ถอดรหัส 6 คอสตูมที่ซ่อนอยู่ใน The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes

Alternative Textaccount_circle

กลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ครองใจคนมากมายอย่าง The Hunger Games ในภาคที่มีชื่อว่า ‘The Ballad of Songbirds and Snakes’ ครั้งนี้เป็นการเล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ 64 ปี ก่อนการแข่งขันฮังเกอร์เกมส์ และจุดกำเนิดจอมเผด็จการอย่าง Coriolanus Snow ที่ได้ Tom Blyth มาแสดง Rechal Zegler มารับบท Lucy Gray Baird บรรณาการผู้ยากจนตัวแทนเขต 12 เราไม่ได้จะสปอยล์เนื้อเรื่อง แต่จะพูดถึงองค์ประกอบสำคัญที่ซ่อนความหมาย และการคิดมาแบบมีนัยยะสำคัญ อย่าง ‘คอสตูม’ ที่ครั้งนี้ Trish Summerville รับหน้าที่มาดูแลอีกครั้ง หลังจากผลงานของเธอเป็นที่ประจักษ์ในภาค Catching Fire

 ​The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes ผู้กำกับอย่าง Francis Lawrence เสนอไอเดียให้เสื้อผ้ามีกลิ่นอายหลังยุคสงคราม ประมาณปี 1940-50

Lucy Gray Baird

หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องผู้เป็นบรรณาการจากเขต 12 ที่ซัมเมอร์วิลล์ถึงกับออกปากว่า คอสตูมสำหรับตัวละครนี้ไม่ง่าย เพราะกระโปรงระบายสีรุ้งต้องตรงตามที่ระบุไว้ในหนังสือและต้องเอื้อให้นักแสดงเล่นฉากแอ็คชั่นได้ด้วยด้วย นอกจากนี้ต้องมีความซอมซ่อ สีซีด เพราะเป็นชุดที่ลูซี่ได้รับตกทอดมาจากแม่ ทำให้ต้องทดลองใช้ผ้าหลายแบบ หลายสี มาตัดเย็บรวมกันจนลงตัว

Tigris Snow

ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ ต้องการให้ไทกริสในภาคนี้ กับไทกริสในภาค 3 เชื่อมโยงกัน โดยสะท้อนผ่านพลังความสาว ความสดใส และกล้าลองอะไรใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่ทำกัน รวมกับความคิดของซัมเมอร์วิลล์ที่อยากให้เสื้อผ้าของไทกริสมีสีและรูปทรงโดดเด่น เพราะตัวละครนี้อินกับแฟชั่นที่สุด คอสตูมจึงออกมาเป็นสูทกระโปรงไหล่ยกสูงสีชมพูซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก BALENCIAGA และถ้าสังเกตจะเห็นว่าตะเข็บด้านนอก ถูกเลาะด้ายตรงขอบออก เพื่อให้สมกับฐานะยากจนที่ต้องซ่อมชุดเก่าๆ ให้ใช้ได้นานที่สุด

Dr. Volumnia Gaul

ตัวละครนี้ถูกถ่ายทอดให้มีความน่าเกรงขาม ทำให้หนึ่งในคอสตูมของ ดร.โวลัมเนีย เป็นเสื้อกาวน์ครึ่งขาวครึ่งแดงที่ตัดกับฉากบรรยากาศในห้องแล็ปแสนเย็นยะเยือก สะท้อนให้เห็นความมีอำนาจ

Lucky Flickerman

ซัมเมอร์วิลล์ยกให้ ลักกี้ ฟลิกเกอร์แมน เป็นตัวละครที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านสไตล์เด่นชัดที่สุด เขาเริ่มต้นมาโดยมีคิ้วหนา ก่อนค่อยๆ กันจนโก่ง หนวดเครา และทรงผมเริ่มถูกเซ็ต รวมถึงเริ่มแต่งหน้าจนผิวของเขาเหมือนหุ่นขี้ผึ้งมากกว่าคนอื่น คอสตูมที่สวมใส่ตอนต้นเรื่องก็เปลี่ยนจากสูทธรรมดา กลายเป็นทักซิโด้หางยาวในชุดสุดท้าย ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดาไปเป็นพิธีกรชื่อดัง

Academy Uniforms

หนึ่งคอสตูมสำคัญไม่แพ้เสื้อผ้าของตัวละครหลักนั่นคือ เครื่องแต่งกายในสถาบันอคาเดมี ซัมเมอร์วิลล์อยากให้มีความเป็น Unisex จึงออกแบบให้เครื่องแบบสีแดงสดมีกระโปรงพลีตทับกางเกงขายาว พร้อมเสื้อเบลเซอร์เข้าชุดกัน โดยเธอให้ความเห็นว่า “ไม่อยากให้ผู้หญิงสวมกระโปรง ผู้ชายสวมกางเกง ไม่อยากให้นักเรียนมีอัตลักษณ์ เพราะพวกเขาเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในเกม ไม่มีความหมายอะไร มีเพียงความคอมมิวนิสต์ที่แฝงอยู่”

Capitol vs District 12

การลงลึกของคอสตูมไม่ได้มีเพียงแค่ตัวละครเด่นๆ แต่ภาพรวมทั้งหมดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงอารมณ์ของหนังให้เป็นไปตามต้องการ โดยในภาค The Ballad of Songbirds and Snakes การแต่งกายของผู้คนในเขตการปกครองมีความสดใสขึ้น ถึงแม้จะมอมแมม หรือเปื้อนฝุ่นก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีอิสระของคนในเขต 12 ขณะที่ชาวแคปิตอลต้องอยู่ในกรอบทำให้เสื้อผ้าที่ใส่ต้องเนี้ยบตลอดเวลา ไร้ซึ่งความเสรี

จาก 6 คอสตูมที่พูดถึง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภาพยนตร์ซ่อนความหมายบางอย่างลงในเครื่องแต่งกายจริงๆ ทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดมาเป็นอย่างดี ฉะนั้นหากใครได้ไปดู The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes ลองสังเกตเสื้อผ้าของตัวละครอื่นๆ เผื่อจะเจอรหัสที่แอบอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยก็ได้

Praew Recommend

keyboard_arrow_up