พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เฉลิมพระนาม พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ” พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “

Alternative Textaccount_circle
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

รัชกาลที่ ๑๐ เฉลิมพระปรมาภิไธย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระนามาภิไธย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” รัชกาล ๙

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ประทับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ซึ่งอยู่ในหมู่พระมหามณเฑียร เพื่อพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์

โดยหลังจากที่ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชานพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาล ๑-๙ ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” เฉลิมพระนามาภิไธย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙” และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์


พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า “โดยที่พระราชอนุสรณ์คำนึงถึง สมเด็จพระบรมชนกนาถ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ซึ่งได้ทรงรับพระราชภาระสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงพระองค์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานับประการ เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของบรรดาพสกนิกรและนานาอารยประเทศ จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาจวบจนปัจจุบันแต่เหล่าพสกนิกรก็ยังคำนึงถึงพระกรุณาธิคุณเสมอมาไม่เสื่อมคลาย ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ สมควรจะได้สนองพระเดชพระคุณถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น ด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมชนกนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า”พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ขอให้พระเกียรติยศปรากฏแผ่ไพศาลไปในสากลจักรวาลตลอดนิจนิรันดร์”

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

(คำอ่าน : พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-บอ-รม-ชะ-นะ-กา-ทิ-เบด มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด-มะ-หา-ราด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด)

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า “โดยที่พระราชดำริด้วยพระราชหฤทัยประกอบด้วยพระกตัญญูกตเวทิตา ระลึกถึงพระเดชพระคุณ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” พระบรมราชนี ทรงดำเนินพระราชพระจริยวัตรด้วยพระราชปณิธานธรรมราชินีในศุภสมัยแห่งมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศสนองพระคุณตามโบราณราชประเพณีอันจะอำนวยสวัสดิ์พิพัฒนมงคล แด่พระองค์สยามรัฐสีมาอาณาจักรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ในรัชกาล ๙ ตามที่จารึกในพระสุพรรณธนบัตรว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และถวายเหรียญรัตนาพรรัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1”

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

(คำอ่าน : สม-เด็ด-พระ-นาง-เจ้า-สิ-หริ-กิด พระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-ชน-นะ-นี-พัน-ปี-หลวง)

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


พระราชประวัติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ หรือ พระพันปีหลวง (Queen Mother) พระนามเดิม “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร” พระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร เป็นธิดาใน “หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร” (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับ “หม่อมหลวงบัว กิติยากร”(ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) มีพระเชษฐาสองคนคือ “หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร”และ “หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร” มีพระขนิษฐาหนึ่งคนคือ “ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์”

พระนาม “สิริกิติ์” ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร” เรียกโดยลำลองว่า “คุณหญิงสิริ” ส่วนพระราชสวามีจะทรงเรียกว่า “แม่สิริ”

เมื่อ “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์” มีอายุราว 2 ปี ขณะที่พี่เลี้ยงอุ้มอยู่นั้นก็มีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบเห็น “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์” ก็จ้องพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ๆ หน่อย เมื่อ เข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า “ต่อไปจะเป็นมหาราชินี” พี่เลี้ยงก็ชอบใจ ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ แต่ก็สอดคล้องกับ “หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี”กล่าวถึง “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์” มีหมอดูทำนายทายทุกว่า “จะได้เป็นราชินี” ทำให้พระสหายขนานนามว่า “ราชินีสิริกิติ์” ไม่มีใครคาดคิดว่าหลายสิบปีผ่านไปคำทำนายนั้นได้กลายเป็นความจริง

28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับ “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์”จัดขึ้น ณ วังสระปทุม ในการนี้ได้สถาปนาให้ขึ้นเป็น”สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์”

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ จนกระทั่ง พระองค์มีพระประสูติกาล “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ 3 เดือน จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย

เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี” เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกันนี้ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” มีพระบรมราชโองการประกาศว่าตามราชประเพณีเมื่อ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้เลื่อนเป็น”สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ในประเทศไทย โดยพระองค์แรกคือ “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

พระอิสริยยศ

• หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – 28 เมษายน พ.ศ. 2493)

• สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ (28 เมษายน พ.ศ. 2493 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)

• สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499)

• สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 –13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 )

• สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 5 พฤษภาคม 2562 )

•สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (5 พฤษภาคม 2562 – ปัจจุบัน)


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up