ไทยแท้แต่โบราณ งามวิจิตรบรรจง กว่าจะเป็น “โขนพระราชทาน”

“โขน” นับว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ความน่าสนใจของเนื้อเรื่อง ความอ่อนช้อยของผู้แสดง รวมถึงความงดงามของชุดที่ผู้แสดงสวมใส่ คือการผสมผสานศิลปะหลายแขนงให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งทุกอย่างก็ต้องอาศัยฝีมือบวกกับความเพียรพยายามอย่างมาก

จากวรรณคดีอันเก่าแก่เรื่องรามเกียรติ์ สู่การแสดงโขนที่กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาตินั้น ประกอบไปด้วยหลายปัจจัยที่ถูกนำมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของชุดที่นักแสดงสวมใส่และหัวโขนต่างๆ

khon ramayana (14)

ทั้งนี้ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับการแสดงโขนฯ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เล่าว่า ได้มีการฟื้นฟู “ผ้ายกเมืองนคร” มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทยที่ครั้งหนึ่งเหลือเป็นเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของพัสตราภรณ์สำหรับการแสดงโขนฯอีกครั้ง โดยช่างทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เนินธัมมัง และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้ได้มีการพัฒนาฝีมือสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ด้วยชาวบ้านในพื้นที่กว่า ๑๐๐ คน โดยกำลังสำคัญในการผลิตชิ้นงานหลัก แผนกชุดปักโขน จำนวน ๑๔ คนนั้น จะมีหน้าที่ในการปักเครื่องโขน ซึ่งเป็นการปักดิ้นทองลงบนผ้าตามแบบลายที่มีอยู่ โดยต้องอาศัยความประณีตและความตั้งใจทำ โดยการปักเครื่องโขนที่อำเภอสีบัวทองแห่งนี้นั้นจะมีการทำอยู่ทั้งหมด ๔ ลาย ได้แก่ ๑) ลายราชวัตรดอกลอย ๒) ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน ๓) ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง  และ ๔) ขนทักษิณาวัตร

ลายราชวัตรดอกลอย
ลายราชวัตรดอกลอย
ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน
ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน

โดยในแต่ละปีจะมีการปักเครื่องโขนเพื่อใช้สำหรับพัสตราภรณ์ในการแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยเครื่องโขนฝีมือสมาชิกศูนย์นั้นประกอบไปด้วยเสื้อ แขนเสื้อ อินทรธนู กรองศอ รัดเอว สนับเพลา และเกราะด้านหน้า โดยใช้สำหรับตัวละครที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพิเภก ทศกัณฐ์ เสนายักษ์ ฯลฯ

ลายราชวัตร ย่อมุมไม้สิบสอง
ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง

ในส่วนของลายผ้าที่จะใช้สำหรับส่วนต่างๆของชุดนักแสดง อย่างลายราชวัตรดอกลอย และลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบดอกใน ใช้สำหรับตัวละครเสนายักษ์และตัวละครเอก ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสองสำหรับตัวละครพิเภก และขนทักษิณาวัตร

การปักขนทักษิณาวัตร ของเสื้อหนุมาน
การปักขนทักษิณาวัตรของเสื้อหนุมาน

สำหรับตัวละครหนุมาน โดยขั้นตอนการปักเครื่องโขนนั้นจะมีการใช้ดิ้น – เลื่อม โดยเริ่มจากร่างแบบลายลงบนกระดาษไข แล้วนำไปทำบล็อกซิลค์สกรีน หลังจากสกรีนลายลงบนผ้าด้วยกาวกระถินผสมดินสอพองแล้วนั้น จะขึงสะดึงด้วยผ้าขาวให้ตึง แล้วนำผ้าที่จะใช้มาปักเย็บตรึงให้เรียบ และเริ่มดำเนินการปักตามลาย โดยเริ่มจากการปักขอบลายด้วยดิ้นข้อก่อน  เสร็จแล้วจึงปักด้านในของลายด้วยดิ้นโปร่งให้เต็มลาย

อุปกรณ์ที่ใช้ในการปักผ้า
อุปกรณ์ที่ใช้ในการปักผ้า

นอกจากการปักเครื่องโขนแล้ว ยังมีการทอผ้ายก โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ๒ ศูนย์ศิลปาชีพ ซึ่งจะมีการยกตะกรอมาจากศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง มาสืบตะกรอที่สีบัวทอง และสามารถขึ้นกี่ทอได้เลยโดยสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง เพื่อทำหน้าที่ในการทอจนเสร็จเป็นผืนเพื่อใช้ในการแสดงต่อไป

การปักเครื่องโขน
การปักเครื่องโขน

ผ้ายกทอง คือ  ผ้าไหมที่ทอด้วยเทคนิคการยกลวดลายให้ปรากฏเด่นชัดขึ้น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นผ้าราชสำนักซึ่งทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียด แทรกลวดลายด้วยไหมเงิน ไหมทองที่บางเบา และทออย่างประณีต โครงสร้างของการวางลวดลายอันประกอบด้วยท้องผ้าและกรวยเชิงมีลักษณะแบบราชสำนักที่ใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงในอดีต เป็นทั้งผ้านุ่งโจงและนุ่งจีบ โดยความพิเศษในอนาคตนั้นจะมีการพัฒนาลายให้ใหญ่เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้เห็นลวดลายชัดเวลานุ่ง จากเดิมที่เราใช้ ๑,๖๐๐ ลายไม้ ในอนาคตจะมีการทอ ๒,๐๐๐ ลายไม้

ไหมทอง
ไหมทอง

อีกหนึ่งคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมในการทำเครื่องโขนที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพของคนไทยก็คือการทำหัวโขนโดยการใช้กระดาษข่อย ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นต้นมา เป็นการทำแบบโบราณ ข้อดีคือน้ำหนักเบา มีความทนทาน ไม่บุบและไม่ยุบ

khon ramayana (11)

โดยผลงานการทำหัวโขนนี้จะเริ่มนำไปใช้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี พ.ศ.๒๕๖๐ รวมไปถึงการปั้นและวาดลวดลายเซรามิก โดยเริ่มต้นสร้างสรรค์และมีการส่งไปเพื่อเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะเสวย ลายแรกที่ทำนั้น ได้แก่ ลั่นทมขาว จากนั้นจึงมีการทำลายต่างๆเพิ่มเติม เช่น ลายสัตตบงกช (บัวหลวง) และกำลังเริ่มต้นวาดลายดอกไม้

การทำหัวโขน
การทำหัวโขน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นของคนไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ให้กลับมามีชีวิตโดยการเปิดให้มีการจัดแสดงโขนพระราชทานมานาน 10 ปีแล้ว และในปีนี้ที่นับเป็นวาระอันเป็นมหามงคล ๒ วาระมาบรรจบกัน อันได้แก่  การครบรอบการเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗๐ ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา จึงได้จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้น ระหว่างวันที่ ๕ พฤศจิกายน –  ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ หอประชุมใหญ่  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up