“พนมนาคา”

9 เรื่องน่ารู้ ก่อนดู “พนมนาคา” พาเปิดตำนานลี้ลับของ พญานาค

Alternative Textaccount_circle
“พนมนาคา”
“พนมนาคา”

สิ่งที่ไม่เห็น ไม่ใช่ไม่มี เตรียมร่วมเดินทาง เปิดเมือง “พนมนาคา” เพื่อพิสูจน์ปาฏิหาริย์รักที่รอคอยนับพันปีและดำดิ่งไปพิสูจน์ความลี้ลับ ตำนานพญานาค ในละครฟอร์มยักษ์ “พนมนาคา” ช่องวัน31 พร้อมกัน โดยเป็นบทประพันธ์ชื่อดังของ “พงศกร” และกำกับการแสดง โดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ ผู้กำกับชื่อดังจาก วันทอง ,พิษสวาท ,ใต้หล้า ร่วมด้วย พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ หัวหน้าทีมเขียนบท งานนี้ ได้คู่พระนาง ตรี-ภรภัทร ศรีขจรเดชา และ กรีน-อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล โคจรมาร่วมงานกันครั้งแรก กับเรื่องราวความลี้ลับในเมืองพนมนาคา ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เต็มไปด้วยความศรัทธา จนนำมาสู่การเกิดปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ แต่ก่อนจะได้ฤกษ์ เบิกโรงชมละคร “พนมนาคา” ตอนแรก วันจันทร์ที่ 4 กันยายนนี้ ขอเสิร์ฟ 9 เรื่อง น่ารู้ ก่อนดูพนมนาคา เพื่อเพิ่มอรรถรสแบบเต็มอิ่ม

1.เมืองบาดาล

เชื่อกันว่าเมืองบาดาล เป็นโลกคู่ขนานกับโลกมนุษย์และสวรรค์ เป็นที่อยู่ของทั้ง เทพ นาค และอสูร 

ในส่วนของนาค ปกครองโดยพญานาคผู้เป็นใหญ่ โดยมีพญานาคใหญ่น้อย ช่วยกันดูแลอาณาเขตในความปกครองของตนเอง แต่หากพญานาคองค์ใด บำเพ็ญเพียรจนได้เป็นนาคาธิบดี ก็จะสามารถแยกตนเป็นเอกเทศ โดยไม่ต้องขึ้นกับเมืองบาดาลได้

2.นาคาธิบดี

นาคาธิบดี คือตำแหน่งกษัตริย์ของพญานาค ปัจจุบันมีด้วยกัน 9 พระองค์ การจะขึ้นเป็นนาคาธิบดี  ทำได้โดยการบำเพ็ญเพียรและสร้างบารมี มีด้วยกันหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การเข้าพิธีนาคพลี กับหญิงที่เกิดในฤกษ์งูใหญ่ ปีงูใหญ่ โดยหญิงคนนั้นจะต้องทำพิธี และร่ายรำระบำนาคนารี ถวายแด่พญานาค ซึ่งในละครเรื่องนี้ มีพญานาคพี่น้อง คือ อนันตชัย (ตรี ภรภัทร) และ เอนกชาติ (เพชร โบราณินทร์) พยายามขึ้นเป็นนาคา    ธิบดีให้ได้ โดยการบำเพ็ญเพียร และเข้าพิธีนาคพลี (แต่งงาน) กับผู้หญิงที่เกิดปีงูใหญ่

“พนมนาคา”

3.ฤกษ์งูใหญ่ ปีงูใหญ่

เชื่อกันว่าดวงชะตาของมนุษย์ถูกกำหนดด้วยเวลาเกิด ภายใต้อิทธิพลของดวงดาว โดยแบ่งกลุ่มดาวเป็น 12 นักษัตร มี 12 ช่วงเวลา ตามการหมุนของโลกและดวงอาทิตย์ เรียกชื่อแต่ละช่วงเวลา ตามการจัดรูปทรงของกลุ่มดาว เช่น ปีงูใหญ่ คือ ปีมะโรง หรือ พญานาค ฤกษ์งูใหญ่ คือ ฤกษ์มะโรง เวลา 7.00-8.59 น. โดย นางเอกในเรื่อง “กรีน-อัษฎาพร” ผู้รับบท “อนัญชลี” นั้นเกิดในฤกษ์งูใหญ่ จึงเหมาะสมที่จะเป็นคู่ครองของพญานาค

4.การมองเห็นพญานาค

ในอดีตสมัยพุทธกาล มนุษย์และพญานาค สามารถสื่อสารผ่านการมองเห็น และพูดคุยกันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปศรัทธาของมนุษย์เปลี่ยน กิเลสเข้าครอบงำ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับพญานาคได้อีก ยกเว้นมนุษย์ที่มีฌานบารมี หรือผู้ที่มีกรรมสัมพันธ์กับพญานาคเท่านั้น จึงจะสามารถมองเห็นพญานาคได้

5. ครุฑกับนาค

ในตำนานป่าหิมพานต์มีสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์มากมาย สองอย่างที่ถือว่า เป็นสัตว์เทพที่มีฤทธิ์มาก คือพญานาคราช จ้าวแห่งบาดาล และพญาครุฑจ้าวแห่งเวหา ทั้งสองมีบิดาเดียวกันคือ ฤๅษีกัสสปะ แต่คนละแม่ มารดาของครุฑเป็นภรรยาหลวง ส่วนมารดาของนาคเป็นภรรยารอง นางทั้งสองไม่ถูกกัน และมีเรื่องกันมาตลอด ความผิดใจนี้ ลามมาถึงลูก ทำให้ครุฑกับนาค ไม่ถูกกันในเวลาต่อมา โดยในละคร “ก้อง-วิทยา เทพทิพย์” เป็นผู้รับบท “บิณฑุราช” (ในอดีตชาติ) และ  “พุ่มข้าวบิณฑ์” (ชาติปัจจุบัน) อดีตเป็นเจ้าชายในเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายจากครุฑ มีขนครุฑเป็นอาวุธคู่กาย ซึ่งถ้าพญานาคจับหรือโดน จะเกิดแผล ที่สำคัญ ไม่สามารถเข้าใกล้คนใส่ได้เลย

6.นาคเทวาลัย 

โบราณสถาน อันเป็นที่ตั้งของรูปเคารพพญานาค ศูนย์รวมศรัทธาที่ชาวบ้าน “พนมนาคา” จะมาเคารพสักการะพญานาคอย่างต่อเนื่อง มานับพันปี

7.ระบำนาคนารี

ระบำโบราณที่มีท่วงท่าพิเศษ ใช้เฉพาะในพิธีนาคพลี ร่ายรำโดยหญิงสาวที่จะอุทิศถวายตัวแด่พญานาค

8.มณีนาคา

ดวงแก้วประจำตัว ที่เปรียบเสมือนหัวใจของพญานาค ทำให้พญานาคมีฤทธิ์ สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ผู้อื่นได้ด้วยวิธีจุมพิต ซึ่งจะทำให้พญานาคผู้ที่ไม่มีมณีนาคา อ่อนแรงลง

9.โรคเกล็ดงู

โรคผิวหนังที่เกิดจากเซลล์ในร่างกาย ขยายตัวผิดปกติ ทำให้ผิวหนังแห้ง คัน ตกสะเก็ด และลอกเหมือนคราบงู รักษาได้แต่ไม่หายขาด  แต่หากไม่ได้รักษา อาจเสียชีวิตได้

Praew Recommend

keyboard_arrow_up