เมื่อสาวออฟฟิศจบใหม่ ผันตัวไปเป็นชาวดอยไร่กาแฟ งานนี้ไม่ได้มีรสขมรสเดียวนะจ๊ะ!

เมื่อชีวิตสาวออฟฟิศจบใหม่ ที่นั่งจ้องคอมพ์จับงานเขียนตลอดเวลา อยากจะไปสูดอากาศเย็นๆ ทางภาคเหนืออย่างคนอื่นเขาบ้าง เจ้านายแสนดีรู้ใจเลยส่งตัวให้ไปเป็นชาวดอยไร่กาแฟ ณ หมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อย จ.เชียงใหม่ แต่… ไปแล้วต้องได้งานกลับมานะ ฉันไม่ได้กล่าว เจ้านายกล่าว!

ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งจะต้องมานั่งทำตัวเป็น เต๋อ ฉันทวิทย์ หรือหนูนา หนึ่งธิดา ในภาพยนตร์เรื่อง กวน มึน โฮ ที่ได้ดูไปเมื่อสมัยเรียน นี่ไม่ใช่การเดินทางของคนแปลกหน้าสองคนแบบในหนัง แต่เป็นการเดินทางร่วมกันของคนแปลกหน้า 20 กว่าชีวิต ต่างที่มาแต่อย่างน้อยมีใจหลงรักกาแฟเหมือนกัน อยากรู้แล้วว่า เรื่องราวในช่วง 3 วัน 2 คืนนี้จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

สนามบินดอนเมือง จุดนัดพบแรกของฉันกับเพื่อนร่วมทริป

จุดนัดพบแรกของฉันเริ่มที่ สนามบินดอนเมือง รู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างบอกไม่ถูก ที่จะได้หนีอากาศร้อนๆ ไปสัมผัสอากาศเย็นสบายที่เชียงใหม่ ในหัวตอนนั้นสารภาพเลยว่า คิดแต่เรื่องเที่ยวล้วนๆ ฉันได้พบกับเพื่อนร่วมทริปที่ตัวต้องติดกันตลอดทริปแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับรอยยิ้มจากเพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ ส่งเข้ามาทักทายด้วย ยังไม่มีโอกาสได้คุยกัน ส่งยิ้มให้กันก่อนก็ยังดี

coffee_14พักสายตาบนเครื่องบินไม่นาน พวกเราก็เดินทางสู่สนามบินเชียงใหม่ในเวลา 10 โมงเช้านิดๆ เสื้อกันหนาวที่ใส่มาเริ่มทำงานให้ความอบอุ่นทันที เพราะแค่เครื่องบินแลนดิ้งลงสนามบิน อากาศเย็นจากข้างนอกก็ทำให้เราหนาวได้แล้ว (เดินทางปลายเดือนมกราคม 2559)

ทริปผันตัวไปเป็นชาวดอยไร่กาแฟ ไม่ได้มีแค่พี่ไทยชาติเดียวนะ

ทริปนี้มีชื่อว่าทริปม่วนใจ๋ เป็นภาษาเหนือ มีความหมายว่า สุขใจ สบายใจ ออกจากสนามบินเชียงใหม่มาขึ้นรถยนต์เพื่อเดินทางต่อ ฉันก็ได้เจอกับเพื่อนร่วมทริปชาวต่างชาติ รู้สึกเซอร์ไพรส์เหมือนกันที่รู้ว่า มีชาวมาเลเซียและสิงคโปร์มาแท็คทีมร่วมทริปด้วย

65ฉันและเพื่อนร่วมทริปอีก 3 คน ได้กระโดดขึ้นรถคันเดียวกับไกด์คนพิเศษ ซึ่งจะมาเป็นกุญแจไขให้เรารู้จักกับโลกกาแฟ นั่นก็คือ คุณไมเคิล อาร์ แมนน์ (Micheal R.Mann) ชายชาวแคลิฟอร์เนีย ผู้เปล่งประกายออร่าความใจดี และเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน หรือ Intergrated Tribal Development – ITDP

กาแฟองค์กร ITDP เป็นองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไร ช่วยพัฒนากลุ่มชาวเขาแถบภาคเหนือของไทย ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต พัฒนาแหล่งน้ำ ให้ความรู้ด้านการเกษตร ที่สำคัญยังช่วยเสาะหาและจัดส่งตัวอย่างเมล็ดกาแฟ ที่ปลูกโดยชาวเขาเหล่านี้ส่งไปขายยังในและนอกประเทศ เพื่อให้ชาวเขามีรายได้ และมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟที่ชาวเขาปลูกก็คือ กาแฟสตาร์บัคส์ที่เราๆ ดื่มกันนั่นเอง

เห็นแต่คนไทยเป็นไกด์พาต่างชาติเที่ยวเมืองไทยมาก็มาก ลองสลับบทบาทกันบ้าง รสชาติก็คงไม่แปลกลิ้นมากเท่าไหร่หรอก ว่าไหม?

จากสนามบินเชียงใหม่ มุ่งตรงสู่ กาดฝรั่ง แบบไม่รีรอ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาด้วย เวลาเห็นอะไรแปลกใหม่ เลยรู้สึกตื่นตาตื่นใจตามประสาเหมือนเด็กได้หนีเที่ยว ภายนอกกาดฝรั่ง มองแล้วสบายตา เดินเข้าไปภายใน กว้าง โปร่ง ชวนให้สบายใจ

กาแฟขณะที่รอ ฉันได้เดินสำรวจไปรอบๆ ตัวกาด ตัวอาคารดีไซน์ผสมผสานความสากลและวัฒนธรรมทางเหนือเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี บนโต๊ะบางตัวจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษสลักไว้ว่า ‘This table is made using recycled Starbucks coffee grounds.’ บอกให้เรารู้ว่า โต๊ะตัวนี้ทำมาจากกากกาแฟนะ

กาแฟ

‘สูด-ซด’ สเต็ปในการดื่มกาแฟ

พูดถึงเรื่องดื่มกาแฟกันหน่อย รู้ไหมว่า กาแฟแก้วหนึ่งมีสเต็ปในการดื่มด้วยนะ พอได้ลองดื่มกาแฟม่วนใจ๋ครั้งแรก รสชาติออกขมๆ อาจจะไม่ถูกปากคนชอบดื่มกาแฟรสหวานสักเท่าไหร่ วิธีการดื่มคือให้เราสูดกลิ่นหอมๆ ของกาแฟเพื่อเปิดรสก่อน ลิ้นจำแนกรสชาติได้ดียังไง จมูกเราก็จำแนกกลิ่นเป็นพันกลิ่นได้มากเท่านั้น แล้วตามด้วยซดเสียงดังๆ หรือที่เขาเรียกว่า Slurp เพื่อระบายความร้อน และยังเป็นการสเปรย์กาแฟเข้าปากเราได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย

กาแฟหลังจากนั้นได้แวะทานอาหารกลางวัน จัดการซื้อของใช้เพิ่มเติมเล็กน้อย แล้วเดินทางสู่หมู่บ้านแม่ขี้มูกน้อย ระหว่างที่นั่งอยู่บนรถยนต์ โดยมีคุณไมเคิล หรืออาจารย์ไมค์ เป็นฮีโร่ขับรถนั้น อาจารย์ไมค์เล่าให้เราฟังว่า เขาอยู่เมืองไทยมานานกว่า 57 ปีแล้ว รักเมืองไทยมาก อยู่ตั้งแต่พื้นถนนของเชียงใหม่ยังเป็นดินลูกรัง ซึ่งการเดินทางตอนนั้นค่อนข้างลำบากพอตัว การเดินทางขึ้นลงเขาในแต่ละวัน ใช้เวลานานถึง 3-4 ชั่วโมง แล้วเส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยวเสี่ยงต่ออันตราย

กาแฟสิ่งที่เขาให้ความสำคัญแก่ชาวบ้าน ชาวเขาอันดับแรกคือเรื่องน้ำ รายได้ส่วนหนึ่งที่พวกเราซื้อกาแฟม่วนใจ๋ก็นำมาพัฒนา ติดตั้งแท็งค์น้ำให้ชาวเขา เพราะเมื่อเวลาน้ำหมด ชาวเขาต้องเดินเท้าขึ้นลงเขาตักน้ำหลายกิโล เสียเวลาทั้งวัน แถมยังเสียรายได้จากการทำไร่ ชาวเขาบางคนเพิ่งเคยเห็นน้ำไหลออกจากก๊อกน้ำครั้งแรกเลยก็มี ซึ่งรอยยิ้มและความดีใจของชาวเขาเหล่านั้นก็ช่วยให้อาจารย์ไมค์รวมถึงคนอื่นๆ หายเหนื่อย และมีแรงพัฒนาหมู่บ้านอื่นต่อไป ทั้งนี้ยังนำรายได้ไปสร้างโรงเรียน และคลินิกให้แก่ชาวเขาอีกด้วย

กาแฟค่ำคืนแรกทุกคนต่างมายืนล้อมกองไฟ เพื่อออกมาแนะนำชื่อตัวเอง ก่อนจะปิดท้ายวันด้วยอาหารมื้อค่ำ เสียงดนตรี และหมอกควันท่ามกลางอากาศหนาวบนยอดเขา นั่งรถขึ้นเขามาหลายชั่วโมง หัวกระแทกรถไปก็หลายรอบ รู้ซึ้งถึงรสความลำบากของชาวเขาเลยจริงๆ

ก่อนไปไร่กาแฟในเช้าวันใหม่ เราเลี้ยวรถมาสัมผัสความน่ารักของเด็กๆ กันที่ ‘โครงการส่งเสริมการศึกษาบ้านแม่ขี้มูกน้อยและบ้านกองกาย’ เสียงนับเลข หนึ่ง-สอง-สาม กับท่าทางออกกำลังกาย ผ่านสีสันแฟชั่นเสื้อกันหนาวของเด็กชาวดอย กระตุกรอยยิ้มมุมปากเราได้โดยไม่รู้ตัว

coffee_06ที่นี่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เกิดขึ้นได้จากการหักรายได้ส่วนหนึ่งเมื่อมีคนซื้อกาแฟม่วนใจ๋ การตั้งโรงเรียนในชุมชน ใครว่าไม่มีความหมาย อาจารย์ไมค์เล่าว่า เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างเด็กและชุมชนทางหนึ่ง หากปล่อยให้เด็กเข้าไปเรียนในตัวเมืองหรือโรงเรียนนอกหมู่บ้าน ระยะทางจะทำให้ความผูกพันระหว่างเด็กและครอบครัวไกลห่างออกไป เด็กไม่อยากกลับมาอยู่บ้านตัวเอง และชุมชนแห่งนั้นก็ไม่ได้รับการพัฒนา พวกเราได้นำเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนมามอบให้แก่เด็กๆ รวมถึงได้ทำกิจกรรมอย่างสอนหนังสือ และทาสีโรงเรียน หลังจากนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่ฉันจะผันตัวไปเป็นชาวดอยไร่กาแฟ

กาแฟการเปลี่ยนใจชาวบ้านให้เลิกปลูกฝิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านที่ไหนจะมาฟังชาวต่างชาติพูดกัน

กาแฟรสชาติดีกลมกล่อม ส่วนสำคัญเกิดจากแหล่งเพาะปลูกที่ดี ซึ่งมักจะอยู่ตามยอดดอยสูงๆ เหมือนที่ฉันกำลังยืนอยู่ ณ ตอนนี้…

นายฝรั่งเล่าให้ฟังด้วยสายตาเป็นมิตรว่า แต่ก่อนพื้นที่นี้ไม่ได้ปลูกเมล็ดเชอร์รี่ที่จะนำไปทำกาแฟเหมือนอย่างที่เห็น แต่ชาวบ้าน ชาวเขานิยมปลูกฝิ่นกัน ถ้ายังจำเรื่องดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ที่มีไทย พม่า ลาว กันได้ พื้นที่ทางภาคเหนือของไทยเรานับว่าเป็นแหล่งปลูกฝิ่นขนาดใหญ่เลยทีเดียว ผลที่ตามมา ชาวบ้านติดฝิ่นจำนวนมาก หัวหน้าครอบครัวบางคนติดฝิ่นจนทำงานไม่ได้ ลูกๆ ต้องหยุดเรียนกะทันหัน ออกมาทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวแทน เด็กเสียโอกาส เสียความรู้ และถ้าหากปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่

กาแฟ‘การซื้อใจ เพื่อให้ได้ใจชาวบ้าน’ จึงเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่อาจารย์ไมค์ต้องต่อสู้และอดทน เพื่อให้ชาวบ้านเปลี่ยนใจหันมาปลูกพืชอย่างอื่นแทนการปลูกฝิ่น ชาวบ้านเดินเท้าขึ้นลงเขาอย่างไร อาจารย์ไมค์เดินด้วย ชาวบ้านกินอะไร อาจารย์ไมค์กินด้วย อย่างที่เขาว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ภารกิจนี้อาจารย์ไมค์ได้ใช้เวลานานถึง 8 ปีกันเลย

ความโชคดีคือ ทางโครงการหลวงและสหประชาชาติ (UN) ได้เข้ามาร่วมช่วยด้วย ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนมาปลูกกาแฟ กะหล่ำปลี และสตรอเบอร์รี่แทนการปลูกฝิ่น ชาวบ้านไม่ขาดรายได้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญได้ก่อความสุขขึ้นในใจแก่นายฝรั่งคนนี้

กาแฟฉันและเพื่อนร่วมทริปสะพายย่าม เดินเข้าไปในป่าใหญ่ จัดการหมุนแล้วบิดเมล็ดเชอร์รี่สีแดงจากต้นใส่ลงในย่าม ความรู้สึกตอนนั้นสงบเหมือนได้หลุดไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งจะมีโอกาสได้มาสัมผัสกับคนที่มีใจทุ่มเททำเพื่อความสุขของคนอื่นได้มากขนาดนี้…

หลังจากที่เราเก็บเมล็ดเชอร์รี่สีแดงมาเต็มย่ามแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การคัดแยกเมล็ดเสียออก พวกเราเคลื่อนตัวออกจากไร่กาแฟ และมุ่งไปยังแหล่งคัดแยกเมล็ดกาแฟต่อ

เรานำเมล็ดเชอร์รี่ทั้งหมดที่เก็บมาไปแช่น้ำ เมล็ดเสียจะลอยขึ้นมา อาจจะนำไปทำกาแฟต่อก็ได้ แต่จะได้เกรดกาแฟที่ต่ำลง คนเลยไม่นิยมสักเท่าไหร่ จากนั้นนำเมล็ดดีใส่ไปในเครื่องแยกเมล็ดกาแฟต่อ

coffee_10เครื่องจะแยกเปลือกออก แต่ยังเหลือเยื่อหุ้มเมล็ดที่มีลักษณะเหนียวคล้ายน้ำผึ้งติดมาด้วย ตรงจุดนี้สำคัญเหมือนกัน เพราะเมื่อเรานำเมล็ดเหล่านี้ส่งต่อไปหมักที่โรงหมักเมล็ดกาแฟ ซึ่งใช้เวลาหมัก 18-48 ชั่วโมง เยื่อหุ้มเมล็ดจะหลุดออกมา ตรงจุดนี้จะช่วยดึงกลิ่น และรสชาติที่สดชื่นของเมล็ดกาแฟ นำไปสู่ขั้นตอนการส่งออกเพื่อทำกาแฟต่อไป

กาแฟไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า กาแฟแก้วหนึ่งที่คนดื่มกันนั้น มีขั้นตอนการเดินทางที่ยาวนานและมีรายละเอียดมากขนาดนี้ กว่าจะปลูกเมล็ดเชอร์รี่ เก็บ คัด แยก หมัก มาเป็นเมล็ดกาแฟเพื่อนำไปทำกาแฟต่อ บางทีถ้าเจออุปสรรคอย่างสภาพอากาศ ฝนตกเข้าหน่อย การทำงานก็จำเป็นต้องยืดเวลาออกไปอีก

กาแฟนี่เป็นคืนสุดท้ายที่จะได้นอนที่นี่ พวกเรารับประทานอาหารร่วมกัน แล้วมาจัดแจงโต๊ะเก้าอี้นั่งล้อมรอบกองไฟ เพื่อรับไออุ่นบรรเทาความหนาวให้น้อยลง ที่น่ายกนิ้วโป้งให้งามๆ เลยคือ แก๊งเด็กชาวดอยที่ได้เตรียมการแสดงมาให้พวกเราชม ดูชุดที่น้องๆ ใส่แล้ว หนาวสะท้านแทนเลยจริงๆ ทิ้งทวนสั่งลาค่ำคืนนี้ด้วยการลอยโคมครั้งแรกในชีวิต มองโคมที่ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าเรื่อยๆ ดูแล้วไม่ต่างอะไรจากดาวหลายดวงบนท้องฟ้าเลย

ก่อนโบกมือลาอากาศเย็นที่เชียงใหม่ในวันสุดท้าย

ฉันแยกกับเพื่อนร่วมทริปชาวต่างชาติที่โรงหมักเมล็ดกาแฟ เพราะพวกเขามีแพลนเที่ยวต่อในตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนฉันก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ

coffee_12ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน ฉันได้รับพลังใจในการทำงานหลายอย่างกลับมา โดยเฉพาะบทสนทนาในค่ำคืนที่สอง ที่ทุกคนได้นั่งพูดคุยกับอาจารย์ไมค์ยาวนานเป็นพิเศษ พวกเราถามอาจารย์ไมค์ไปว่า เคยอยากจะหยุดทำงานตรงนี้ไหม เพราะดูแล้ว อาจารย์ไมค์สามารถไปทำงานที่สบายกว่านี้ได้ ไม่ต้องมาลำบากขึ้นลงเขาคดเคี้ยวหลายกิโลแบบนี้ แกยิ้มในตาก่อนตอบเรามาว่า

ภรรยาของเขาเคยถามเหมือนกัน เขาตอบภรรยาไปว่า ถ้าหากเช้าวันหนึ่งเขาตื่นมาทำงานโดยไร้ความสุขเมื่อไหร่ เขาจะหยุดทันที แต่ตอนนี้เขายังมีความสุขอยู่ รอยยิ้มของชาวบ้าน ชาวเขา ทำให้เขาหายเหนื่อย และเขาคิดว่า งานตรงนี้สบายที่สุดสำหรับเขาแล้ว

กาแฟ

ระหว่างนั่งมองท้องฟ้ายามค่ำคืนผ่านหน้าต่างบนเครื่องบิน ฉันได้คิดทบทวนเหตุการณ์หลายอย่าง ชีวิตคนเราก็ต้องการความสุขแค่นี้แหละ …สุขในการใช้ชีวิต สุขกับงานที่เรารัก สุขที่อยู่กับครอบครัว คนรัก เพื่อน พี่ น้อง

การได้ทำงานที่ตัวเองรักนับว่า เป็นความโชคดี และถ้าเราสามารถส่งต่อความสุขจากงานที่รักไปยังคนอื่นได้ เหมือนอาจารย์ไมค์ ชายแคลิฟอร์เนียคนนี้ นั่นก็คงเป็นความสุขที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น

92

กลับกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ฉันขอให้ตัวฉันเติบโตแข็งแกร่ง สู้กับงานได้ดียิ่งขึ้นด้วยเถอะ…

เรื่อง : Gingyawee_แพรวดอทคอม
ภาพ : Gingyawee, STARBUCKS TEAM

*ขอบคุณทุกคน ทุกความทรงจำจากใจจริงๆ ค่ะ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up