MIRACULOUS MACHU PICCHU

“คงไม่มีที่ไหนในโลกจะเหมือนกับที่นี่อีกแล้ว ใต้หมู่เมฆที่อยู่เบื้องหน้าผม คือผาหินแกรนิตสูงชัน ผาสูงเสียดฟ้าหลายพันฟุตลอยฟ่องกลางละอองเมฆที่ปลิวอยู่ในอากาศ ที่เมื่อถูกทาบด้วยแสงแดดระยิบระยับ ราวกับว่าผืนป่าแห่งนี้ช่างมีเวทมนตร์เหลือเกิน”

แค่ถ้อยคำบางส่วนจากบทบันทึกของนักสำรวจอย่างฮิแรมบิงแฮม ตอนที่เขาค้นพบนครที่สาบสูญของชาวอินคาอย่างมาชูปิกชู (Machu Picchu) ก็กระตุกให้นั่งไม่ติดนั่นเป็นความรู้สึกเมื่อ 8 ปีก่อนที่ฉันกระเตงเป้ขึ้นหลังแล้วเหาะไปถึงเมืองคุสโก (Cusco) ประเทศเปรู

 

800-1

วิถีที่แปรเปลี่ยน

แต่การเดินทางสู่เปรูเที่ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป นอกจากตัวเลขอายุและน้ำหนักจะควบไปข้างหน้า ร่องรอยของตีนกาที่เปรอะเปื้อนบนใบหน้าก็มากขึ้นด้วย

จากวิถีการเที่ยวแบบแบ็กแพ็คเกอร์จึงต้องเปลี่ยนเป็นแฟลชแพ็คเกอร์ เพื่อถนอมแผ่นหลังและสังขารเอาไว้เดินทางท่องโลกต่อไปและสิ่งที่ฉันค่อนข้างไม่แน่ใจตัวเองคือ ระดับความตื่นเต้นตอนสบตากับมาชูปิกชูจะลดลงหรือไม่

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม…ฉันหวังว่าการได้พบปะกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในคราวนี้จะไม่ฉาบฉวยเหมือนเที่ยวก่อน เพราะยามนั้นอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจากการถูกโจมตีด้วยโรคแพ้ความดันอากาศในที่สูง (Altitude Sickness) ยังไม่ทุเลาดีอาการเมาอากาศยังรุงรังอยู่ในหัวทำให้การทำความรู้จักกับมาชูปิกชูยังไม่แน่นเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เที่ยวนี้ฉันจึงเตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งอัดน้ำ กินยา และจิบโคคาที (Coca Tea) เป็นระยะ

ไม่มีเรือนพักแห่งไหนในเมืองคุสโกไม่เตรียมโคคาทีไว้รับขวัญนักเดินทาง คนที่นี่พูดกรอกหูว่าเจ้าชาตัวนี้นี่ละที่จะช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่บนเมืองที่ทอดตัวอยู่บนระดับความสูงเกิน 3,400 เมตรจากระดับทะเล เที่ยวนี้ฉันปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่อย่างเดียว เพราะบทเรียนจากการแหกกฎครั้งที่แล้วทำให้ฉันถูกโรคเมาอากาศเล่นงานจนปางตาย

4

วันแรกที่ไปถึงเรือนพัก ฉันพยายามอ้อยอิ่งทำอะไรช้า ๆ หายใจลึก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ จิบโคคาทีเป็นระยะ แค่ครึ่งวัน รู้สึกราวกับว่าปอดขยายใหญ่เหมือนลูกหลานชาวอินคาไปแล้ว

ฉันเดินช้า ๆ ไปนั่งผึ่งอากาศอยู่บนเก้าอี้ริมจัตุรัสประจำเมืองถึงได้รู้ว่าคุสโกนั้นเนื้อหอมยิ่งกว่าเดิม หรือคงจะเป็นเพราะหลังจากที่มาชูปิกชูถูกโหวตให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก หัวบันไดของคุซโกจึงแทบไม่เคยแห้ง เพราะใคร ๆ ก็มาตั้งหลักกันที่นี่

ถึงจะหัวบันไดไม่แห้ง แต่การจะเข้าถึงเนื้อถึงตัวก็ยังยากเหมือนเดิม มาชูปิกชูยังไว้ตัวให้เลอค่าเสมอ เพราะถนนไม่ได้เนรมิตขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าหาได้ง่ายขึ้น จึงมีทางเลือกอยู่ 2 ทางที่ทุกคนจะไปหามาชูปิกชู คือ ถ้าไม่นั่งรถไฟก็เดินเท้าบนเขา ระหว่างอินคาเทรลกับอินคาเทรน เงื่อนไขเรื่องเวลาและสังขารบีบให้ฉันเลือกรถไฟโดยไม่มีทางปัดป่าย

วันนี้ที่เปลี่ยนไป

จากเมื่อ 8 ปีก่อน นั่งรถไฟราคาประหยัดไป – กลับในวันเดียวแค่ราว 2,000 กว่าบาท แต่ตอนนี้จะนั่งรถไฟไปหาสิ่งมหัศจรรย์ของโลกต้องควักเงินเกือบ 5,000 บาท ที่จริงต้องพูดว่า ต่อให้ราคาถูกกระชากขึ้นไปแพงกว่านี้ก็ต้องไป เพราะทุกวันนี้ตั๋วรถไฟจากคุสโกไปหามาชูปิกชูแต่ละวันนั้น หายากจนน่าวิงเวียน ทางที่ดีใครจะไปต้องจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ เป็นดีที่สุด

คงเหมือนเที่ยวนี้ หลังจากให้แทรเวลเอเย่นต์ควานหาตั๋วอยู่พักใหญ่ จึงได้ความว่าระยะ 3 – 4 วันที่ฉันอยู่ในคุสโก ไม่มีตั๋วจากคุสโกไปมาชูปิกชูเหลือเลย แต่ขากลับไม่เป็นปัญหา ทางแก้ที่ทำได้คือต้องนั่งรถยนต์ไปขึ้นรถไฟที่เมืองโอยันไตย์ตัมโบ (Ollantaytambo) เมืองที่เป็นจุดสิ้นสุดของถนน

ไม่มีเวลาให้โยกโย้มากนักขืนลังเล แม้แต่ตั๋วรถไฟจากโอยันไตย์ตัมโบไปมาชูปิกชูก็อาจจะไม่มีฉันจึงปลงใจตื่นตีสามในวันรุ่งขึ้นเพื่อนั่งรถมุ่งหน้าไปสถานีรถไฟประจำเมืองโอยันไตย์ตัมโบให้ทันรถไฟเที่ยวหกโมงครึ่ง

รถไฟวิ่งคดเคี้ยวเลาะแม่น้ำอูรูบัมบา
รถไฟวิ่งคดเคี้ยวเลาะแม่น้ำอูรูบัมบา

เส้นทางจากโอยันไตย์ตัมโบไปมาชูปิกชูนั้น ขาไปถ้านั่งด้านซ้ายจะได้ละเลียดวิวเลียบฝั่งแม่น้ำอูรูบัมบาแต่ถ้านั่งฝั่งขวาก็มีภูเขาหิมะโผล่มาทักทายผู้โดยสารเป็นระยะ เมื่อหักลบกลบวิวตามรายทาง จึงพอทำใจได้กับค่ารถไฟที่แพงสะบัด เป็นการโคลงเคลงบนรถไฟอย่างใจจดใจจ่อราวกับว่าเข็มสั้นและเข็มยาวเคลื่อนไปช้ากว่าปกติ การลัดเลาะไปตามแม่น้ำอูรูบัมบาอันเชี่ยวกรากนั้นงดงามจนน่าจะเป็นเส้นทางที่ถูกจัดเรตติ้งว่ามีคุณค่าเท่าวิตามินเอ

ฮิแรม บิงแฮม ก็ใช้เส้นทางนี้เหมือนนักท่องเที่ยวในยุคสมัยนี้ ต่างกันที่เขาเดินลัดเลาะไปตามลำน้ำอูรูบัมบา เพื่อพาตัวเองให้ถลำลึกเข้าสู่ที่มั่นอันเร้นลับของชาวอินคา

ความจริงบิงแฮมตั้งใจจะตามหาเมืองเมืองหนึ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรอินคา ซึ่งตอนนั้นบิงแฮมเองก็ไม่มั่นใจว่าเมืองนี้มีตัวตนและมีหลักแหล่งจริงหรือเปล่า

เขาไม่รู้หรอกว่าการเดินทางครั้งนั้นเป็นครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เขาได้สร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเองด้วยการค้นพบมาชูปิกชู นครที่เคยสูญหายไปจากแผนที่โลก

ม้าเหล็กยังคงแล่นไหลไปตามโค้งและหุบผาเลียบลำน้ำ 8 โมงกว่าโดยประมาณ รถไฟค่อย ๆ เคลื่อนเข้าเทียบชานชาลาของสถานีเมืองอควาส์กาเลียนเตส์ (Aguas Calientes) อันเป็นสถานีปลายทาง มาถึงจุดนี้ประสบการณ์จากการเดินทางครั้งก่อน ทำให้รู้ว่าอย่ามัวโอ้เอ้เป็นอันขาด

3

เพราะจากสถานีรถไฟยังต้องต่อรถบัสขึ้นไปบนมาชูปิกชูอีกราว 20 นาทีปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าลงรถไฟแล้วได้ขึ้นรถบัสเลยคงไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือ พอลงจากรถไฟ ทุกคนจะเจอคลื่นนักท่องเที่ยวที่พูดได้คำเดียวว่า หัวลำโพงชิดซ้าย เอกมัยชิดขวาไปเลย เพราะผู้โดยสารจากรถไฟไม่รู้กี่โบกี้พากันไหลทะลักไปขึ้นรถบัสที่รอรับอยู่

นี่ขนาดไม่อ้อยอิ่งยังพบว่าเมื่อเดินไปถึงจุดขึ้นรถบัส คิวยาวเหยียดประมาณกิโลเมตรกว่าเห็นจะได้ ซึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน ต่อให้มีคิวขึ้นรถบัสก็ไม่เลื้อยยาวขนาดนี้ นี่ยาวชนิดที่ว่าไม่ต้องทำอะไร นอกจากทำใจอย่างเดียว

ระหว่างต่อคิว ฉันจึงถามไถ่คนท้องถิ่นได้ความว่า หลังจากมาชูปิกชูได้รับการโหวตให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก กองทัพนักท่องโลกก็พากันแห่แหนมาที่นี่ จนต้องมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมในแต่ละวันว่าต้องไม่เกิน 3,000 คน โดยในจำนวนนี้มีโควตาของนักท่องเที่ยวที่มาทางรถไฟ 2,500 คน และโควตานักท่องเที่ยวที่เดินเขาขึ้นมาอีก 500 คน

“แต่จริง ๆ แล้วก็เห็นเกินทุกวัน ยิ่งเป็นช่วงพีคแบบนี้ วันนี้ต้องมีถึง 5,000 คนแน่” ไกด์ท้องถิ่นคนหนึ่งสาธยายให้ฟังตอนยืนต่อคิวเขาว่าทุกวันนี้ยังงงอยู่ว่า ตั๋วเข้ามาชูปิกชูที่ขายเกินอีกพันกว่าใบมาจากไหนกันแน่

2

ถึงผู้คนจะล้นหลาม แต่ด้วยการจัดการที่เป็นเลิศ ยืนไม่ถึงชั่วโมงก็ได้ขึ้นรถบัส เป็นระยะเวลา 20 นาทีที่พูดเลยว่าทั้งเสียวทั้งลุ้น เพราะระยะทาง 8 กิโลเมตรนั้นทั้งแคบและชัน แต่จัดว่าเป็นเส้นทางที่สวยที่สุดเส้นทางหนึ่งก็ว่าได้ ฝ่ายเราก็นั่งเสียวไปตลอดทาง ฝั่งโชเฟอร์รถบัสก็ซิ่งไม่สนเหว เหยียบคันเร่งไม่เกรงใจยมบาล ต้องเร่งทำเวลา เพราะยังมีประชากรยืนต่อคิวขึ้นบัสยาวเหยียดแบบนี้ทั้งวัน

ผละจากบัสได้ก็ต้องมาผจญกับคลื่นมหาชนตรงปากทางเข้าอีกแถมตรงนี้วุ่นพิลึก ไม่มีการต่อคิวอะไรทั้งสิ้น มีแต่นักท่องโลกผู้กระหายใคร่เห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยืนเบียดกันอย่างแออัด ต่างจากเที่ยวก่อนอย่างสิ้นเชิง ที่จะไปมุมไหนก็ยืนสบาย ๆ ไม่ต้องต่อคิว แต่เที่ยวนี้แค่จะหาที่ยืนยังยาก จึงต้องปล่อยให้คลื่นคนค่อย ๆ นำพาไปหาคนเก็บตั๋ว

ความจริงใครที่ดุ่ม ๆ มาแบบไม่จองตั๋วล่วงหน้ามาก่อน เจ้าหน้าที่จะมาคัดออก ตั้งแต่ยืนรอขึ้นรถบัสแล้ว ที่คิดว่าจะมาซื้อตั๋วตรงหน้าปากทางเข้าแทบหมดโอกาส ดังนั้นจะให้ชัวร์จองตั๋วล่วงหน้ามาก่อนเป็นอันว่าปลอดภัย ได้เข้าชมแน่ๆ

คุสโกยามค่ำคืน
คุสโกยามค่ำคืน

ถึงเสียที…มาชูปิกชู

ฉันกำตั๋วแน่นยืนเบียดกับคลื่นคนที่ผึ่งแดดเปรูอันร้อนแรง อาการปั่นป่วนมวนท้องเกิดขึ้นอย่างประหลาด เหมือนมีก้อนประหลาดทางอารมณ์เคลื่อนตัวอยู่ในท้อง ทั้งที่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จะได้สบตากับมาชูปิกชู แต่อาการตื่นเต้นค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เมื่อค่อย ๆขยับตัวเข้าใกล้สิ่งมหัศจรรย์

เมื่อพ้นประตูทางเข้าอันแสนชุลมุนได้ นครที่สาบสูญของชาวอินคาก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า เมืองที่ซ่อนอยู่ในยอดเขาสูงเสียดฟ้า มหัศจรรย์ราวกับอยู่บนโลกอีกใบ ป้อมปราการและอาคารหินมหึมาเรียงรายอยู่บนสันกิ่วฉากหลังเป็นยอดเขาสูงทรงพีระมิด

หลังจากเดินไต่สันเขาขึ้นมาในวันฝนพรำ เมื่อแรกเห็นมาชูปิกชูบิงแฮมเรียกที่นี่ว่า “บ้านของหินแกรนิตที่ตระหง่านงาม”

ชีวิตที่ป้วนเปี้ยนอยู่ท่ามกลางยอดเขาสูงทรงพีระมิดที่เป็นฉากหลังของเมืองโบราณ ฉันสัมผัสได้ถึงความสวย สงบ สง่า ที่ผสานเป็นหนึ่งเดียว จนลืมไปเลยว่ากำลังยืนพ่นหายใจบนความสูงกว่า 2,400 เมตร

ตามตำนานคะเนกันว่า ชาวอินคาน่าจะสร้างนครแห่งนี้เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 คาดว่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่กันราวพันคน บ้างก็ว่า สร้างเพื่อเป็นที่อาศัยของหญิงพรหมจารีที่ปฏิบัติศาสนกิจถวายสุริยเทพ เรื่องนี้นักโบราณคดีในยุคปัจจุบันสันนิษฐานว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นพระราชวังฤดูหนาวของกษัตริย์มากกว่า หรือไม่ก็ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และลี้ลับ

มุมสวยๆ ที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูลึกลับ
มุมสวยๆ ที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูลึกลับ

เคยมีนักโบราณคดีเดินทางมาสำรวจ สิ่งที่พวกเขาพบนอกจากเครื่องสำริดและเครื่องมือหินยังมีโครงกระดูกคน ที่เกือบทั้งหมดเป็นโครงกระดูกของผู้หญิง จึงมีการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่ประทับของกษัตริย์ ส่วนซากที่เห็นเป็นพวกนางสนมและนางสนองที่ขึ้นมารับใช้

ในวันที่บิงแฮมได้เจอกับมาชูปิกชูครั้งแรกนครลับแลถูกปกคลุมไว้ด้วยวัชพืช เฟิร์น และกล้วยไม้จนเกือบมิด แต่เขาก็ยังสังเกตเห็นฝีมือการก่อสร้างอันประณีตที่ประทับไว้ในเมืองร้างได้ในสายตาของเขายามนั้น ราวกับว่ามันเป็นผืนป่าที่มีเวทมนตร์ แม้ยุคนั้นไม่มีจีพีเอสและกล้องดิจิทัล แต่บิงแฮมบันทึกภาพเมืองรกร้างกลางผาสูงเสียดฟ้าที่ลอยฟ่องอยู่กลางละอองหมอกเอาไว้ และร่างแผนที่อย่างคร่าว ๆหลังจากเขาเดินสำรวจจนทั่วบริเวณนครสาบสูญ ทำให้เขาเริ่มมั่นใจว่าที่นี่คงเป็นเมืองที่มั่นสุดท้ายของชาวอินคา น่าแปลกก็ตรงที่ไม่มีร่องรอยการถูกทำลายให้บิงแฮมเห็นสิ่งที่เหลือไว้ให้ดูต่างหน้าเป็นเพียงแค่การผุพังและเสื่อมโทรมตามกาลเวลา

เมื่อเขากลับมาที่นี่อีกครั้งในปีถัดมาก็ลงมือหักร้างถางป่าและขุดค้นจนพบสิ่งก่อสร้างที่เป็นรูปจัตุรัสซ้อนกันหลายชั้น เหล่านี้คือโรงอาบน้ำลานกว้าง ท่อส่งน้ำ บ้านเรือน โรงครัว อาคารและหมู่วิหารกว่าร้อยหลัง ที่ล้วนสร้างขึ้นด้วยหินแกรนิตก้อนมหึมากว่าแสนก้อน แต่ไม่มีร่องรอยการโบกปูนตอกนอตหรือตะปูสักตัวเอาไว้ยึดเหนี่ยวหิน

ลามะ นางแบบประจำมาชูปิกชู
ลามะ นางแบบประจำมาชูปิกชู

หินแต่ละก้อนไม่เท่ากัน แต่รูปร่างที่เอียงหรือขนาดที่ไม่เท่ากันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ตรงกันข้าม หินขนาดใหญ่เหล่านี้ถูกจับมาต่อจิ๊กซอว์กันอย่างเข้าที่เข้าทาง

ถนน อนุสาวรีย์ วิหาร บ้านเรือนที่เรียงรายเป็นระเบียบสวยงามซากปรักหักพังของป้อมปราการในมาชูปิกชูที่หลงเหลืออยู่ เต็มไปด้วยร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและเทคนิค วิทยายุทธ์การก่อสร้างระดับสูง ทั้งที่ไม่มีชาวอินคายุคนั้นเป็นเด็กสถาปัตย์สักคน

ไม่เพียงเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ในเชิงวิศวกรรมมาชูปิกชูยังถูกยกว่าเป็นความสำเร็จทางด้านวิศวกรรม เพราะแม้จะเป็นพื้นที่บนสันกิ่วแคบ ๆ แต่ออกแบบใช้สอยอย่างชาญฉลาด ภายในเขตกำแพงเมืองมีอาคารและวิหารนับร้อยหลัง ทั้งหมดล้วนก่อด้วยหินหินบางก้อนใหญ่จนนึกภาพไม่ออกว่าถูกชักลากและลำเลียงขึ้นมาได้อย่างไรและถูกขัดสีฉวีวรรณเสียเรียบ ก่อนจะนำมาเรียงเข้ามุมกันอย่างแนบสนิท อย่าว่าแต่เข็มหรือมีดเลย ขนาดพวกมดแมลงตัวจิ๋วเห็นแล้วยังเซ็งที่ลอดผ่านไปไม่ได้

ลักษณะการเรียงหินที่แตกต่างกันเป็นการช่วยแยกแยะชนชั้น เช่น ด้านไหนเป็นโรงเรือนที่พักอาศัยของคนรับใช้หรือคนธรรมดาจะสร้างด้วยหินหยาบและตั้งอยู่ต่ำลงมา ส่วนด้านไหนเป็นของเจ้านายชั้นปกครอง หินจะถูกเรียงไว้อย่างประณีตและโดยมากจะอยู่ในที่สูง นั่นทำให้รู้ว่าสังคมของชาวอินคาที่นี่มีชนชั้น มีนักบวช ขุนนาง และคนธรรมดา

ทางเดินที่ค่อยๆ ปีนป่ายขึ้นไปหามุมสูง
ทางเดินที่ค่อยๆ ปีนป่ายขึ้นไปหามุมสูง

สิ่งที่ฉันสงสัยอยู่อย่างเดียวคือ นครแห่งนี้เล็ดลอดสายตานักล่าอย่างสเปนไปได้อย่างไร ทั้งที่พวกสเปนรู้ว่ามีเมืองนี้อยู่ แต่ค้นหาเท่าไรก็ไม่เจอเมืองนี้สักที แต่ยิ่งเร้นลับ ยิ่งเป็นปริศนาที่ไม่ได้ถูกคลี่คลายก็ดูเหมือนยิ่งกลายเป็นเสน่ห์ประจำตัวของเมืองร้างแห่งนี้ ให้ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้อยากเข้าใกล้มาชูปิกชู

จะว่าไปมาชูปิกชูก็คล้ายพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ถูกโมงยามซ่อนไว้อย่างมิดชิดมานาน เมื่อบิงแฮมคลี่ออกสู่สายตาคนทั่วโลก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงไม่เคยร้างราผู้คน

จำได้ว่าครั้งแรกฉันอยากนั่งทอดอารมณ์ซึมซับความรู้สึกเดียวกับที่บิงแฮมและเช กูวารา เคยมี แต่ถูกเข็มนาฬิกาผลักไสให้ออกจากอาณาเขตของมาชูปิกชู เที่ยวนี้จึงนั่งเอ้อระเหยและโต๋เต๋อย่างเต็มเหนี่ยว

ใต้แผ่นฟ้าแห่งอาณาจักรอินคา เหนือแผ่นดินที่อวลไปด้วยอากาศหนาวชื้น ฉันนั่งแกว่งขาบนระเบียงผา ทอดสายตามองมาชูปิกชูอย่างมีความสุข เพราะสำหรับฉัน มาชูปิกชูที่อยู่ตรงหน้าเป็นมากกว่าสิ่งมหัศจรรย์

TIPS

จากกรุงเทพฯไปเปรูสะดวกสุดบินด้วยสายการเคแอลเอ็ม บินไปตั้งหลักที่กรุงลิมาก่อน เพราะมีเที่ยวบินเข้าอเมริกาใต้ราว10 เมือง ใครจะเลือกบินเข้าจากประเทศหนึ่งและออกจากอีกประเทศหนึ่งก็ได้คลิกไปดูที่ www.klm.co.th

ถ้าไปอเมริกาใต้กับเคแอลเอ็ม ต้องแวะเมืองอัมสเตอร์ดัมเพื่อเปลี่ยนเครื่อง ซึ่งมีเที่ยวบินตรงทุกวัน ใครจะแวะเที่ยวอัมสเตอร์ดัมก่อนแล้วค่อยบินต่อไปอเมริกาใต้ก็ได้หรือใครจะบินเข้าด้วยเคแอลเอ็มและบินออกด้วยสายการบินแอร์ฟรานซ์ก็ได้เช่นกัน คลิกไปดูที่ www.airfrance.co.th

จากลิมาไปคุสโกมีเที่ยวบินวันละหลายเที่ยวและหลายสายการบิน ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง หรือจะนั่งรถประจำทางก็ได้คุสโกเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม มีที่พักให้เลือกหลากหลายระดับคลิกเข้าไปค้นหาใน www.expedia.co.th

ขอแนะนำให้พักที่โรงแรม Palacio del Inka เป็นโรงแรมสุดหรู เคยเป็นพระราชวังของชาวอินคามาก่อน นอกจากตกแต่งงดงามแล้วยังอยู่ในทำเลที่ดี ใจกลางเมืองเก่าไม่ไกลจากจัตุรัสประจำเมืองใกล้แหล่งท่องเที่ยวทุกจุดและสะดวกในการหาร้านอาหาร คลิกได้ที่ www.palaciodelinkahotel.com

คนไทยมาเที่ยวเปรูได้สบายไม่ต้องขอวีซ่า แถมใครอยากได้ข้อมูลเที่ยวเปรูแวะไปขอที่สถานทูตเปรูประจำประเทศไทยได้โทรศัพท์สอบถามที่ 0-2260-6243 หรือ www.peruthai.or.th

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับ 873 ปักษ์ที่  10 มกราคม  2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up