โขนพระราชทาน ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

ยลเบื้องหลัง 9 ฉากประณีตสุดอลัง! ก่อนชม “โขนพระราชทาน” ประจำปี 2559 “ตอน พิเภกสวามิภักดิ์”

โขนพระราชทาน ตอน พิเภกสวามิภักดิ์
โขนพระราชทาน ตอน พิเภกสวามิภักดิ์

เบื้องหลังการสร้างฉากและอุปกรณ์ ก่อนชมงาน โขนพระราชทาน ประจำปี 2559 ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ทีมงานด้เตรียมพร้อมและตั้งใจออกแบบงานศิลปะให้ออกมาด้วยความประณีตและอลังการ 

ในแต่ละปีทีมงานได้มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนา โขนพระราชทาน ให้มีผลงานออกมาดีขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้สมกับการรอคอยของผู้ชมที่จัดแสดงโขนพระราชทานขึ้นเพียงปีละครั้ง และเพื่อความสุขของผู้ชมที่จะได้อิ่มเอม เต็มอารมณ์ทั้งบท ฉาก และองค์ประกอบทุกส่วนของการแสดง

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ. 2559 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ เตรียมเปิดฉากการแสดง ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์ ” ในระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2559 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งความอลังการของทุกองค์ประกอบการแสดง โดยเฉพาะฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์จินตนาการให้สมจริง

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากโขนพระราชทาน
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เล่าถึงการจัดเตรียมฉากว่า “สำหรับการเตรียมงานในด้านฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากการแสดงโขนฯ ในปีนี้เสร็จสมบูรณ์ไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว เนื่องจากในปีนี้เป็นปีมหามงคลและครบหนึ่งทศวรรษของโขนพระราชทาน จึงจัดทำกรอบเวทีที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขึ้นมาใหม่เฉพาะกิจ มีประติมากรรมเหล่าเทพยดา ไม่ว่าจะเป็นพระศิวะนาฏราช, พระนารายณ์, พระพรหม, พระพิฆเนศวร, พระธนบดี (กุเวร) ฯลฯ ออกแบบพิเศษเป็นสีทองไล่น้ำหนักให้เกิดความสวยงามมีมิติ”

โมเดลกรอบเวทีเพื่อการแสดงโขนพระราชทาน
โมเดลกรอบเวทีที่ออกแบบพิเศษเพื่อการแสดงโขนปีนี้โดยเฉพาะ

สำหรับฉากที่จะใช้ในการแสดงมีทั้งหมด 9 ฉากใหญ่ ซึ่งนับว่าเยอะที่สุดตั้งแต่เคยมีการจัดแสดง โขนพระราชทาน มา โดยแบ่งเป็นฉากต่างๆ ดังนี้

1) ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากคลาสสิก ที่ประทับของทศกัณฐ์ เนื่องด้วยฉากนี้เป็นเรื่องราวพิเภกถูกขับ ดังนั้นกรุงลงกาจะถูกเปลี่ยนหน้าตาเพื่อสื่อถึงอารมณ์ในฉากนี้ให้มากที่สุด จากเดิมที่เป็นเรือนแก้ว ก็ปรับเป็นบุษบกเกริน มีฉัตรฉลุ 7 ชั้นปักทั้ง 2 ด้าน แวดล้อมด้วยต้นไม้เงิน – ทอง คชสีห์ ราชสีห์ ให้กรุงลงกามีความสง่างาม สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของทศกัณฐ์

ฉากท้องพระโรงกรุงลงกาในโขนพระราชทาน
ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา
อีกมุมของฉากท้องพระโรงกรุงลงกาในโขนพระราชทาน
ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา

2) ตำหนักพิเภก เป็นตำหนักไม้ มีเครื่องยอดใบระกาตามชั้นยศ โดยในฉากนี้จะมีการใช้เทคนิคพิเศษคือ Turn Table ในการหมุนกลับด้านได้

โมเดลฉากเรือสำเภาจีน ฉากสำคัญในโขนพระราชทาน
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม กับโมเดลฉากเรือสำเภาจีน ซึ่งเป็นฉากสำคัญของการแสดงโขนปีนี้

3) ฉากสำเภา นับเป็นฉากไฮไลต์ สื่ออารมณ์โดยใช้ท้องทะเลแทนความเวิ้งว้าง เปรียบเสมือนจิตใจของพิเภกที่ล่องลอยไป โดยนอกจากสำเภาแล้ว พิเภกจะลงเรือสำปั้นเล็กเพื่อเดินทางไปยังฝั่งทวีปอีกด้วย สำหรับสำเภา ความยาวตัวเรือยาวร่วม 10 เมตร และความสูงของเสากระโดง 7.5 เมตร สามารถชักใบ – ลดใบได้เหมือนจริง โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือ มีการเชิญนายทหารเรือมาแนะนำกลไกการก่อสร้างเรือสำเภา และสอนนักแสดงเรื่องการชักใบเรือ เพื่อให้เกิดความสมจริงอย่างที่สุด

เรือโทสิทธินาถเล่าถึงกลไกเรือสำเภาจีนแบบโบราณ
เรือโทสิทธินาถ คุณวัฒน์ ผู้บังคับหมวด กรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ มาเล่าถึงกลไกเรือสำเภาจีนแบบโบราณ

ความพิเศษของฉากสำเภา อาจารย์สุดสาครเล่าเสริมว่า เรือสำเภาออกแบบให้เป็นเรือแบบจีน เพราะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 มีการติดต่อค้าขายกับจีน โดยแบบเรือสำเภาได้มาจากการค้นคว้าแบบเรือโบราณจากพิพิธภัณฑ์เรือ ประกอบกับภาพจิตรกรรมเก่า

โครงสร้างเรือสำเภาจีน
โครงสร้างเรือสำเภาจีน ซึ่งเป็นฉากสำคัญของการแสดงโขนปีนี้

นำมาออกแบบเป็นเรือสำเภาในการแสดงครั้งนี้ ที่สวยงามทางศิลปกรรมและมีลักษณะถูกต้องตามแบบเรือโบราณ โดยปกติสำเภาจะมี 2 สี คือ เขียวและแดง ซึ่งในการแสดงครั้งนี้เลือกใช้สีแดง อีกทั้งยังมีกลไก รอก สมอ เหมือนจริง เพื่อให้เรือสำเภาบนเวทีแล่นได้เหมือนอยู่กลางมหาสมุทร และเมื่อพิเภกเดินทางมาใกล้ฝั่ง จะมีการเปลี่ยนเรือเป็นเรือสำปั้นโล้ออกมา

โมเดลฉากเรือสำเภาจีน
โมเดลฉากเรือสำเภาจีน

นอกจากนี้ยังมี 4) ฉากป่า 5) ฉากพลับพลาพระราม 6) ท้องพระโรงฝ่ายในกรุงลงกา 7) สนามรบ ซึ่งการแสดงในปีนี้ใช้ราชรถถึง 3 คัน จากทุกปีที่ใช้เพียง 2 คัน โดยเป็นราชรถของพระราม พระลักษณ์ และทศกัณฐ์ 8) ปราสาทกรุงลงกา และ 9) ห้องบรรทมทศกัณฐ์

แบบฉากขนาดเท่าของจริงในโขนพระราชทาน ตอน พิเภกสวามิภักดิ์
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม วาดแบบฉากขนาดเท่าของจริง
การเพ้นต์สีฉากด้วยเทคนิคการประคบสีลงบนลายฉลุ
คณะทีมช่างกำลังเพ้นต์สีฉากด้วยเทคนิคการประคบสีลงบนลายฉลุ
ทศกัณฐ์ในท้องพระโรงกรุงลงกา โขนพระราชทาน
ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา
ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา โขนพระราชทาน
ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา

เห็นความตั้งใจและความละเมียดละไมต่อผลงานที่ลงมือทำ เพื่อให้ออกมาสวยงามสมงานโขนพระราชทาน ก็ยิ่งช่วยตอกย้ำว่า เมืองไทยเรามีทีมงานที่ดีและมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงามให้ได้ชมกันอย่างรู้คุณค่า…

สำหรับผู้ชมที่สนใจการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ.2559 ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ได้เปิดให้ซื้อบัตรเข้าชมแล้วที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com


เรียบเรียงโดย : Gingyawee_แพรวดอทคอม
ภาพ : บริษัทโพลีพลัส พีอาร์ จำกัด

Praew Recommend

keyboard_arrow_up