เปิดเรื่องราว “เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า” จากในหลวงรัชกาลที่ ๕

เป็นที่ทราบกันดีว่าเดือนตุลาคมสำหรับคนไทยเปรียบเสมือนเดือนมหาโศกที่ต้องหลั่งน้ำตามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งวันนี้วันที่ 23 ตุลาคม แผ่นดินไทยต้องร่ำไห้ ใจแหลกสลาย ที่ได้สูญเสียพระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวไทยอย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันนี้ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช แพรวดอทคอม เองก็อยากจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านเช่นกัน

ถ้าจะให้พูดเรื่องพระราชกรณียกิจหรือพระปรีชาสามารถทางด้านต่างๆ ของพระองค์ ทุกคนก็อาจจะได้ยินกันมาบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะขอพูดถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ หรือไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตากันมากนักมาเล่าต่อให้ได้ฟังกัน เนื่องจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าก็มีความสำคัญไม่น้อยเลย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (อังกฤษ: The Most Illustrious Order of Chula Chom Klao) สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2416 ด้วยทรงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี ก็ด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง

ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ “จุลจอมเกล้า” เป็นนามของเครื่องราชอิสรยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวชตามประเพณีเป็นระยะเวลา 15 วัน และทรงเสด็จกลับมา พระองค์มีพระราชดำริว่า นับแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีพระมหากษัตริย์ครองสิริราชสมบัติมาถึง 5 พระองค์นับระยะเวลารวมได้ประมาณ 90 ปี โดยไม่มีเหตุการแก่งแย่งชิงอำนาจจนเกิดศึกกลางพระนครเมื่อมีการผลัดแผ่นดินดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา และถึงแม้พระองค์จะทรงครองสิริราชสมบัติเมื่ออายุยังน้อย พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงก็มิได้รังเกียจและยังคงรับสนองพระเดชพระคุณเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ซึ่งนับเป็นความดีความชอบพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ พระองค์จึงมีจิตคิดบำรุงวงศ์ตระกูลของท่านเหล่านี้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยพระราชทานนามว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า” เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศและเพื่อระลึกถึงความดีความชอบของท่านผู้ใหญ่ที่ได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อนและผู้ที่ได้ทำนุบำรุงแผ่นดินในปัจจุบัน

เมื่อแรกสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ปฐมจุลจอมเกล้า) ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ, ทุติยจุลจอมเกล้า) และชั้นที่ 3 ตติยาจุลจอมเกล้า (ตติยจุลจอมเกล้า , ตติยานุจุลจอมเกล้า)  ซึ่งจะพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2443 พระองค์มีพระราชดำริเห็นสมควรเพิ่มชั้นพิเศษสำหรับชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นเกียรติยศและประโยชน์แก่ผู้รับราชการยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ 3 ขึ้นเป็นพิเศษ เรียกว่า ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายหน้าเพิ่มขึ้นอีกชั้น

(เรียงจากบนซ้ายไปขวาล่าง) ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ , ปฐมจุลจอมเกล้า  , ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ , ทุติยจุลจอมเกล้า , ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ , ตติยจุลจอมเกล้า และตติยานุจุลจอมเกล้า (เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายหน้า)

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2436 พระองค์พระราชดำริสมควรที่จะทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้น เพื่อให้สมาชิกผู้ได้รับพระราชทานได้ประดับตนเป็นที่แสดงเกียรติยศเพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า และชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า และเมื่อปี พ.ศ. 2442 ทรงพระราชดำริให้เพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายในในชั้นที่ 2 ขึ้นอีก 1 ชนิด เรียกว่า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เพื่อให้มีจำนวนชนิด 5 ชนิด (ในขณะนั้น) เช่นเดียวกับสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า


ข้อมูล : wikipedia

ภาพ :  wikipedia

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up