กระบวนพยุหยาตราสถลมารค พระราชพิธีโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย

account_circle

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค หนึ่งในพระราชพิธีสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณ ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค แต่เดิมนั้นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค คือการจัดกองทัพเพื่อกรีฑาออก ไปรบกับข้าศึก สาเหตุที่ต้องจัดกระบวนทัพก็เพื่อให้ข้าศึกเกิดความเกรงกลัวในศักดานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ และการปฏิบัติพระราชภารกิจด้านการสงครามแต่ละครั้งนั้นจำป็นที่จะต้องเสด็จอย่างมีระเบียบแบบแผน มีวิธีการอย่างเป็นขั้นตอน พระมหากษัตริย์จะทรงแวดล้อมด้วยหมู่พหลพลพยุหเสนา เพื่อให้ทรงปลอดภัยจากภยันตรายและหมู่ข้าศึกศัตรู

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค

แม้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังคงการจัดทัพออกทำศึกสงครามด้วยกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนทหารราบ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารคนี้ในรัชกาลที่ว่างเว้นจากการสงครามก็ยังคงมีการฝึกซ้อมจัดกระบวนอย่างสม่ำเสมอ จะเห็นได้จากการเรียกระดมพลเข้ามาซ้อมกระบวนยุทธ์เป็นครั้งคราวตามกำหนด

พิธีการสำคัญที่มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคที่ควรรู้จักก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงที่สำคัญ สำหรับการแห่พระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตรานั้นมีทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค แต่กระบวนต่างกันเป็น ๒ อย่างคือ กระบวนพยุหยาตราใหญ่ และกระบวนพยุหยาตราน้อย การจัดกระบวนทหารที่นำและตามเสด็จฯ อาจมีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนเดินเท้า ส่วนกระบวนพระบรมราชอิสริยยศเป็นกระบวนเดินเท้าทั้งสิ้น ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปพระพุทธบาทพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงม้าหรือช้างพระที่นั่ง แต่จะประทับพระราชยานคานหาม เช่น พระที่นั่งราเชนทรยาน พระที่นั่งพุฒตาลทอง ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคด้วยกระบวนม้าและกระบวนช้างเลือนหายไป คงเหลือแต่กระบวนเดินเท้า ซึ่งเรียกว่า “กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารค” กระบวนหนึ่ง และ “กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) สถลมารค” อีกกระบวนหนึ่ง

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ กล่าวได้ว่า วิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือในยามที่ว่างศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในกระบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และพลพายเกิดความฮึกเหิมอีกด้วย ทั้งยังจัดเป็นการแสดงออก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ทรงแสดงพระบารมีแผ่ไพศาล เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ และเป็นที่พึ่ง แด่พสกนิกรทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

โดยทั่วไปการจัดริ้วกระบวนได้แบ่งออกเป็น ๒ แบบ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราใหญ่ ซึ่งจัดเป็น ๔ สาย และระบวนพยุหยาตราน้อย จัดเป็น ๒ สาย การจัดริ้วกระบวนมีกระบวนการจัดแบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือ กระบวนนอกหน้า กระบวนในหน้า กระบวนเรือพระราชยาน กระบวนในหลัง และกระบวนนอกหลัง ซึ่งเต็มไปด้วยความสวยงาม ความโอ่อ่าตระการตา และความมีระเบียบ สมกับเป็นประเพณีของชาติ ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคสามครั้ง คือในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่เลียบพระนครครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ในกระบวนพยุหยาตราสถลมารคนี้ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และเสนาบดีที่ตามเสด็จในกระบวน ล้วนทรงฉลองพระองค์และแต่งกายอย่างงดงามพระมหากษัตริย์ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทองฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาด สายรัดพระองค์เพชรทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ ทรงพระมาลาเพชร

ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มีแต่เพียงการเสด็จฯ โดยกระบวนราบใหญ่จากพระมหามณเทียรไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามเท่านั้น จนลุมาถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบพระนักษัตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเพื่อทรงนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ทั้งนี้ประชาชนชาวไทยทุกคนจะได้เห็น ซึ่งเป็นพิธีสำคัญนี้อีกครั้ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิการ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมังคลาราม


ข้อมูล : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๑ เรื่องที่ ๑ กระบวนพยุหยาตรา / กระบวนพยุหยาตราชลมารค, พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๖ โดย สำนักพระราชวัง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up