ไทย-สวีเดนแน่นแฟ้น ควีนซิลเวีย ทรงใช้กระเป๋าถมทอง งานศิลปหัตถกรรมไทย

account_circle

ไทย-สวีเดนแน่นแฟ้น ควีนซิลเวีย หรือ สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงถือกระเป๋าถมทอง ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมของไทย ขณะเสด็จประพาสงาน Royal Swedish Acedemy of Sciences

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลกุสตาฟแห่งสวีเดน เสด็จฯ พร้อมด้วย ควีนซิลเวีย  “สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน” เพื่อทรงเสด็จเข้าร่วมงาน Royal Swedish Acedemy of Sciences

โดยงานนี้สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลกุสตาฟแห่งสวีเดนยังได้มอบรางวัล the Göran Gustafsson Prize ซึ่งเป็นรางวัลด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสวีเดน ณ Musikaliska Concert Hall กรุงสตอกโฮล์ม

ควีนซิลเวีย

การนี้สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ยังทรงถือกระเป๋าถมทอง งานศิลปหัตถกรรมของไทยไปร่วมงานสำคัญนี้ด้วย โดยพระองค์ทรงถือกระเป๋าใบนี้ได้อย่างสง่างาม พระองค์ทรงประจักษ์ให้เห็นว่างานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ชื่นชมและยอมรับในสังคมชั้นสูง แม้แต่ในหมู่พระราชวงศ์ต่างประเทศ และในระดับนานาชาติว่ามีความงดงามวิจิตรบรรจงและทรงคุณค่ายิ่ง

ควีนซิลเวีย

ทั้งนี้ไทยและสวีเดน เรียกได้ว่ามีสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดนนั้นทรงมีความผูกพันกับประเทศไทยและพระราชวงศ์ไทยอย่างยิ่ง ทรงเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะทั้งแบบเป็นทางการและเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ งานสำคัญในความทรงจำของคนไทยอย่าง พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ควีนซิลเวีย

ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงมีความสนพระทัยในด้านเด็กและสตรี โดยครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเสด็จมาประเทศไทยเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการเพื่อน เพื่อน ณ โรงเรียนวัดใต้ ราษฎรนิรมิต ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนจากมูลนิธิ World Childhood จากราชอาณาจักรสวีเดน โดยสมเด็จพระราชินีซิลเวีย ยังทรงเป็นประธานมูลนิธิฯ อีกด้วย รวมถึงพระองค์ยังทรงให้ความสนใจในงานศิลปหัตถกรรมไทย ทรงเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก

สำหรับ ถมทองก็คือ ถมดำซึ่งจะมีความแตกต่างที่ลวดลาย คือ ลายสีเงินได้เปลี่ยนเป็นสีทอง ช่างถมจะเปียกหรือละลายทองคำให้เหลวเป็นน้ำ โดยใส่ทองแท่งลงในปรอท ปรอทจะละลายทองแท่งให้เป็นน้ำ ช่างถมจะชุบน้ำทองผสมปรอทด้วยพู่กัน เขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน

การเขียนน้ำทองละลายปรอทนี้ จะต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก ต้องเขียนทับลงบนเส้นเงินเท่านั้น เมื่อเขียนเสร็จแล้ว จะใช้ความร้อนไล่ปรอทออกจากทอง ทองก็จะติดแน่นอยู่ บนพื้นที่เขียนน้ำทองนั้น ถมทองมีความงามตรงที่เป็นสีทอง ลวดลายกระจ่างเด่นชัด ทองที่ทาทับก็จะมีความคงทนนับร้อยปี

ถมตะทอง เป็นศัพท์ของช่างถม หมายถึง วิธีการระบายทองคำ ละลายปรอท หรือแต้มทองเป็นแห่งๆ เฉพาะที่ มิใช่ระบายจนเต็มเนื้อที่อย่างเดียวกับการทำถมทอง โดยเอาทองคำแท้ๆ ใส่ลงในปรอท ทองละลายอยู่ในน้ำปรอท เมื่อเอาน้ำปรอทที่มีทองคำละลายปนอยู่ไปแต้มตามแห่งที่ต้องการให้เป็นสีทองนั้น ในขั้นแรกปรอทจะยังคงอยู่ เมื่อไล่ด้วยความร้อนปรอทจะหนี ทองก็จะติดแน่นอยู่บนตำแหน่งหรือลายที่แต้มทองนั้น การแต้มทองหรือระบายทองในที่บางแห่งของถมดำ เป็นการเน้นจุดเด่น หรือต้องการแสดงอวดภาพหรือลายเด่นๆ ฉะนั้นเครื่องถมตะทองจึงเป็นของที่หายากกว่าถมเงินหรือถมทอง


ข้อมูล : IG : คุณแทน (t_2539), สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน ในพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9, www.newmyroyals.com

ภาพ : Getty Image

Praew Recommend

keyboard_arrow_up