหนึ่งแสนห้าหมื่นคนเช่นปัจจุบัน

“ความไม่เห็นแก่ตัวของผมได้มาจากพ่อแม่ สาเหตุที่หัวเว่ยประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความไม่เห็นแก่ตัวของผม” เหรินเจิ้งเฟยกล่าวเช่นนี้ เป็นการรำลึกถึงบิดามารดา แสดงความสำนึกบุญคุณ และได้ถ่ายทอดแนวคิดง่ายๆ แต่ลึกซึ้งแก่ชาวหัวเว่ย


ข้อมูล : Amarin How To (HUAWEI จากมดสู่แดนมังกร)

ภาพ : Getty Image

Praew Recommend

keyboard_arrow_up