ความเหมือนที่แตกต่างของ “แม่พลอย สี่แผ่นดิน” และ “ล้ง 1919”

account_circle

หลายคนคุ้นหูกับวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” บทประพันธ์ชิ้นเอกของ  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านได้เรียงร้อยเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสยามประเทศ ผ่านตัวละครหลักอย่าง แม่พลอย และตัวละครอื่นๆ ซึ่งแต่ละตัวละคร เสมือนตัวแทนของคนในยุคสมัยนั้น จึงทำให้ สี่แผ่นดิน ถูกยกให้เป็นวรรณกรรม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกตีพิมพ์ สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที หลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งในแต่ละครั้งก็ได้รับคำนิยมชมชอบมากมาย และล่าสุด “สี่แผ่นดิน” ได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบละครเวที แต่ที่ดูแปลกและน่าตื่นเต้นกว่าทุกครั้ง คือ การกลับมาครั้งนี้ในรูปแบบ ละครเวทีกลางแจ้ง ที่มีฉากหลังเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อ  “สี่แผ่นดิน THE LEGEND MUSICAL @ LHONG 1919” จัดแสดงที่ โครงการ “ล้ง 1919” เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี “ล้ง 1919”

หากใครเป็นแฟน “สี่แผ่นดิน” คงตื่นเต้นไม่น้อย เพราะอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของเรื่องนอกจาก “แม่พลอย” ตัวละครหลักแล้ว “สายน้ำ – แม่น้ำ” เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของเรื่อง เพราะ “ชีวิตของแม่พลอย เปรียบเสมือนสายน้ำ ที่ผันผวนปรวนแปรไปอย่างรวดเร็ว…สายน้ำที่มีขึ้น มีลง มีแห้งขอด บางครั้งไหลเชี่ยว หรือบางทีก็นิ่งสนิท สะท้อนชีวิตแม่พลอยที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว มีสุข และมีทุกข์ อันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต”

ในขณะที่ “ล้ง 1919” หรือ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย และมีเส้นชีวิตไม่ต่างจากแม่พลอยมากนัก คือ มีช่วงเวลาที่รุ่งเรือง และถูกลบเรือนไปตามกาลเวลา

จุดเริ่มต้นของสายน้ำที่หลั่งไหล

แม่พลอย : บ้านเกิดแม่พลอยตั้งอยู่ที่ “คลองบางหลวง” แม่พลอย เป็นลูกของ “พระยาพิพิธ” และ “แม่แช่ม” (ภรรยารอง) มีพี่ชาย 1 คน คือ “พ่อเพิ่ม” อายุ 10 ขวบ ต้องจากบ้านมาอยู่ในวังเพียงคนเดียว  โดย “แม่แช่ม”ได้ถวายตัว “พลอย”ให้เป็นข้าหลวงของเสด็จ พลอยมีเพื่อนสนิท 1 คน ชื่อว่า “ช้อย” ทั้งพลอยและช้อยอยู่ในวังภายใต้การดูแลของ “คุณสาย”

ล้ง 1919 : “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือ “ท่าเรือกลไฟ” เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดย พระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) เป็นผู้สร้าง ฮวย จุ่ง ล้ง เป็นท่าเรือโดยสารบรรทุกสินค้าของชาวจีน ท่าเรือแห่งนี้เสมือนประตูด่านแรกที่ชาวจีนทุกคนต้องมาขึ้นฝั่งเหยียบแผ่นดินสยาม เพื่อค้าขาย หรือ เข้ามาตั้งรกรากในประเทศ

ความสุขเอ่อล้น เหมือนน้ำล้นฝั่ง

แม่พลอย : ถึงคราวออกเรือน “แม่พลอย” ตัดสินใจแต่งงานกับ “คุณเปรม”  และย้ายออกจากวังมาอยู่ที่บ้าน
“คลองพ่อยม” คุณเปรมมีลูกติดอยู่ 1 คน ชื่อ “อ้น” ต่อมาทั้งสองมีลูกด้วยกันอีก 3 คน ชื่อว่า “อั้น” “อ๊อด” และ “ประไพ” ทุกคนในครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกัน คุณเปรมก็เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เลื่อนขั้น

ล้ง 1919 : ยุคทองการค้าเสรี เป็นยุคเฟื่องฟูของ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” เสมือนศูนย์กลางค้าขายทำธุรกิจที่คึกคักที่สุดระหว่างชาวสยามและชาวจีน ตัวอาคารท่าเรือขนาด 6,800 ตารางเมตร ถูกใช้เป็นร้านค้า โชว์รูม และโกดังสำหรับเก็บสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีนสิงคโปร์ และฮ่องกง เรียกว่าเป็นแหล่งการค้าสำคัญที่สุดในขณะนั้น

ชีวิตผกผันดั่งน้ำในคลองที่แห้งขอด

แม่พลอย : ต้องเผชิญกับความทุกข์ การพลัดพราก ความสูญเสียจากคนในครอบครัว “อ้น” ติดคุก “คุณเปรม” เสียชีวิตจากการตกม้า “อ๊อด” ลูกชายคนเล็กเสียชีวิตจากไข้มาลาเรีย บ้านโดนระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของชีวิตแม่พลอย

ล้ง 1919 : เมื่อท่าเรือแห่งประเทศไทย (ท่าเรือคลองเตย) เข้ามามีบทบาทด้านการค้ากับชาวต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อยๆ ลดบทบาทลง หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 “นายตัน ลิบ บ๊วย” ทายาทตระกูลหวั่งหลี ได้เข้ามารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร ปรับปรุงท่าเรือแห่งนี้ให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และยังเป็นโกดังเก็บสินค้าการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี คนรุ่นหลังจึงเรียกสถานที่ท่าเรือแห่งนี้ว่า “โกดังบ้านหวั่งหลี” ถือเป็นจุดสิ้นสุดของท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง

บทสรุปของสายน้ำที่สงบนิ่ง กับ การเริ่มต้นของสายน้ำที่ไหลเชี่ยว

แม่พลอย : การเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาชีวิตของแม่พลอยที่พบเจอทั้งความสุขและทุกข์จากการสูญเสียนั้น
ไม่ต่างอะไรจากการไหลของสายน้ำหลายสายที่แตกต่างกัน หลังจากที่บ้านโดนระเบิด  แม่พลอยจึงเลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่สงบอยู่ที่บ้านเกิดคลองบางหลวง อันเป็นสถานที่เปรียบเหมือนจุดเริ่มต้นของแม่พลอยนั่นเอง

ล้ง 1919 : หลังจากที่ “ท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง” ถูกลดบทบาทลงกลายมาเป็น “โกดังบ้านหวั่งหลี” โกดังเก็บสินค้า บั้นปลายชีวิตของ “ล้ง 1919 บัดนี้เหมือนการเริ่มต้นครั้งใหม่ของกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว กลายมาเป็น “ล้ง 1919” การกลับมาในรูปแบบไทม์แมชชีน สะท้อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีอายุมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ปัจจุบันเป็นแลนด์มาร์ค แหล่งท่องเที่ยวแนว Heritage ที่โดดเด่นด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธนที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมาเช็คอิน

Praew Recommend

keyboard_arrow_up