สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

ดีไซเนอร์สร้างผลงานชิ้นเอก ร่วมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙
สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ และ “วันแม่แห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนร่วมกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยแบ่งเป็นกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

นิทรรศการ “ธ ทรงกอบทรงเกื้อหนุน โอบเอื้ออบอุ่นไผทสยาม” ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้น M สยามพารากอน

พระฉายาลักษณ์และพระราชประวัติ

ถ่ายทอดพระราชประวัติ และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์และพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช บรมนาถบพิตร ตลอดจนพระราชจริยวัตรที่งดงามและพระเมตตาที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภาคของประเทศ

 สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

 สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

ก่อกำเนิด “ศิลปาชีพ”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทย ทรงพบว่าราษฎรไทยหลายท้องถิ่นมีฝีมือเป็นเลิศทางหัตถกรรมหลายชนิดสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติชาติสืบไป พระองค์จึงทรงทุ่มเทพระวิริยะ อุตสาหะ และพระราชทานทรัพย์มาส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่ราษฎร

โดยโครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘  ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น

สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

สาธิตการทอผ้า

คนไทยมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มให้งดงามเหมาะสมกับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีภูมิรู้ด้านการทอผ้า ผ้าปัก ด้วยฝีมืออันประณีตละเอียดอ่อนที่สืบทอดกันแต่ปู่ย่าตายาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงขยายจุดเด่นนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ด้วยการส่งเสริมให้ราษฎรสืบทอดการทอผ้า ปักผ้าที่ยังคงเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ทรงสังเกตเห็นความงดงามจากผ้าซิ่นที่ชาวบ้านสวมใส่ และแม้กระทั่งผ้าถูเรือนที่เคยเป็นผ้านุ่งผืนเก่าขาดวิ่นก็ทรงพบเห็นลวดลายที่สวยงามสามารถนำมาเป็นแบบอย่าง เมื่อราษฎรริเริ่มการทอผ้าขึ้นอีกครั้ง ภายในงานนิทรรศการจึงมีการสาธิตการทอผ้าไทยของภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้แก่  ภาคเหนือ-สาธิตการทอผ้าชาวไทยภูเขา, ภาคกลาง-สาธิตการปักผ้าสำหรับชุดโขน, ภาคใต้-สาธิตการปักผ้าซอยแบบไทย และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-สาธิตการมัดลาย และการกรอไหมสำหรับผ้ามัดหมี่ เป็นต้น

 สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ ๙

ชุดไทยพระราชนิยม

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงตระหนักว่าการแต่งกายแบบดั้งเดิมของไทย ในชีวิตประจำวันถูกอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกกลืนหายไป จนกลายไปเป็นแบบตะวันตกเกือบทั้งสิ้น ไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นแบบฉบับประจำชาติ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า เครื่องแต่งกายสำหรับพระองค์นั้นควรจะมีแบบแผนที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องแสดงถึงความเป็นไทยให้นานาประเทศได้รู้จัก และจะได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอคุณค่าทางศิลปะที่อยู่ในผ้าและเครื่องประดับของไทยผ่านฉลองพระองค์ชุดไทยที่ภายหลังเรียกว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” โดยประยุกต์จากการแต่งกายของสตรีสมัยโบราณ ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น, ชุดไทยจิตรลดา, ชุดไทยอมรินทร์, ชุดไทยบรมพิมาน,ชุดไทยดุสิต, ชุดไทยจักรี, ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ

เครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงโขน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพัสตราภรณ์หรือเครื่องแต่งกายโขนขึ้นสำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น นับเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปิน ช่างฝีมือแขนงต่างๆ ทุ่มเทสร้างสรรค์งานศิลป์ ฟื้นฟูเทคนิคต่างๆ แบบโบราณที่เกือบเลือนหายไปนำมาพัฒนาเพื่อให้เหมาะกับการแสดงบนเวทีในปัจจุบันอีกครั้ง ภายในนิทรรศการจึงมีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน ชุดพระ ชุดนาง ชุดยักษ์ ชุดลิง พร้อมทั้งจัดแสดง หัวโขน ศิราภรณ์ และถนิมพิมพาภรณ์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสถึงความวิจิตรงดงามและงานประณีตศิลป์ชั้นสูงของคนไทย

Designer Collaboration Showcase

เพื่อสนับสนุนการใช้ผ้าชาวเขาเผ่าต่างๆ ในการทำสินค้าแฟชั่นหรือของตกแต่งบ้าน รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการนำผ้าไทยไปใช้ในโอกาสต่างๆ ให้ร่วมสมัย เหล่านักออกแบบชั้นนำจึงร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์มาสเตอร์พีซ เพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย ซึ่งได้แก่ วรรณศิริ คงมั่น และ เจสซี่ ดอร์ซี่ แบรนด์ บอย (BOYY), มลลิกา เรืองกฤตยา และณัฏฐ์ มั่งคั่ง ดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้ามีสไตล์ คลอเซ็ท (Kloset), ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยจากแบรนด์ ฟิฟตี้ซิกซ์ สตูดิโอ (56th Studio) , อัญชนา ทองไพฑูรย์ และ พิพิธ โค้วสุวรรณ สองดีไซเนอร์แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ซอลท์ แอนด์ เป็ปเปอร์ (Salt and Pepper)

ผลงาน Once Upon A Time In Siam แบรนด์ BOYY

 

ผลงาน life of journey แบรนด์ Kloset

 

Wild Roses แบรนด์ 56th Studio

 

Phaka Garden แบรนด์ Salt and Pepper

 

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น ๑ สยามพารากอน

เลือกชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของสมาชิกศิลปาชีพจากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแบ่งเป็น ๖ โซน ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าชาวเขา ผ้าปัก ดอกไม้ประดิษฐ์  และผลิตภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์ผ้า โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดนำเข้ามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และนำกลับไปช่วยเหลือราษฎรชาวไร่ชาวนาต่อไป

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up