Hallo Norge!! หนาวส่งท้ายที่นอร์เวย์ (ตอนที่ 1)

หน้าร้อนที่ผ่านมาแดดเมืองไทยโหดร้ายจริงๆ หลายวันที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ผมจึงวางแผนพาอาม่าและเจ้าต้นกล้วยน้องชายตัวแสบหนีร้อนไปหาลมหนาวสักหน่อย จุดหมายปลายทาง ที่เล็งไว้มานานแล้วคือ นอร์เวย์ ดินแดนแห่งฟยอร์ด (Fjord) กำหนดการมีแค่ 5 วัน เนื่องจากต้องรีบกลับมาปั่นงานต่อ

ไฮไลท์ของทริปนี้คือ นั่งรถไฟสายคลาสสิก ฟลัมเรลเวย์ (Flam Railway) บนเทือกเขานอร์เวย์ ล่องเรือชมออร์แลนด์ส ฟยอร์ด (Aurlands Fjord) และแนเรยฟยอร์ด (Nryfjord) ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก (World Heritage)  หลังจากค้นหาข้อมูลในโซเชียลทั้งหลายได้สักพัก ก็คิดว่าพอไหวกับเวลาอันแสนสั้นนี้ ใช้เวลาทำวีซ่าสั้นมาก แค่สองวัน ว่าแล้วก็แบ็กแพ็คกันไปเลย

นอร์เวย์
มอสส์สีสวยที่แนเรยฟยอร์ด

ฮัลโลนอร์เวย์

ช่วงที่เรามาเป็นช่วงหยุดสงกรานต์ อุณหภูมิที่นี่หนาวพอได้จับไข้ ประมาณ 9 องศาเซลเซียส ตกดึกลดลงไปถึง 0 องศาเซลเซียส พระอาทิตย์ตกราวทุ่มหนึ่ง ความจริงที่นอร์เวย์มีปรากฏการณ์ธรรมชาติ นอกจากฟยอร์ดแล้วก็มีแสงเหนือ (ออโรร่า – Aurora) ซึ่งพอมีโอกาส จะเห็นที่กรุงออสโล แต่น้อยมาก ต้องบินขึ้นไปด้านเหนือของประเทศ อีกสัก 1,200 กิโลเมตร แถวเมืองทรอมโซ (Tromso) น่าเสียดายที่ไม่ได้ ขึ้นไปเพราะเวลาจำกัด หากมาในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ก็จะเห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืน

นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ค่าครองชีพแพง เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่สวิตเซอร์แลนด์ ฮ็อตด็อกข้างทาง ตกชิ้นละ 300 บาท แฮมเบอร์เกอร์ 2 ชิ้นจ่ายแบงก์พันไม่มีทอน น้ำมัน ลิตรละ 60 บาท ค่าเข้าห้องน้ำครั้งละ 50 บาท ค่าครองชีพในโตเกียว กับนิวยอร์กต้องยอมแพ้เรียกพี่ได้เลย

นอร์เวย์
ทิวทัศน์ของฟยอร์ดแลนด์

พื้นที่นอร์เวย์มีขนาด 3 ใน 4 ของสยามประเทศ แต่พลเมือง มีเพียง 5 ล้านคน ความหนาแน่นประชากรต่างกันร่วม 20 เท่า มองไป ไม่ค่อยเจอผู้คนเท่าไหร่ เป็นประเทศที่ส่งออกแซลมอนมากที่สุดในโลก ภูมิประเทศเป็นฟยอร์ดติดชายฝั่งยาวกว่า 20,000 กิโลเมตร มีลักษณะ เป็นทางน้ำลึก แคบ สองข้างทางเป็นหน้าผาสูงซึ่งเกิดจากการกัดเซาะ ของธารน้ำแข็ง (Glacier) มาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี

ผู้คนในสมัยก่อนที่เรียกว่า ชาวไวกิ้ง จึงเชี่ยวชาญการเดินเรืออย่างมาก ถึงขนาดบุกไปยึดทางตอนเหนือของอังกฤษเมื่อราว 1,200 ปีก่อน คนที่นี่รูปร่างสูงใหญ่เฉลี่ยน่าจะ 6 ฟุต เวลาเดินเทียบกันพวกเรา ดูเป็นเด็กไปเลย ผู้คนยิ้มแย้มมีมิตรไมตรี ทั้งผู้หญิงผู้ชายส่วนใหญ่ หน้าตาดูดี ผิวพรรณขาวเนียนกว่าทางอังกฤษและออสเตรเลีย ตัวอย่าง ดาราที่เมืองไทยก็ต้องเป็นน้องญาญ่าคนสวยที่เป็นลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ ความจริงยังมีดาราลูกครึ่งไทย-สแกนดิเนเวียนที่หน้าตาดีอีกหลายคน เช่น ใหม่ ดาวิกา, ปู ไปรยา, แอน ทองประสม, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล

สัมผัสออสโล

กรุงออสโลเป็นเมืองหลวงของนอร์เวย์ บ้านเรือนไม่สวยคลาสสิก เท่าเมืองหลวงดัง ๆ ในยุโรปอื่นอย่างโรม ปารีส ปราก แต่ก็มีเอกลัษณ์ ของตนเอง มีพิพิธภัณท์เยอะ ที่นิยมก็คือ มูนช์ มิวเซียม (Munch Museum) เก็บรูปภาพศิลปะแนวเอกซ์เพรสชันนิสม์ มีภาพวาดคน กรีดร้อง (The Scream) ที่โด่งดังมาก พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง ซึ่งมีซาก เรือไวกิ้งอายุกว่าพันปีให้ชม ศูนย์โนเบลสันติภาพ สวนฟรอกเนอร์ (Frogner Park) ซึ่งมีรูปปั้นโลหะในสวนมากที่สุดในโลก โรงละครโอเปร่า ที่มีสถาปัตยกรรมสีขาวโดดเด่น หลังคาเป็นสโลปทางเดิน เราสามารถ เดินจากพื้นไปถึงยอดหลังคาเพื่อชมวิวตัวเมืองได้ ส่วนอื่น ๆ ไม่ว่า จะเป็นซิตี้ฮอลล์ พระราชวัง ก็เหมือนเมืองในยุโรปทั่วไป

นอร์เวย์
พระราชวังในกรุงออสโล
นอร์เวย์
โรงละครโอเปร่าในกรุงออสโล

บริเวณพระราชวังมีการเปลี่ยนเวรทหารช่วงบ่าย ๆ สวยงามคล้าย กับที่ลอนดอน จุดหนึ่งที่ชอบของกรุงออสโลคือ มีบริการให้เช่าจักรยาน ชมเมือง (City Bike) ทั่วเมือง เราสามารถเช่าขี่ไปที่ต่าง ๆ และจอดทิ้งไว้ ประหนึ่งเหมือนขึ้นรถเมล์ ชาวจักรยานนักปั่นเห็นแล้วคงจะปลื้ม

ถนนคนเดินในเมืองร่มรื่นดี แม้ว่าจะเข้าเดือนเมษายนแล้วแต่ ก็ยังมีเศษน้ำแข็งหิมะประปราย ที่ชวนสะดุดตาคือ มีคนจรจัดมาก พอสมควร ส่วนใหญ่เป็นพวกผู้อพยพจากยุโรปตะวันออก จึงไม่น่าสงสัย ว่าทำไมการเข้าห้องน้ำตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดถึงต้องขอรหัสเข้าห้องน้ำ จากคนขายก่อน ซึ่งชาวนอร์เวย์ยังถกเถียงกันว่าจะดำเนินการอย่างไรดี กับปัญหาคนจรจัดนี้

นอร์เวย์
กลางกรุงออสโล

ของฝากที่ระลึกตามร้านขายของมีหมวกไวกิ้งและตุ๊กตาโทรลล์ (Troll) ซึ่งเป็นยักษ์ในนิทานปรัมปราของชาวสแกนดิเนเวีย มีจมูกใหญ่ น่ารักน่าชังดี อาศัยในป่าเขาและถ้ำ โรงแรมที่เราพักในครั้งนี้เป็นโรงแรม ใหญ่ที่สุดกลางกรุงออสโล อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟหลัก ระยะห่างไม่ถึง 100 เมตร ช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก สภาพโรงแรมใหม่และ ทันสมัย แต่ราคาก็แพงได้ใจ คืนละกว่าครึ่งหมื่น โรงแรมสูง 37 ชั้น สามารถเห็นวิวเมืองได้ทั่ว

 

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรวฉบับที่ 886

Praew Recommend

keyboard_arrow_up