เวลาพูดถึง ประเทศอังกฤษ หลายคนมักนึกถึงมหานครลอนดอน และมองเห็นภาพหอนาฬิกาบิ๊กเบน (Big Ben) หรือทาวเวอร์บริดจ์ (Tower Bridge) ขึ้นมาทันที
เที่ยว ประเทศอังกฤษ กันต่อ หลังจากตอนแรกได้เริ่มต้นเดินทางที่ โคลเชสเตอร์ (Colchester) เมืองเก่าแก่ที่สุด ซึ่งห่างจากลอนดอนไปทางทิศเหนือ 100 กิโลเมตร ในตอนส่งท้ายนี้ไปลุยกันต่อบ้านเชกสเปียร์กันเลย!
เยี่ยมบ้านเชกสเปียร์
วันรุ่งขึ้น หลานให้ฉันพักผ่อนด้วยการไปเที่ยวในตัวเมืองลอนดอน ก่อนจะเดินทางไปสแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน (Stratford- Upon-Avon) ในวันต่อมา เมืองนี้เป็นสถานที่ในฝันของหลายคน เพราะเป็นบ้านเกิดของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวีเอกของโลก เจ้าของบทประพันธ์ โรเมโอ และจูเลียต (Romeo and Juliet) อันโด่งดัง
พวกเรานั่งรถไฟไปประมาณ 2 ชั่วโมง พอลงจากรถก็เดินเลียบแม่น้ำเอวอน (Avon) ไปเรื่อยๆ ระหว่างทางฝนตกพรำๆ ทำให้บรรยากาศบ้านสไตล์อังกฤษข้างทางดูเหมือนในหนังไม่มีผิด ประมาณ 10 นาที พวกเราก็ไปถึงถนนเฮนเลย์ (Henley) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บ้านเชกสเปียร์ สองฟากมีแต่ร้านขายของน่ารัก ฉันพุ่งตรงไปยังร้านปีเตอร์ แรบบิท (Peter Rabbit) ซึ่งขายของทุกชนิดที่เกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้ และชื่นชมกับสินค้าต่างๆ อยู่พักใหญ่ ก่อนข้ามไปฝั่งตรงกันข้ามเพื่อซื้อตั๋วเข้าศูนย์ เชกสเปียร์ อันเป็นทั้งบ้านเกิด ห้องสมุด และสถานที่เก็บรักษาผลงานที่สำคัญของเขา และเป็นอาคารที่โดดเด่นที่สุดเพราะได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิม
พอก้าวเท้าเข้าไปฉันรู้สึกเหมือนวิลเลียม เชกสเปียร์ ยังมีชีวิตอยู่ในบ้านนั้น เพราะการตกแต่งและเครื่องเรือนทั้งหลายเป็นแบบกอทิกในคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือแม้แต่สวนซึ่งมี อายุตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ปลูก ต้นไม้นานาชนิดที่เชกสเปียร์เอ่ยถึงในงาน ของเขา ทำให้ฉันเกือบหลงคิดว่า ได้หลุด เข้าไปในโลกของกวีเอกจริงๆ! นอกจากนี้ บางห้องยังมีคนแต่งตัวแบบผู้คนในยุคเชกสเปียร์ แสดงเป็นญาติพี่น้องของเขา และนั่งทำ กิจกรรมต่างๆ ราวกับเป็นชีวิตประจำวัน ที่เลิศยิ่งกว่านั้นคือ คนที่อยู่ในห้องสุดท้ายได้ขอให้แขกผู้มาเยือนเลือกตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องอะไรของเชกสเปียร์ก็ได้ แล้วพวกเขาก็แสดงให้ดูกัน สดๆ เลย! ฉันทึ่งมากตรงที่นักแสดงบางคนเป็นผู้พิการ แต่กลับท่องบทกวียาวเหยียดได้อย่างไม่ติดขัดแม้แต่น้อย นับเป็นความคิดอันน่าชื่นชมที่ให้คนพิการได้มีโอกาสแสดงความสามารถของเขา โดยไม่สนใจเพียงรูปลักษณ์ภายนอก
เราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษที่ บ้านเกิดเชกสเปียร์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเขากับพ่อแม่สมัยเป็นเด็ก ก่อนเดินต่อไปยังฮอลล์ส ครอฟท์ (Hall’s Croft) หรือบ้านของซูซานน่า (Susanna) ลูกสาวคนโตของเขา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาใช้ชีวิตหลังจากเริ่มมีฐานะดีขึ้น ดังนั้นจึงมีขนาดใหญ่ กว้างขวาง และตกแต่งด้วยเครื่องเรือนที่หรูหรากว่ามาก…
จากสถานที่ทั้งสองแห่ง ทำให้ฉันได้รับรู้เรื่องราวมากมาย ที่ไม่เคยรู้มาก่อนของกวีเอกคนนี้ เช่น เขาแต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี กับแอนน์ แฮททาเวย์ ซึ่งอายุมากกว่าถึง 8 ปี ตัวเขาเองไม่ได้เป็นนักเขียนเท่านั้น แต่ยังเป็นนักแสดงและผู้กำกับละครเวที งานของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินแทบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรจำนวนมากในยุคโรแมนติก และศิลปินกลุ่มพรีราฟาเอลไลท์ งานดนตรีกว่า 20,000 ชิ้นก็มีความเกี่ยวข้องกับผลงาน ของเขา หรือแม้แต่นักจิตวิทยาซิกมุนด์ ฟรอยด์ ยังใช้ตัวอย่างงานของเชกสเปียร์ โดยเฉพาะเรื่อง แฮมเล็ต ไปเป็นทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์
นอกจากนั้นในยุคของเชกสเปียร์ รูปแบบไวยากรณ์และการสะกดคำในภาษาอังกฤษยังไม่สู้จะเป็นมาตรฐาน การใช้ภาษาของเขาจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดรูปแบบภาษาอังกฤษใหม่ ทั้งนี้ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (A Dictionary of the English Language) ของซามูเอล จอห์นสัน ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในตระกูลพจนานุกรมทั้งหมด ก็อ้างอิงถึงเชกสเปียร์มากกว่านักเขียนคนอื่นๆ
น่าเสียดายที่เขาถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 52 ปี ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ลูกหลานส่วนใหญ่ของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนที่อยู่จนแก่เฒ่าก็ไม่มีลูก สรุปว่าเขา ไม่มีทายาทโดยตรงที่สืบทอดความเป็นอัจฉริยะเลยแม้แต่คนเดียว!
ก่อนออกจากบ้านเชกสเปียร์ ฉันเสียเวลาไปกับการเลือกซื้อของ ที่ระลึกหลายอย่างเป็นผลงานของเขา ซึ่งทำในรูปแบบใหม่ที่น่าเก็บสะสม จากนั้นเราแวะไปล่ำลากวีคนสำคัญที่โบสถ์โฮลีทรินิตี้ (Holy Trinity Church) ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของเขา ถ้ามีเวลาพอก็ยังมีอีกหลายแห่งที่น่าไป เช่น บ้านและสวนของภรรยาเชกสเปียร์ (Anne Hathaway’s Cottage and Garden) ซึ่งต้องเดินไปอีกครึ่งชั่วโมง และฟาร์มของมารดาเขา (Mary Arden’s Farm) ซึ่งอยู่ห่างไป 15 นาที
แต่ฉันคิดว่าเราได้ดูสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาที่สุดแล้ว จึงชวนหลานสาวแวะกิน ฟิชแอนด์ชิปส์ (Fish and Chips) ต้นตำรับอังกฤษที่โอลด์ทัตช์ทาเวิร์น (Old Thatch Tavern) ซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่สุดของที่นั่น ก่อน นั่งรถไฟกลับกันด้วยความอิ่มเอมใจ
นี่แค่ไปมาสองเมือง ยังมีเรื่องราวมากมายขนาดนี้ แล้วอีกหลายเมืองที่รายรอบลอนดอนล่ะ สงสัยฉันคงต้องหาทางกลับมาเที่ยวอังกฤษอีกครั้งเสียแล้ว!
ที่มา : นิตยสารแพรว ปักษ์ 888 วันที่ 25 สิงหาคม 2559 คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว เรื่องและภาพ ทิพถวิล