สารคดีท่องเที่ยว Unseen KARLOVY VARY (ตอนที่ 1)

หลายคนคงรู้จักชื่อเมืองคาร์โลวี วารี (Karlovy Vary) เมืองที่มีสปารีสอร์ทชื่อดังระดับโลก เป็นเมืองแห่งน้ำแร่เพื่อการรักษาโรค ใช้ได้ทั้งดื่มและแช่ตัวรวมถึงการอบซาวน่าด้วยไอร้อนจากน้ำแร่ร้อนธรรมชาติมาอย่างยาวนานหลายร้อยปีแล้ว…

สำหรับคราวนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านไปพักแรม ณ สถานที่พิเศษแห่งหนึ่งที่อาจนับเป็นอันซีนของเมืองคาร์โลวี วารี นี้เลยก็ว่าได้ นั่นคือโรงแรมปราสาทกลางป่าชื่อ สปาโฮเต็ล ซาเม็ค ลูเซ็ค (Spa Hotel Zamek Luzec) ที่สร้างขึ้นในแบบย้อนยุค ให้มีหน้าตาดุจปราสาทในยุคเมดีวัล (Medieval) หรือยุคอัศวินนั่นเอง

นอกจากพักโรงแรมปราสาทย้อนยุคแล้ว ยังจะพาไปช็อปปิ้งที่ตลาดแม่สายชายแดนไทย – พม่า เอ๊ย …ชายแดนเยอรมนี – เช็กครับต่อด้วยการไปดื่มน้ำแร่ที่เมืองคาร์โลวี วารี ฟังดูน่าสนใจใช่ไหมครับเชิญตามผมมาได้เลย

KARLOVY VARY
เนินหน้าอาคารโรงแรม

เริ่มต้นเดินทาง

การเดินทางของผมเริ่มต้นในตอนบ่ายวันหนึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วงที่เพิ่งผ่านมา ผมกับคณะผู้ร่วมเดินทางผู้หญิงล้วนอีก 6 คน หนึ่งในนั้นคือ ผบ.ทบ.ของผมเองกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ของเธอ พาหนะที่ใช้เป็นรถเบนซ์วีโต้ 9 ที่นั่งเกียร์อัตโนมัติ ผมรับหน้าที่เป็นโชเฟอร์ตลอดการเดินทาง

ช่วงแรกของการเดินทาง เราใช้ทางด่วนออโต้บาห์น (Autobahn) สายเอ 4 จากเมืองเดรสเดน (Dresden) มุ่งหน้าไปเมืองเชมนิตซ์ (Chemnitz) ประเทศเยอรมนี เมื่ออยู่บนออโต้บาห์นชั้นดีมีสี่ช่องจราจรเป็นอย่างต่ำแล้วนั้น ผมชี้ให้ทุกคนดูสะพานลอยที่เห็นอยู่ไกล ๆ เบื้องหน้าว่า มีความแตกต่างจากสะพานลอยอื่น ๆ ทั่วไปอย่างไร จนเข้าใกล้พอแล้ว ทุกคนจึงมองเห็นความต่างของสะพานลอยอันนั้นว่ามีรั้วตาข่ายแข็งแรงกั้นอยู่ด้านนอก ส่วนด้านในปลูกต้นไม้เอาไว้จนรกทึบพอสมควรมองดูแล้วรถคงจะวิ่งผ่านไปมาบนสะพานนั้นไม่ได้

“อ้าว…แล้วเขาทำอย่างนั้นทำไม” บางคนในคณะเอ่ยถาม “สะพานลอยแบบนี้และสะพานอื่น ๆ ที่คงจะได้เห็นอีกเรื่อย ๆ ไปตลอดเส้นทางนั้น สร้างไว้ให้สัตว์ป่าใช้เป็นทางเดินข้ามถนน จึงต้องทำให้ทึบเอาไว้เพื่อไม่ให้สัตว์มันตื่นตกใจไงครับ” ผมตอบ

KARLOVY VARY

ในเยอรมนีรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรปนั้นมีป่าอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ มีทั้งป่าธรรมชาติ ซึ่งมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ และป่าปลูก ซึ่งมีแต่ต้นไม้เพื่อใช้ในทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในป่าทุกแห่งมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ทั้งเก้ง กวาง กระต่าย หมูป่า หมาป่าหมาจิ้งจอก และอื่น ๆ อีก

สะพานลอยข้ามถนนแบบนี้ช่วยให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นไปมาได้อย่างเสรีโดยไม่เป็นอันตรายจากการถูกรถชน (บนถนนออโต้บาห์นในบางเส้นทางยังมีอุโมงค์ลอดใต้ถนนให้สัตว์เล็ก ๆ อย่างเต่า กบ กระต่าย เม่น ฯลฯ ได้ใช้เดินลอดได้อีกด้วย) ขับเพลิน ๆ ไปอีกราวสองชั่วโมงการ์มินจีพีเอสทั้งสองตัวซึ่งผมนำติดตัวไปด้วยและตั้งจุดหมายปลายทางล่วงหน้าเอาไว้ที่โรงแรมปราสาทแล้ว ก็นำทางเราออกจากทางด่วนไปวิ่งบนถนนสองเลนธรรมดาอยู่อีกระยะหนึ่ง วิ่งผ่านเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านต่าง ๆ เรื่อยไปจนเริ่มมืด เพราะหนึ่งนั้นเราขับรถอยู่แต่ในป่าทึบเป็นส่วนใหญ่ กับสองเป็นฤดูใบไม้ร่วง จึงมืดค่อนข้างเร็วกว่าในฤดูร้อน

KARLOVY VARY
ภาพวาดในล็อบบี้ แสดงให้เห็นถึงการล่าสัตว์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 ในสมัยนั้น

ถึงแล้ว…ตลาดชายแดน

ผมขับเรื่อยมาจนถึงชายแดนเยอรมนีต่อเขตประเทศเช็กที่ไม่มีด่านตรวจใด ๆ ให้เห็นแล้ว เพราะเป็นประเทศสมาชิกอียูด้วยกันนอกจากป้ายบอกเขตแดนของแต่ละประเทศปักอยู่คู่กันเท่านั้น เลยป้ายเขตเยอรมนีต่อไปอีกหน่อย เราเห็นร้านค้าตั้งอยู่เรียงรายสองข้างทางและมีคนเดินไปมาขวักไขว่ กระตุ้นต่อมช็อปปิ้งของคณะให้ทำงานขึ้นมาทันที

ผมรีบเลี้ยวเข้าไปจอดรถริมทางตามคำสั่ง ตรงนั้นมีป้ายบอกว่าเก็บค่าจอดรถชั่วโมงละ 1 ยูโร สมาชิกรีบลงไปเดินชมสินค้ากันก่อนจะมืดมากไปกว่านี้ ส่วนผมนั้นเมื่อดับเครื่องล็อกประตูแล้วก็เดินเตร่ไปหาชายกลุ่มหนึ่งที่ยืนจับกลุ่มคุยกันอยู่ตรงวงเวียนกลางถนนหน้าทางเข้าที่จอดรถ ทั้งหมดที่เห็นเป็นคนเอเชีย จนผมนึกว่าเป็นพวกทัวร์จีนมาเดินช็อปปิ้งเสียอีก ผมเข้าไปทักทายและพูดคุยสนทนากับชายกลุ่มนั้นอย่างออกรสอยู่นานกว่าครึ่งชั่วโมง (คงเพราะเป็นคนเอเชียเพื่อนบ้านกัน) จนคณะนักช็อปพากันเดินกลับมา จึงได้จับมือล่ำลาอวยพรกันตามธรรมเนียมสากล…

KARLOVY VARY
ภายในห้องนอนของผู้เขียน

สรุปใจความจากการสนทนาได้ว่า คนในหมู่บ้านชายแดนนี้ทั้งหมดเป็นชาวเวียดนามเชื้อสายจีนและเป็นเจ้าของร้านค้าที่เห็นเรียงรายอยู่ริมถนนนั่นเอง พากันอพยพจากโฮจิมินห์ซิตีมาอยู่ที่นี่นานเกือบยี่สิบปีแล้ว หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตไม่นานนัก ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องให้เกิดการรวมตัวของสองเยอรมนี คือตะวันออกกับตะวันตกเข้าเป็นหนึ่งเดียว กับประเทศเชโกสโลวาเกียได้แตกแยกออกเป็นสองประเทศ (เป็นสาธารณรัฐเช็กกับสาธารณรัฐสโลวัก) ส่วนเรื่องทำไมพวกเขาถึงเลือกเป็นคนเช็ก ไม่ยอมข้ามแดนไปอยู่ทางฝั่งเยอรมนีนั้นเหตุผลคือ ระเบียบความเป็นอยู่ทางฝั่งเยอรมนีจะเข้มงวดมากกว่า รวมถึงการจัดเก็บภาษีก็สูงกว่าด้วยนั่นเอง

น่าหัวร่อ! ตรงที่หนึ่งคนไทยกับสี่คนเวียดนามนั้น สนทนากันรู้เรื่องดีด้วยภาษากลาง คือภาษาเยอรมันครับ (คนเช็กส่วนมากพูดและใช้ภาษาเยอรมันได้ดี) อีกอย่างหนึ่ง ลูกค้าของร้านค้าที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนเยอรมันที่ใช้เส้นทางนี้สัญจรนั่นเอง

เมื่อขึ้นรถกันครบ ผมถามว่า ทำไมถึงเดินกลับมามือเปล่าอย่างผิดวิสัย ทุกคนหัวเราะกันลั่นตอบว่า “ซื้อไม่ลง เพราะของที่ขายอยู่นั่นเป็นของทำในจีนทั้งหมดเลย” ผบ.ทบ.ของผมตอบแทนสมาชิกทุกคนแล้วพูดต่อแบบหงุดหงิดนิด ๆ อีกว่า “ของอย่างนี้ตลาดแม่สายมีเยอะแยะไม่ต้องมาซื้อถึงที่นี่หรอก…”

KARLOVY VARY
ด้านหน้าโรงแรม 4 ดาวด้านขวาคือพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 4

พักแรมที่ปราสาทอัศวิน

พ้นจากตลาดชายแดน กลับเข้าสู่ถนนแคบ ๆ ในป่ากันอีกครั้งจากจุดนี้เหลือระยะทางไม่ไกลนัก อีกสักสิบกว่ากิโลเมตรก็จะถึงโรงแรมที่พักแล้ว แต่เริ่มมืดมากขึ้นจึงเป็นอุปสรรค ผมขับตามจีพีเอสทั้งสองตัวด้วยความระวัง เพราะถนนแคบมาก ประกอบกับสองข้างทางเป็นเหวลึกพอสมควร จนขับผ่านเลยจุดหมายในจีพีเอสไปแล้วก็ยังไม่เจอโรงแรมอีก แน่ใจว่าเลยที่หมายไปแล้ว ผมกลับรถย้อนทางกลับมาอีกครั้ง แต่ยังเลยอีกจนได้ เพียงแต่คราวนี้ผมมองเห็นทางเข้าโรงแรม ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างเห็นได้ยากมาก

ขับเข้าไปลานด้านหน้าโรงแรมจอดรถและขนกระเป๋าลงจากรถเดินผ่านพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 ซึ่งในภาษาเยอรมัน คือ Karl (Karlovy Vary) ที่ประดิษฐานโดดเด่นอยู่กลางลานเข้าประตูโรงแรม เช็กอินเก็บกระเป๋าเข้าห้องเรียบร้อยแล้ว มีเวลาให้พิจารณาการตกแต่งห้องพักที่ประณีตสวยงาม ซึ่งภายในห้องพักแต่ละห้องนั้นตกแต่งแตกต่างกันบ้าง ตามแต่รูปทรงของอาคารและราคาค่าห้อง

เมื่อเราลงมาพูดคุยกับรีเซปชั่นสาวที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยมเธอเล่าประวัติของโรงแรมซาเม็ค ลูเซ็ค แห่งนี้ว่า มีประวัติยาวนานเคียงคู่กับเมืองคาร์โลวี วารี มากว่า 600 ปีในฐานะเป็นปราสาทที่ประทับกลางป่าของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งราชอาณาจักรโบฮีเมีย (สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) ในเวลาเสด็จออกมาล่าสัตว์ ต่อมาเคยใช้เป็นสถานที่สำหรับประชุมวางแผนการรบของนายพลจัน ซิซกา (Jan Žižka) ผู้บัญชาการรบในช่วงสงครามครูเสด (สงครามศาสนาระหว่างคริสต์และอิสลาม) ด้วย

KARLOVY VARY

ในยุคต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 (Rudolph II) ก็ได้ใช้ปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่ให้แพทย์หลวงค้นคว้าทดลองเพื่อปรุงยาอายุวัฒนะตามความเชื่อของพระองค์เอง จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Goering) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศนาซีเยอรมัน ก็ใช้ปราสาทนี้เป็นที่พำนัก เมื่อครั้งที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาตัวที่เมืองคาร์โลวี วารี นี้อีกด้วย

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของปราสาทแห่งนี้เริ่มต้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2010 เมื่อเจ้าของผู้ครอบครองปราสาทในยุคปัจจุบันได้ใช้เงินลงทุนมหาศาลกับระยะเวลายาวนานกว่า 4 ปีปรับเปลี่ยนโฉมของปราสาทจากชาโตว์กลางป่ากลายเป็นปราสาทในยุคอัศวินอย่างที่เห็น ด้วยห้องพักสุดหรูหลากหลายรูปแบบถึง 62 ห้อง ห้องอาหาร 2 ห้อง สปาและฟิตเนส พร้อมสระว่ายน้ำในร่มที่ปรับอุณหภูมิได้ (จากน้ำแร่ร้อนธรรมชาติ) ห้องอบซาวน่าจากไอน้ำแร่ร้อน พร้อมที่จอดรถได้ถึง 100 คันและปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นปราสาทที่อยู่ท่ามกลางป่าทึบที่ดูสวยงามอย่างยิ่ง ทั้งนี้โรงแรมแห่งนี้ยังมีบ่อน้ำแร่น้ำพุร้อนคุณภาพดีจนสามารถดื่มได้เป็นของตัวเองอีกด้วย และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วนี้เอง

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับ 877 ปักษ์ที่ 10 มีนาคม 2559

ติดตามอัพเดตเรื่องราวต่างๆจากนิตยสารแพรวให้สนุกยิ่งขึ้นได้ที่

www.facebook.com/praewmagazine

Instagram : @praewmag

และติดตามอ่าน แพรว E-Magazine ได้แล้ววันนี้เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น

  • Praew E-magazine
  • NaiinPann
  • Ookbee

Praew Recommend

keyboard_arrow_up