เครื่องสุง

รู้จัก 8 เครื่องสูง สิ่งประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ไทย

Alternative Textaccount_circle
เครื่องสุง
เครื่องสุง

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพระพยุหยาตราสถลมารค (ทางบก) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 นับเป็นพระราชพิธีสำคัญที่พสกนิกรต่างเฝ้าชื่นชมในความยิ่งใหญ่และงดงาม ซึ่ง “เครื่องสูง” เป็นสิ่งประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ที่จะประกอบอยู่ในขบวนพระพยุหยาตราสถลมารคด้วย แพรวดอทคอม จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเครื่องสูงชนิดต่างๆ กันค่ะ

เครื่องสูง
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เครื่องสูง
การฝึกซ้อมริ้วขบวนที่ 3 ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราสถลมารคเสด็จเลียบพระนคร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

สำหรับความหมายของคำว่า “เครื่องสูง” สันนิษฐานว่าเป็นชุดหรือสำรับที่ประกอบด้วยฉัตรเป็นหลัก เพราะฉัตรคือร่มของนักรบ จึงมีศักดิ์ศรีสูงกว่าสิ่งใดทั้งหมด ส่วนประกอบต่างๆ นั้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการปกป้องแสงแดดและสายลม ตลอดจนป้องกันศาสตราวุธที่อาจมีได้ เช่น ธนูหรือกระสุน เพื่อช่วยปะทะหรือบังไม่ให้ต้องพระวรกายของพระมหากษัตริย์ได้ ส่วนการที่สร้างขึ้นอย่างประณีตนั้น เนื่องจากเป็นเครื่องราชภัณฑ์ จึงต้องประดิษฐ์ด้วยฝีมือที่งดงาม ซึ่งเครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์มี 8 สิ่ง ดังนี้

เครื่องสูง

1. ฉัตรเจ็ดชั้น 

สันนิษฐานว่ามีใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะไม่ปรากฏในสมัยอยุธยา โดยสำรับหนึ่งมี 4 คัน สำหรับปัก หรือให้พนักงานถือ 4 มุมพระที่นั่งหรือพระราชยานในกระบวนพยุหยาตรา ซึ่งถ้าใช้ปักในเรือพระที่นั่ง จะปักไว้หน้าพระที่นั่งคันหนึ่ง และหลังพระที่นั่งอีกคันหนึ่ง

2. ฉัตรห้าชั้น 

สำรับหนึ่งมี 10 คัน ให้พนักงานถือด้านหน้าพระที่นั่ง 6 คัน ด้านหลังพระที่นั่ง 4 คัน วิธีถือคือเดินเป็นสองแถว (สลับกับบังแทรก) ด้านหน้า 3 คู่ ด้านหลัง 2 คู่ ถ้าปักเรือพระที่นั่ง ด้านหน้า 3 คัน ด้านหลัง 2 คัน

เครื่องสูง

3. บังแทรก

เป็นแผ่นผ้าปักหักทองขวางหรือปักทองแผ่ลวด รูปแบนกลม ขอบรูปใบสาเก คือเป็นจักๆ ตอนล่าง ตอนบนเป็นยอดแหลม สำรับหนึ่งมี 6 คัน พนักงานถือแทรกสลับกับฉัตร 5 ชั้น โดยมีด้ามยาวเช่นเดียวกับฉัตร วัดความยาวตั้งแต่ยอดถึงด้ามสุดได้ 78 เซนติเมตร

4. บังสูรย์ 

เป็นเครื่องบังแดดขนาดใหญ่รูปใบโพ ปักหักทองขวางหรือปักทองแผ่ลวด มีด้ามไม้ปิดทอง วัดความกว้างของแผ่นได้ 90 เซนติเมตร ความสูงจากยอดลงมาถึงด้ามสุดได้ 325 เซนติเมตร พนักงานถืออยู่ข้างพระราชยาน ตรงกันข้ามกับพระกลด (ร่ม)

เครื่องสูง

5. จามร

เป็นแผ่นคล้ายพัดรูปน้ำเต้า เดิมนั้นเป็นปลอกแส้ทำจากขนจามรี จึงเป็นที่มาของคำว่าจามร แต่เมื่อตัวแส้สูญหายไปแล้วจึงเหลือแค่ปลอก มีการบันทึกไว้ว่า ภายหลังเลิกใช้ แล้วเอาพุ่มดอกไม้เงินทองหรือทวนที่มีพู่มาถือแทน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จามรสำรับหนึ่งมี 16 คัน เมื่อเปลี่ยนมาใช้พุ่มดอกไม้เงินทองหรือทวนก็มี 16 คันเช่นเดียวกัน โดยพนักงานเสื้อแดงเรียกว่า “พรหม” ถือจามร 8 คัน ด้านขวาพระราชยาน และพนักงานเสื้อเขียวเรียกว่า “อินทร์” ถือจามร 8 คัน ด้านซ้ายพระราชยาน

6. พัดโบก 

เป็นพัดใบตาลลงรักปิดทอง มีขนาดใหญ่ ซึ่งพนักงานถือเข้าขบวนพยุหยาตราหรือเสด็จพระราชดำเนิน รูปทรงงอนช้อย ด้ามเป็นคันดาล คือหักโค้งเข้ามุมฉาก ถ้าเป็นพัดโบกที่ใช้ในพระราชฐานขณะพระมหากษัตริย์ประทับพระที่นั่งจะมีปลายมน พนักงานถืออยู่ค่อนไปทางหลังพระราชยาน

7. ชุมสาย

เป็นฉัตรอีกแบบหนึ่ง มี 3 ชั้น ขนาดใหญ่กว่าทุกชนิด ทำด้วยผ้าสีปักหักทอง มีเส้นไหมผูกโยงตาข่ายห่างๆ คลุม เลยลงมาถึงข้างล่างทำเป็นพู่ห้อยเพื่อกันลมตีกลับ สำรับหนึ่งมี 4 คัน ลวดลายที่ปักประดับเป็นลายกระจังหรือลายกรวยเชิงในรูปบัวคว่ำทั้ง 3 ชั้น มีระบาย 2 ชั้น เช่นเดียวกับฉัตรทุกชนิด พนักงานถือตามฉัตร 5 ชั้น

เครื่องสูง

8. พระกลด

เป็นร่มกันแดดกันฝน มีลักษณะเป็นฉัตรชั้นเดียว ตัวพระกลดทำด้วยผ้าชุบขี้ผึ้ง ผ้าโหมด ผ้าตาด หรือเยียรบับดำ ด้ามนั้นมีทั้งที่เป็นไม้หุ้มด้วยเงินถม ทาทอง ลงยาสี ยอดเป็นรูปพรหมพักตร์ ใช้กั้นอยู่ตรงกันข้ามบังสูรย์ หรือค่อนไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง อีกทั้งยังมีการใช้ในสามัญชนด้วย คือการใช้สำหรับนาคที่เตรียมเข้าอุปสมบท ซึ่งเป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่ง และปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้สำหรับสามัญชนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย


 

ข้อมูลและภาพ : หนังสือเครื่องราชภัณฑ์ / ผู้เขียน วิทย์ พิณคันเงิน, หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

ภาพเพิ่มเติม : จตุพล กล้าศึก

Praew Recommend

keyboard_arrow_up