เผยพระนาม ในหลวง รัชกาลที่ 10 จากพระราชกฤษฎีกา เหรียญเฉลิมพระเกียรติฯ… ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นโบราณราชประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
สำหรับอีกสิ่งหนึ่งที่นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ได้แก่ พระปรมาภิไธย หรือ พระนาม รวมถึงยังเป็นสิ่งที่พสกนิกรเฝ้าติดตาม เพื่อชื่นชมในพระเกียรติยศและพระบารมี
ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยพระปรมาภิไธยของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ จากพระราชกฤษฎีกา เหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 นั่นคือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งจะมีการออกพระปรมาภิไธยนี้ ตั้งแต่หลังเที่ยงของวันที่ 4 พฤษภาคม 2562
โดยพระปรมาภิไธยนี้อ่านออกเสียงว่า พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปอ-ระ-เมน-ทะ-ระ-รา-มา-ทิ-บอ-ดี-สี-สิน-ทอน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-พระ-วะ-ชิ-ระ-เกล้า-เจ้า-อยู่-หัว และในการออกพระปรมาภิไธยโดยย่อนั้น นอกจาก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตามที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการออกพระปรมาภิไธยโดยย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” อีกด้วย
จากพระปรมาภิไธยดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นการเลือกใช้การเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 6 รวมกัน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดหลักการเฉลิมพระปรมาภิไธยโดยใช้คำว่า “ปรเมนทร” สำหรับรัชกาลเลขคู่ และ “ปรมินทร” สำหรับรัชกาลเลขคี่
จากเดิมที่ 3 รัชกาลแรกนั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล ราษฎรจึงต้องสมมตินามแผ่นดินเอาเองเมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ 3 ราษฎรได้เรียกนามแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ว่า “แผ่นดินต้น” รัชกาลที่ 2 ว่า “แผ่นดินกลาง” รัชกาลที่ 3 ว่า “แผ่นดินนี้” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรดการออกนามแผ่นดินดังกล่าว เนื่องจากทรงเกรงว่าต่อไปราษฎรจะเรียกรัชกาลของพระองค์ว่า “แผ่นดินปลาย” หรือ “แผ่นดินสุดท้าย” อันเป็นอัปมงคล ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระราชดำริว่า พระนามของพระมหากษัตริย์ในภายภาคหน้าควรใช้แตกต่างกันทุกรัชกาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการออกนามแผ่นดินเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนรูปแบบการเฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ โดยให้ใช้คำนำหน้าว่า “รามาธิบดีศรีสินทร” และทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยย้อนหลังถวายแด่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลก่อนหน้านี้ด้วย จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กลับไปใช้แบบการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระราชนิยมแบบรัชกาลที่ 4 เช่นเดิม แต่ยังคงพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 6 ไว้แบบที่ทรงเลือกใช้เอง
นอกจากนี้ในการเฉลิมพระปรมาภิไธยภาษาอังกฤษตามแบบพระราชธรรมเนียมยุโรป นอกจากจะใช้คำนำหน้าพระเกียรติยศ “His Majesty The King” แล้ว ยังจะใช้พระราชกำหนดตามแบบรัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้คำว่า “รามา – Rama” ตามด้วยเลขลำดับรัชกาลแบบโรมันตามธรรมเนียมยุโรป ดังนั้นในรัชกาลที่ 10 นี้ ก็จะทรงใช้ “King Rama X” นั่นเอง
ข้อมูล : เฉลิมพระเกียรติองค์ราชัน เฉลิมพระขวัญองค์ราชินี, Royal World Thailand – รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย