โค้งสุดท้าย !!! ไปแก้ชง ไหว้พระรับความเฮงที่วัดโพธิ์แมนฯ

บรรยากาศคึกคักของช่วงเทศกาลตรุษจีนกำลังจะผ่านไปแล้ว  ถ้าใครยังวุ่นอยู่กับภารกิจต่างๆ ไม่มีเวลาไปไหว้เจ้าแก้ชงหรือขอพรเสริมสิริมงคล  ขอบอกว่า ยังมีเวลา….เพราะทางวัดจีนต่างๆ  เขากำหนดช่วงวันไหว้เจ้า พร้อมทำพิธีแก้ชง และ “พะเก่ง” ต้อนรับปีใหม่ ไปถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

โค้งสุดท้ายนี้  จึงขอแนะนำวัดจีนที่น่าสนใจอีกแห่ง  นอกจากไปทำพิธีไหว้แล้ว ยังได้เที่ยวชมศิลปะของวัดอีกด้วย  แถมอาณาเขตของวัดก็กว้างขวางพอควร นั่นคือ  “วัดโพธิ์แมน” หรือชื่อเต็มว่า “วัดโพธิ์แมนคุณาราม

2.วิหารวัดโพธิ์แมน

  วัดโพธิ์แมนคุณาราม 

“วัดโพธิ์แมน” ตั้งอยู่ในซอยสาธุประดิษฐ์ 19 เขตสาทร กรุงเทพฯ วัดนี้ไม่ใช่วัดจีนธรรมดา แต่เป็นวัดจีนที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปะจีน-ไทย-ทิเบต อย่างลงตัว ไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ ที่วัดจีนแห่งอื่นๆ  วัดนี้มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า “โพวมึ้งป่ออึงยี่   เป็นวัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างขึ้นปี พ.ศ.2502 โดยผู้สร้างวัดนี้ คือ “พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ)” อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้นำสร้าง พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ศรัทธาต่างร่วมมือกันสร้างด้วย ถึงวันนี้ อายุของวัดก็นานเกือบ 60 ปี แล้ว

3.พระศรีอาริยเมตตไรย์

พระศรีอาริยเมตไตรย์โพธิสัตว์ ภายในวิหารด้านหน้า

4.พระสกันทะโพธิสัตว์

พระสกันธะโพธิสัตว์

ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมวัดโพธิ์แมนคุณารามนี้ เป็นพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) เป็นผู้ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดด้วยตัวของท่านเอง

หากมาถึงวัดแล้ว จะเห็นถึงความโดดเด่นของศิลปะแบบวัดจีน เริ่มจาก “วิหารหน้า” ซึ่งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ด้านหน้าวิหารมีจารึกอักขระภาษาธิเบต  ภายในประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ ซึ่งทางวัดจัดเป็นที่สำหรับผู้ที่เกิดปีนักษัตร 4 ปีที่ชงกับปีวอกนี้ทำพิธีแก้ชงต่อหน้าพระองค์ท่าน ได้แก่ ผู้ที่เกิดปีขาล  วอก  มะเส็ง และกุน  และด้านหลังของพระศรีอาริยเมตไตรย์ฯ เป็นที่ประดิษฐานของพระสกันทะโพธิสัตว์

ภายในวิหารทั้ง 4 มุม มีท้าวจตุโลกบาลประจำอยู่ ซึ่งท้าวจตุโลกบาลนี้ เป็นมหาเทพผู้รักษาโลกและพระพุทธศาสนา ซึ่งวัดพุทธในประเทศจีนนิยมสร้างไว้ในวิหาร และทางวัดโพธิ์แมนได้กำหนดเป็นจุดสำหรับผู้ที่เกิดปีนักษัตรต่างๆมาสักการะขอพรด้วย

5.ท้าวธตรัฐมหาราช

ท้าวธตรฐมหาราช

6.ท้าววิรุฬหกมหาราช

ท้าววิรุฬหกมหาราช

7.ท้าววิรุฬห์ปักข์มหาราช

ท้าววิรุฬปักข์มหาราช

8.ท้าวกุเวรมหาราช

ท้าวเวสสุวัณมหาราช

ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4  ได้แก่ ท้าวธตรฐมหาราช หรือธฤตราษฎระ (ถี่กกเทียงอ้วง) ทรงเครื่องทรงแบบขุนพลจีนโบราณ รูปกายสีแดง มือถือพิณ เป็นที่สักการะของผู้ที่เกิดปีเถาะและมะโรง  ท้าววิรุฬหกมหาราช หรือวิรูธกะ (เจงเชียงเทียงอ้วง) มีรูปกายสีขาว ถือร่ม เป็นที่สักการะของผู้ที่เกิดปีมะเมียและมะแม องค์ถัดมาคือ ท้าววิรุฬปักข์มหาราช หรือวิรูปากษะ (ก่วงมักเทียงอ้วง)  มีรูปกายสีดำ ถือกระบี่และงู  เป็นที่สักการะของผู้ที่เกิดปีระกา จอ และองค์สุดท้ายคือท้าวเวสสุวัณ (กุเวร) มหาราช หรือไวศรวณะ (ตอบุ๋งเทียงอ้วง) มีรูปกายสีเขียว ถือเจดีย์ไว้ในมือข้างหนึ่ง เป็นที่สักการะของผู้ที่เกิดปีชวดและฉลู

หลังจากสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิหารหน้ากันแล้ว  ขอแนะนำให้เดินผ่านเข้าไปยัง “พระอุโบสถ” ของวัดโพธิ์แมน ชมบรรยากาศด้านนอกของอุโบสถที่เป็นศิลปะแบบจีนกันก่อน

9.พระอุโบสถ

พระอุโบสถวัดโพธิ์แมน

ด้านบนหลังคาโบสถ์เป็นหลังคาสามชั้นลดหลั่นกัน โดยบนหลังคาชั้นบนสุด มีเจดีย์ยอดฉัตร ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ด้านล่างลงมามีตราธรรมจักร และมีกวางตัวเล็กตัวน้อยยืนอยู่ตามจุดต่างๆ บนหลังคาโบสถ์ การมีตราธรรมจักรและกวางนี้เอง เป็นส่วนผสมของศิลปะแบบไทย เพราะจะไม่ค่อยเจอตราธรรมจักรและกวางในสถาปัตยกรรมแบบจีนนัก

อย่าลืมสังเกตพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร ที่โปรดเกล้าฯพระราชทาน  ประดิษฐานอยู่ที่หน้าบันของพระอุโบสถด้วย  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ทางวัด  เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธียกฉัตรเจดีย์พระอุโบสถ

10.พระพุทธวัชรโพธิคุณ

พระพุทธวัชรโพธิคุณ  พระประธานในพระอุโบสถ

ส่วนภายในพระอุโบสถนั้นก็งดงามไม่แพ้ด้านนอก หากเดินเข้ามาด้านใน ก็จะพบกับ “พระพุทธวัชรโพธิคุณ” พระประธานองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทา พระประธานองคืนี้สีทองอร่าม ด้านข้ามเป็นเสาสีแดงสด มีมังกรสีทองพันตัวรอบเสาสวยงาม ถ้ามองขึ้นไปด้านบนหลังคาจะเห็นหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ประดิษฐานอยู่

11.ภาพอรหันต์ 500 รุป

อรหันต์ 500 รูปที่ทำจากโมเสค

ส่วนผนังด้านข้างของอุโบสถทั้งสองด้าน ประดับตกแต่งด้วยโมเสคเป็นรูปพระอรหันต์ 500 รูป สีสันสดใสสวยงาม

12.พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

13.พระกษิดิครรภโพธิสัตว์

พระกษิติครรภโพธิสัตว์

ขึ้นชื่อว่า เป็นวัดจีนแล้ว ก็ต้องมีเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวจีนเคารพนับถือ ซึ่งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งอย่าลืมไปแวะสักการะ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์

14.เจ้าคุณโพธิ์แจ้ง

เจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม

นอกจากนั้น ศาลาด้านหลังยังมีสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม และผู้ออกแบบวัดดังที่กล่าวไปแล้ว ให้สักการะด้วย

ประวัติของท่านนั้น ท่านเป็นชาวจีน เกิดเมื่อ พ.ศ.2444 ที่เมืองเก๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง เมื่อบวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์แล้ว ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม  รวมทั้งเรียนรู้พระธรรมจากพระอาจารย์หลายท่าน จนนับได้ว่าเป็นปราชญ์และเป็นพระมหาเถระผู้มีเมตตาธรรมต่อประชาชนทั่วไป

ตลอดเวลาที่ท่านเป็นพระสงฆ์อยู่ในประเทศไทย ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ถึง 7 ครั้ง ซึ่งในอดีตยังไม่เคยปรากฏว่า มีพระสงฆ์จีนนิกายรูปใดที่ได้รับเกียรติสูงเช่นนี้ โดยสมณศักดิ์สูงสุดของท่าน คือ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ นั่นเอง

15อาคารหลังใหญ่ด้านนอกพระวิหาร
อาคารหลังใหญ่ ด้านนอกก่อนเข้าภายในวิหาร เป็นที่สำหรับทำพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษที่ญาติมิตรนำป้ายชื่อหรือโถบรรจุอัฐิมาฝากไว้กับทางวัด

อยากบอกว่า ถ้ามาไหว้พระทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองแล้ว ยังได้ชมศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่าง จีน-ไทย-ทิเบต ที่หาชมได้ยากกันในวัดแห่งนี้ด้วย เป็นการมาทำบุญที่อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มบุญ และอิ่มตาจริงๆ

การเดินทางไปวัดโพธิ์แมนคุณาราม  สามารถเข้าทางถ.สาธุประดิษฐ์ ซอย 19 หรือเข้ามาทางซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 ก็ได้ วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. สอบถามโทร.0-2211-7885, 0-2211-2363 www.pumenbaoensi.com

เรื่องและภาพ : ชวัลณัฏฐ

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up