พระปรีชาหาญกล้าของ “ในหลวงรัชกาลที่ 10” กษัตริย์นักรบของชนชาวไทย

Alternative Textaccount_circle

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหารอย่างเปี่ยมล้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบิน ซึ่งพระองค์ทรงใฝ่รู้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตลอดจนทรงสั่งสมประสบการณ์อยู่เป็นนิจ และทรงเคยเข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารแนวหน้ามาแล้ว จนนับได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์นักรบของชนชาวไทย อีกทั้งพระปรีชาสามารถด้านการทหารของพระองค์ยังเป็นที่ประจักษ์ผ่านนานาพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติด้วยความกล้าหาญเยี่ยงชายชาติทหารอย่างแท้จริง

พระปรีชาหาญกล้าของ “ในหลวงรัชกาลที่ 10” กษัตริย์นักรบของชนชาวไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10

 

ทรงศึกษาด้านการทหารอย่างมุ่งมั่น

พระราชประวัติด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงสนพระทัยด้านการทหารตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงมุ่งมั่นตั้งพระทัยเป็นอย่างมาก โดยพระองค์ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2499 ขณะมีพระชนมายุ 4 พรรษา จากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2509 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ และศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วทรงศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหาร แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 อีกทั้งยังทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 และเมื่อ พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

 

ทรงเข้าร่วมรบอย่างกล้าหาญในปฏิบัติการ ณ บ้านหมากแข้ง

หนึ่งในพระราชกรณียกิจอันทรงคุณค่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการทหารและน้ำพระราชหฤทัยอันกล้าหาญของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือทรงเข้าร่วมรบในปฏิบัติการ ณ บ้านหมากแข้ง เมื่อ พ.ศ. 2519

ในหลวงรัชกาลที่ 10
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงร่วมรบที่บ้านหมากแข้ง

โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ร้อยเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมตำรวจ ทหาร และราษฎรในพื้นที่ ณ ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ส่งกำลังเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ด้วยความหาญกล้าอย่างชายชาติทหาร พระองค์จึงทรงไม่เพียงแค่ทรงเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทุกคนที่บ้านหมากแข้งเท่านั้น แต่ยังทรงร่วมรบและบัญชาการรบที่แนวหน้าด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปยังแนวหน้า ได้มีการยิงถล่มจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไม่สามารถลงจอดได้ เหตุการณ์ในวันนั้นชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า พระองค์ทรงกระโดดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ความสูงประมาณ 12 เมตร แล้ววิ่งหลบฝ่าดงกระสุนอย่างกล้าหาญ จากนั้นพระองค์จึงทรงวิเคราะห์และวางแผนการรบให้กับทหารในพื้นที่ ออกลาดตระเวน และอยู่ยามเช่นเดียวกับทหารคนอื่นๆ

 

ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการบินล้ำเลิศ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการบินเป็นเลิศ ยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือน จนทรงได้รับการขนานพระนามว่า “กษัตริย์นักบินพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี” ซึ่งพระองค์ทรงทำการบินกับเครื่องบินของกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ อีกทั้งยังทรงผ่านการฝึกบินหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ F-5 E/F จนสำเร็จตามหลักสูตรด้วยพระวิริยอุตสาหะอย่างเปี่ยมล้น ทั้งนี้พระองค์ยังทรงนำความรู้มาจัดหลักสูตรการฝึกบิน และทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานฝึกสอนทั้งภาควิชาการและการฝึกบินให้แก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ โดยทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ว่าจะทรงถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในหลวงรัชกาลที่ 10

นอกจากนี้พระปรีชาสามารถด้านการบินของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังสร้างความปลื้มปิติให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งเกิดเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ทันทีที่พระองค์ทรงทราบข่าวก็ทรงขับเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เพราะทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัยพิบัติเป็นอย่างมาก หรือเมื่อ พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

นับว่าพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้นำความสุขมาสู่ชนชาวไทย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันงดงามที่ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหมายไว้


 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up